รีเซต

10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามปี 2565

10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามปี 2565
TrueID
24 ธันวาคม 2564 ( 12:12 )
1.2K
10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามปี 2565

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิด "10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามปี 2565" 

ชูเรื่องเด่น จันทรุปราคาเต็มดวงวันลอยกระทง เกาะติดการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ขึ้นสู่อวกาศ จับตาการสำรวจอวกาศทั่วโลก อัพเดทงานวิจัยดาราศาสตร์ งานพัฒนาเทคโนโลยีฝีมือวิศวกรไทย พร้อมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามตลอดปี ดังนี้

 

1) ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลก: ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี - 18 มกราคม 2565 และดวงจันทร์เต็มดวงใกล้ที่สุดในรอบปี - 14 กรกฎาคม 2565
 
2) ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์น่าติดตาม
 
> ดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งสว่างที่สุดในรอบปี - ช่วงเช้า 9 กุมภาพันธ์ 2565
> ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลก - ในปี 2565 มีดาวเคราะห์ที่โคจรเข้าใกล้โลก 3 ดวง ได้แก่ ดาวเสาร์ใกล้โลก: 15 สิงหาคม 2565 ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก: 27 กันยายน 2565 และดาวอังคารใกล้โลก: 1 ธันวาคม 2565
 
3) จันทรุปราคาเต็มดวงวันลอยกระทง: 8 พฤศจิกายน 2565 - วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 15:02 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 16:09 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 17:16-18:41 น. ในวันดังกล่าว ประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:44 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) ทำให้ผู้สังเกตในไทยมีโอกาสมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเป็นสีแดงอิฐทั้งดวงนานถึง 57 นาที ก่อนที่จะเข้าสู่จันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18:42-19:49 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตเห็นได้ยาก และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20:56 น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
>>> ในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันลอยกระทงของประเทศไทย ดวงจันทร์จะเข้าสู่เงามืดของโลกทั้งดวงตั้งแต่เวลา 17:16 น. ทำให้คนไทยจะได้ชมดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐค่อยๆ โผล่พ้นจากขอบฟ้าในเวลา 17:44 น. จนดวงจันทร์ออกจากเงามืดทั้งดวงในเวลา 18:41 น.
 
4) Dark Sky in Thailand เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ - NARIT ได้ริเริ่มโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย (Dark Sky in Thailand) เพื่อผลักดันให้เกิดสถานที่ที่รักษาและสงวนความมืดของท้องฟ้าเวลากลางคืนด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ให้กับประเทศ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ อุทยานท้องฟ้ามืด เขตชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (ข้อมูลเพิ่มเติม https://darksky.narit.or.th/)
 
5) หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแห่งที่ 4 ของไทย ณ จังหวัดขอนแก่น -
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 29 ไร่ บริเวณเทศบาลตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อ. อุบลรัตน์ จ. ขอนแก่น เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2565 หากแล้วเสร็จ จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับประชาชน และสถาบันการศึกษาภูมิภาค สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น
 
6) อัพเดตข่าวสารดาราศาสตร์โลก - ปี 2565 นับเป็นปีที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญในวงการดาราศาสตร์และอวกาศสำคัญ และน่าติดตามมากมายหลายเรื่อง อาทิ
 
> กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope : JWST) – การส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อใช้งานทดแทนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่ปฏิบัติงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เดิมมีกำหนดการขึ้นสู่อวกาศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 แต่ก็เลื่อนเรื่อยมาจนกระทั่งล่าสุดมีกำหนดปล่อยตัวในปลายปี พ.ศ. 2564 หลังจากปล่อยตัวแล้วจะต้องรอเป็นเวลาอีกประมาณ 6 เดือนจึงจะสามารถใช้งานได้ หลังจากเปิดใช้งาน จะรองรับการศึกษาทางดาราศาสตร์จำนวนมากจากทั่วโลก รวมถึงงานวิจัยของนักดาราศาสตร์ไทยด้วย
> การทดสอบจรวดรุ่นใหม่เพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์ - หลายประเทศทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างเร่งทดสอบจรวดรุ่นใหม่ๆ เพื่อรองรับภารกิจการขนส่งสัมภาระ การปล่อยดาวเทียม รวมถึงภารกิจการท่องเที่ยวในอวกาศ เช่น จรวดอารียาน 6 ขององค์การอวกาศยุโรป จรวดนิวเกล็น ของบริษัทบลูออริจิน จรวดวัลแคนเซนทอร์ ของบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ จรวดสตาร์ชิป ของบริษัทสเปซเอ็กซ์
> ยานสำรวจดวงอาทิตย์ - จีน และอินเดีย กำหนดส่งยานสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ลำแรกของแต่ละประเทศขึ้นสู่อวกาศ ได้แก่ ยาน ASO-S (Advanced Space-based Solar Observatory) ของจีน และ ยานอาทิตย์-L1 (Aditya-L1) ของอินเดีย
> ยานสำรวจดวงจันทร์ “ดวงจันทร์” ยังคงเป็นจุดหมายที่หลายประเทศจะส่งยานไปสำรวจ รวมถึงเกาหลีใต้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่พยายามส่งยานลำแรกของประเทศสู่ดวงจันทร์ ขณะที่ญี่ปุ่นกับรัสเซียกลับมาส่งยานสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง อินเดียยังคงตั้งเป้าส่งยานลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ลำต่อไป ส่วนสหรัฐอเมริกา เน้นไปที่การปูทางสู่การส่งนักบินอวกาศกลับไปเยือนดวงจันทร์และการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมสำรวจดวงจันทร์มากขึ้นในโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) นอกจากนี้ยังมีโครงการบริการส่งสัมภาระภาคเอกชนสู่ดวงจันทร์ (Commercial Lunar Payload Service Program / CPLS) ของนาซาที่มีเป้าหมายเพื่อสำรวจทรัพยากรธรรมชาติบนดวงจันทร์ การทดสอบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้น
> ยานสำรวจดาวอังคาร - ปี พ.ศ. 2565 จะมีการส่งยานลงสู่พื้นผิวดาวอังคารด้วยความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับองค์การอวกาศยุโรปในภารกิจ ExoMars 2022 ประกอบด้วยยานคาซาชอคของรัสเซีย และรถสำรวจโรซาลินด์ แฟรงคลินขององค์การอวกาศยุโรป
> ยานสำรวจดาวเคราะห์น้อย - ปี พ.ศ. 2565 ยังเป็นปีที่มีการส่งยานรุ่นใหม่เพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อยได้แก่ ยานไซคี (Psyche) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาการกำเนิดแก่นกลางของดาวเคราะห์จากการศึกษาดาวเคราะห์น้อยไซคี
 
7) First Light หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ - หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (Thai National Radio Astronomy Observatory : TNRO) ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายวิทยุและยีออเดซี ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุจานเดี่ยว แบบแนสมิธ-แคสสิเกรน ส่วนของจานรับสัญญาณสามารถหมุนได้ทั้งตามแกนตั้งและแกนนอน เพื่อติดตามเทหวัตถุอย่างแม่นยำ ใช้ศึกษาเทหวัตถุในเอกภพ และปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ดาวเคราะห์และดาวหางในระบบสุริยะ ดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ ดาราจักรกัมมันต์ การระเบิดของดาวฤกษ์ ดาวนิวตรอน กาแลกซี หลุมดำ ฯลฯ
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้ติดตั้งจานรับสัญญานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร น้ำหนักประมาณ 800 ตัน ต่อมาในเดือนตุลาคม 2564 ได้ทดสอบระบบขับเคลื่อนจานรับสัญญานให้สามารถหมุนได้ทั้ง 2 แกน ขณะนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดของจานรับสัญญานเรียบร้อยแล้ว เตรียมพร้อมการติดตั้งตัวรับสัญญานเพื่อรับสัญญานแรกในช่วงเดือนมกราคม 2565
 
8 ) งานวิจัยดาราศาสตร์ไทยน่าจับตา – หลากหลายหัวข้อการศึกษาวิจัย และการค้นพบองค์ความรู้ใหม่จากนักดาราศาสตร์ไทย เช่น การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่รอบระบบดาวคู่ นับป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยคนไทยทั้งหมด การค้นหาสสารมืดจากกาแล็กซีแคระ Draco และ Sculptor และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศ เพื่อคาดการณ์การกระจายตัว การเคลื่อนที่ การเปลี่ยนแปลง รวมถึงการสะสมตัวของฝุ่นละอองและมลพิษต่าง ๆ ในอากาศ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ
 
9) ประเทศไทยกับก้าวสำคัญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ - “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย Thai Space Consortium: TSC” กำหนดแผนสร้าง “ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี พ.ศ 2570” ทั้งนี้ระหว่างเส้นทาง หน่วยงานภาคีฯ จะร่วมมือกันสร้างดาวเทียมวิจัยขนาดเล็ก 2 ดวง เพื่อทดสอบเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ การออกแบบและสร้างดาวเทียมถือเป็นโจทย์ยากที่ท้าทายความสามารถของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ขั้นสูง ที่จะปูทางไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศในอนาคต
 
ปัจจุบัน ทีมวิศวกรของหน่วยงานภาคีฯ ได้พัฒนา Payload ซึ่งเป็นอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจสำหรับติดตั้งบนดาวเทียม 2 ชุด ได้แก่ กล้องถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น (Hyperspectral Imager) และอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศ (Space Weather)
 
10) ดาราศาสตร์ผลักดันนวัตกรรมล้ำหน้า - NARIT ใช้ดาราศาสตร์ซึ่งเป็นโจทย์วิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้าในการพัฒนาคนและเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกจำนวนมาก มีต้นกำเนิดมาจากการพัฒนาในวงการวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า นั่นเป็นเหตุผลที่ NARIT ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาและสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยตัวเอง เพื่อยกระดับความสามารถงานวิจัยและวิศวกรรม ปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้ซื้อและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นผู้ออกแบบและสร้างอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ระดับสูง
 
ปัจจุบัน NARIT ได้ต่อยอดการสร้างนวัตกรรมล้ำหน้าในหลากหลายสาขา อาทิ การพัฒนาเครื่องมือแพทย์ การออกแบบและสร้างกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด และระบบซอฟต์แวร์ฉายดาว ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรฝีมือคนไทยทั้งสิ้น

 

ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ที่เกี่ยวข้อง

ปฏิทิน ดาราศาสตร์น่าติดตาม ปี 2565 มีปรากฏการณ์อะไรบ้าง? เช็กเลย

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง