'ดอน' ลงพื้นที่อีสานตอนกลาง ตั้งเป้าศูนย์กลางระบบรางไทย
เมื่อไม่นานมานี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปลงพื้นที่เพื่อกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 12 ที่จ.ขอนแก่น โดยมีการประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานในด้านต่างๆ
ผู้ว่าราชการจังหวัดกลุ่มภูมิภาคได้บรรยายสรุปในประเด็นสำคัญ อาทิ ผลการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรมในแต่ละจังหวัด ซึ่งนายดอนแสดงความชื่นชมเนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาของชาวบ้านได้ถึงกว่าร้อยละ 95 ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังมีการบอกเล่าถึงการขับเคลื่อนนโยบายของแต่ละจังหวัด ปัญหาอุปสรรค ขณะที่นายดอนได้เน้นย้ำความสำคัญของการจัดการปัญหาเร่งด่วนต่างๆ อาทิ การรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 การแก้ไขปัญหา PM 2.5 การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม การกำจัดขยะ ไปจนถึงการรุกล้้ำพื้นที่ป่าสาธารณะ
ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดยังได้นำเสนอผลงานของปราชญ์ชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ ซึ่งช่วยนำองค์ความรู้มาสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและขยายผลต่อยอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป นายดอนสนับสนุนการส่งเสริมองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ของปราชญ์ชาวบ้าน และเห็นว่าการถ่ายทอดองค์ความรูhเหล่านี้จะยังประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่นายดอนเน้นย้ำในระหว่างการมอบนโยบายคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนา โดยสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายระหว่างเยาวชนระหว่างจังหวัดในภูมิภาค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และการศึกษาใหม่ๆ ที่จะนำมาซึ่งความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างจังหวัด พร้อมยกตัวอย่างโครงการยุวทูตความดี ที่กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งส่งเสริมให้เยาวชนมีจิตสำนึก จิตอาสา ควบคู่ไปกับคุณธรรมและจริยธรรม ว่าสามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาเยาวชนได้
ก่อนการรับฟังการบรรยายและหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายดอนได้เยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมภาคดิจิทัลและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาต่อยอดผลผลิตภาคการเกษตร อาทิ โครงการศูนย์ดำรงธรรม Tracking ของศูนย์ดำรงธรรม จ.ขอนแก่น ซึ่งนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อติดตามตรวจสอบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ “คู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย แก้จน คนขอนแก่น” ซึ่งจับคู่ข้าราชการกับท้องถิ่นเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิดและเป็นรูปธรรม โครงการบริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยด้วยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าของเทศบาลนครขอนแก่น โครงการ Khon Kaen Smart Living Lab ที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้การใช้ชีวิตของประชาชนสะดวกง่ายดายขึ้น และโครงการมือที่สร้างโอกาส (Thai Reach) ของโรงพยาบาลสิรินธร ที่นำเอาเทคโนโลยี 3D มาออกแบบผลิตกายอุปกรณ์ที่จะช่วยเหลือผู้พิการ
นอกจากหารือกับภาครัฐแล้ว นายดอนยังได้พบปะหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้แทนภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ในจ.ขอนแก่นมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและเข้มแข็ง ภายใต้ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาจังหวัดขอนแก่นและภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ให้เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการขนส่งในระดับประเทศและในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมระบบราง อุตสาหกรรมอากาศยาน กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล สาธารณสุข และการเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมด้านอาหาร บันเทิง และการท่องเที่ยว
นายดอนเสนอให้ภาคส่วนต่างๆ ต่อยอดการพัฒนาโดยใช้อำนาจละมุน (Soft power) ของไทย ไม่ว่าการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีจีส์) ของสหประชาชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยให้ความสำคัญ และบทบาทของไทยในเรื่องดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ เอสดีจีส์ยังเป็นรากฐานสำคัญและส่งเสริมให้ภาคเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังเสนอให้ต่อยอดภาคธุรกิจจากกีฬาแนวผจญภัย ที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคได้
ขณะที่ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงได้นำเสนอ 3 ประเด็นสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาค ประกอบด้วยการสร้างขอนแก่นให้เป็นเมืองศูนย์กลางที่มีความโดดเด่น ทั้งในระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประการต่อมาคือการช่วยเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาคที่มีศักยภาพ โดยรัฐอาจช่วยสนับสนุนโดยการเพิ่มการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) รวมถึงการจัดโรดโชว์ทั้งกับผู้ประกอบการอื่นๆ ในระดับภูมิภาคและจากประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค ประการสุดท้ายในฐานะที่สถาบันได้รับเงินสนับสนุนจากเกาหลีใต้ เพื่อใช้จัดกิจกรรมในกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (แอคเมคส์) กับเกาหลีใต้ สถาบันเตรียมเสนอจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดส่งและกระจายวัคซีน ซึ่งกำลังเป็นหัวข้อที่จะมีความสำคัญมากในสถานการณ์โควิด-19 ระยะต่อไป
จ.ขอนแก่นยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยหลักในเขตภาคอีสานตอนกลาง ซึ่งมีการพัฒนาที่น่าสนใจในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนเลยี และนวัตกรรม สมกับที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในภูมิภาค โดยนายดอนได้ไปรับฟังโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) SCOPC : Smart City Operation Center ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่ง รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ได้บรรยายสรุปการดำเนินการของมหาวิทยาลัย พร้อมกับนำเสนอโครงการวิจัยและนวัตกรรมในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่น่าสนใจ
นายดอนได้เยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการและฟังการบรรยายสรุปโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) SCOPC : Smart City Operation Center ซึ่งเป็นโครงการที่มีแนวคิดพัฒนาเมืองสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้ขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเมืองและพื้นที่ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การนำโดรนมาใช้บินสังเกตการณ์ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิวที่ถูกนำมาใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้น ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี สมกับที่ขอนแก่นได้ถูกกำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องในการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พร้อมกับจ.เชียงใหม่และภูเก็ต
นายดอนแสดงความชื่นชมโครงการวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะด้านสตาร์ทอัพที่มีความน่าสนใจ และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการหาช่องทางเพื่อช่วยสนับสนุนในด้านงบประมาณต่อไป
นายดอนยังได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระบบรางแห่งแรกของประเทศไทยที่ช่วยสร้างนักวิจัยและบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมระบบรางของไทยในอนาคต เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการ “ร้อยแก่นสารสินธุ์” Railway Innopolis (TRAM) ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างจังหวัดในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ที่ตั้งเป้าจะทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองศูนย์กลางและอุตสาหกรรมระบบราง โดยกระจายการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ไปยังจังหวัดข้างเคียง เพื่อให้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาระบบรางในประเทศไทย และให้สอดรับกับการพัฒนาระบบรางทั้งในประเทศและระบบรางเชื่อมอนุภูมิภาค ซึ่งเป็นทิศทางแห่งการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและการเดินทางระหว่างอนุภูมิภาคในอนาคต โดยนายดอนยังได้ไปเยี่ยมชมอาคารฝึกปฏิบัติการซ่อมบำรุงรถไฟ (DEPOT) และรถราง (TRAM) รุ่น Hiroden 907 จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบที่จะนำไปใช้ในโครงการรถรางรอบบึงแก่นนครต่อไป
ภารกิจสุดท้ายก่อนเดินทางกลับคือการไปเยี่ยมชมบ้านนายยุทธกานต์ ศรีโย ปราชญ์ด้านการปลูกผักอินทรีย์ ณ นาเคียงอ้อฟาร์ม ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชผักอินทรีย์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ หลังจากนายยุทธการต์ศึกษาและทดลองปลูกผักอินทรีย์ด้วยตนเอง จนสามารถผลิตและส่งขายห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้มีรายได้ที่แน่นอนและเป็นกอบเป็นกำ แต่ยังประหยัดต้นทุนและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของเกษตรกรที่ไม่ต้องอาศัยสารเคมีในการปลูกผักอีกด้วย