รีเซต

กรมปศุสัตว์ออกโรงชี้แจงแล้ว กรณีพบเข็มฉีดยาในเนื้อหมู

กรมปศุสัตว์ออกโรงชี้แจงแล้ว กรณีพบเข็มฉีดยาในเนื้อหมู
TNN ช่อง16
17 กุมภาพันธ์ 2564 ( 10:13 )
150

วันนี้ (17ก.พ.64) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่ข่าว ผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่งโพสต์ภาพเนื้อหมูมีเข็มฉีดยาติดอยู่ ซึ่งผู้โพสต์ได้ซื้อลิ้นหมูจากตลาดในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อมารับประทาน โดยที่แม่ของผู้โพสต์ได้ทานเนื้อหมูชิ้นดังกล่าวแล้วคายออกมาเนื่องจากคิดว่าเป็นกระดูก ก่อนที่จะพบว่าเป็นเข็มฉีดยา


กรมปศุสัตว์ขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากการใช้เข็มฉีดยาเพื่อฉีดยาเข้าสู่ร่างกายสุกร มักฉีด ในตำแหน่งกล้ามเนื้อลึกๆ บริเวณคอชิดโคนหู และใช้เข็มที่มีความยาว ๑.๕ นิ้ว จึงไม่น่าที่จะพบชิ้นส่วนของเข็มฉีดยาที่ลิ้นสุกรได้ จากกรณีดังกล่าวจึงมีความเป็นไปได้ที่เนื้อสุกรที่บริโภคดังกล่าวอาจไม่ใช่ส่วนลิ้นสุกรทั้งหมด 


ทั้งนี้ การเลี้ยงสุกรในประเทศไทยยังคงมีหลายรูปแบบ โดยที่การเลี้ยงสุกรที่ไม่ใช่ฟาร์มมาตรฐาน (GAP) จะมีโอกาสที่จะพบสิ่งแปลกปลอม เช่น เข็มฉีดยาได้สูง เนื่องจากเกษตรกรมักจะเป็นผู้ฉีดยาสัตว์เอง โดยที่ไม่มีความรู้และทักษะในการฉีดยาสัตว์ จึงมีความเป็นไปได้ที่เข็มฉีดยาจะหักและคงค้างอยู่ในร่างกายสัตว์ได้ 


เมื่อสัตว์ดังกล่าวถูกนำไปเชือดที่โรงฆ่าสัตว์ โอกาสที่จะตรวจไม่พบเข็มฉีดยาก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน เนื่องจากเข็มมีขนาดเล็กประกอบกับเมื่อเชือดชำแหละสุกรที่โรงฆ่าสัตว์แล้ว ซากสุกรจะถูกตัดแบ่งเป็นชิ้นส่วนใหญ่ๆ ๒ ซีก ซึ่งยากแก่การตรวจสอบ ดังนั้น ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์และผู้บริโภค เมื่อซื้อเนื้อสัตว์มาแล้วควรสังเกตและตรวจสอบความผิดปกติ หากพบมีสิ่งแปลกปลอมให้นำออกก่อนที่จะนำไปจำหน่ายหรือนำไปบริโภคต่อ


อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้พยายามสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรพัฒนาการเลี้ยงเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม ซึ่งจะมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มคอยควบคุมการใช้ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อผลิตสุกร ให้เหมาะสมต่อการบริโภค 


นอกจากนี้ ยังได้เข้มงวดตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ทุกแห่งให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีการเชือดชำแหละอย่างถูกสุขอนามัย ตรวจสอบความผิดปกติของเนื้อสัตว์ก่อนที่จะจำหน่ายออกจากโรงฆ่าสัตว์ และจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับในกรณีที่เนื้อสัตว์มีปัญหา กรมปศุสัตว์จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคหากพบความผิดปกติในเนื้อสัตว์ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์ ผ่าน Application DLD 4.0 เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาและกระบวนการผลิตต่างๆ และพัฒนาเกษตรกรหรือผู้ประกอบการให้ดำเนินการอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค แต่หากพบการกระทำความผิดตามกฎหมายก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที


กรมปศุสัตว์จึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์จากสถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ภายใต้สัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่ปลอดภัยเหมาะสมต่อการบริโภค ซึ่งเป็นการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคในระยะยาว และขอให้ประชาชนผู้บริโภคมั่นใจว่า สินค้าปศุสัตว์ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองนั้น มีมาตรฐานการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย เหมาะสมแก่การบริโภค เมื่อเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ครั้งใดให้สังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง