รีเซต

กรมวิทย์ฯ ยืนยัน ไทยพบโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 ขออย่าตระหนก

กรมวิทย์ฯ ยืนยัน ไทยพบโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 ขออย่าตระหนก
TNN ช่อง16
14 กันยายน 2565 ( 15:32 )
72
กรมวิทย์ฯ ยืนยัน ไทยพบโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2.75.2 ขออย่าตระหนก

กรมวิทย์ฯ เผยผลการสุ่มตรวจตัวอย่างผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ และนำมาถอดรหัสพันธุกรรม พบสายพันธุ์ย่อยของโควิดโอมิครอน BA.2.75 จำนวน 3 ราย ได้แก่ สายพันธุ์ BA.2.75.1 สายพันธุ์ BA.2.75.2 และสายพันธุ์ BA.2.75.3 อย่างละ 1 ราย

วันนี้ (14 ก.ย.65) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ในภาพรวมยังเป็นการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เป็นส่วนใหญ่ (93%) 

โดยจากการตรวจแบบละเอียด ตั้งแต่เดือนพ.ค. พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ทั้งหมด 9 ราย โดยในจำนวนนี้พบสายพันธุ์ที่เป็นลูกหลานของ BA.2.75 ได้แก่ BA.2.75.1, BA.2.75.2 และ BA.2.75.3 อย่างละ 1 ราย


ทั้งนี้ จากการดูตำแหน่งกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ BA.2.75 เป็น BA.2.75.2 มีความกังวลว่าสายพันธุ์ลูกนี้อาจมีความรุนแรง หรือแพร่เร็วขึ้น ซึ่งมีข้อมูลทางสถิติระบุว่า BA.2.75.2 พบเพิ่มขึ้น 114.17%

อย่างไรก็ดี การที่มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมบางตำแหน่ง และข้อมูลทางสถิติ ยังไม่สามารถตอบคำถามในโลกความเป็นจริงได้ เนื่องจากมีสายพันธุ์หลายตัวที่เคยกังวลว่าจะเป็นปัญหา แต่ขณะนี้ได้หายไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องรอดูสถานการณ์จริงและเฝ้าระวังต่อไป


ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า หลายประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบ BA.2.75 และ BA.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วน BA.4 มีสัดส่วนที่ลดลง และ BA.2.X ทรงตัว ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่พบ BA.5 ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น

ขณะที่ฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก (GISAID) พบรายงานจากทั่วโลกมีข้อมูลสายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 6,811 ตัวอย่าง ปัจจุบัน GISAID ยังไม่มีการจัดกลุ่มย่อย BA.2.75.X

ในส่วนของสายพันธุ์ BJ.1 ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ แต่เป็นหลักการเรียกชื่อที่แปลงมาจาก BA.2.10.1 เนื่องจากเมื่อมีการกลายพันธุ์ ก็จะมีการเพิ่มชื่อ ซึ่งจะยาวเกินไป


ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีข้อกังวลเรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยจำนวนมาก ว่า ตามปกติเชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่

เช่น อัลฟ่า เบต้า เดลต้า และล่าสุดคือโอมิครอน ซึ่งมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยๆ จำนวนมาก ส่วนสายพันธุ์ลูกผสมจะมีโอกาสพบได้หากในพื้นที่มีการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์จำนวนมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด ประเทศไทยมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการในการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์

สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ขอย้ำว่า ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย โดยแพทย์จะวินิจฉัยจ่ายยาต้านไวรัสตามแนวทางเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ และรัฐบาลยังดูแลค่าใช้จ่ายเมื่อไปรักษาตามสิทธิการรักษา 

ส่วนการเปิดให้ประชาชนสามารถซื้อยาต้านไวรัสโควิดที่ร้านยาได้ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน โดยต้องใช้ใบสั่งยาของแพทย์เนื่องจากยังเป็นยาที่อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้การรักษาเกิดความปลอดภัย ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศแถบยุโรป การซื้อยาฆ่าเชื้อต้องมีใบสั่งยาของแพทย์เช่นกัน.



ภาพจาก แฟ้มภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง