รีเซต

กมธ.ดีอีเอส จ่อเชิญ ส.ธนาคารฯ-ธปท. แจงปมปชช.โดน ดูดเงินจากบัญชี

กมธ.ดีอีเอส จ่อเชิญ ส.ธนาคารฯ-ธปท. แจงปมปชช.โดน ดูดเงินจากบัญชี
ข่าวสด
19 ตุลาคม 2564 ( 09:34 )
75

กมธ.ดีอีเอส จ่อเชิญ ส.ธนาคารฯ-ธปท. แจงปม ปชช.โดน ดูดเงินจากบัญชี ชี้ ต้องอุดช่องโหว่ให้ได้ แนะ รวบหน่วยงานแก้โกง ลดทอนความเดือดร้อนปชช.

 

วันที่ 19 ต.ค.2564 น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีมีประชาชนหลายรายเจอปัญหาจากแอพพลิเคชั่นที่มีการผูกกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิตและบัตรเดบิต ที่พบยอดเงินถูกหักโดยไม่ทราบสาเหตุ ว่า ในสัปดาห์นี้จะนำประเด็นดังกล่าวหารือในที่ประชุมกมธ. เพื่อขออนุมัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สมาคมธนาคารไทย และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงรายละเอียด ในการประชุมครั้งถัดไป

 

น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า เพื่อต้องการทราบว่าตามระเบียบหรือกฎที่เกี่ยวข้อง สามารถปกป้องหรืออุดช่องว่างไม่ให้ประชาชนถูกเอาเปรียบหรือถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพได้หรือไม่ และหากมีช่องโหว่จะปรับปรุงกติกาอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ และในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หากประชาชนยังถูกหลอกด้วยเทคโนโลยีอีกเท่ากับถูกซ้ำเติม

 

"เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก รวมถึงกระทบกับประชาชนจำนวนมาก และมีผู้ที่ร้องเรียนให้หน่วยงาน และสื่อมวลชนช่วยตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม กมธ. ไม่ต้องการให้เกิดการหลอกลวงผ่านเทคโนโลยีขยายวงกว้าง ซึ่งการใช้แอพพลิเคชั่นที่ผูกกับบัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิต ที่แม้จะสามารถหักเงินจากบัญชีเจ้าของได้โดยตรง แต่ควรมีรายละเอียดที่เจ้าของบัตรต้องอนุมัติก่อน ไม่ใช่ถูกหักไปโดยไม่รู้ตัว" น.ส.กัลยา กล่าว

 

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า เรื่องทำนองเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แน่นอนว่าเรามีระบบป้องกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการป้องกันไม่สามารถทำได้ 100% เนื่องจากเทคโนโลยี และรูปแบบการโกงพัฒนาไปเรื่อย ๆ ซึ่งองค์กรที่ดูแลเรื่องการเงินก็พยายามที่จะพัฒนาระบบป้องกันอยู่ตลอดเช่นกัน แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วสิ่งสำคัญคือการคืนเงินให้เร็วที่สุดควรพิจารณาเป็นอันดับแรก ต้องลดทอนความเสียหายของประชาชนให้เร็วที่สุด

 

รองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวต่อว่า การร้องเรียนของประชาชนจะต้องทำให้จบได้ในจุดเดียว ต้องมีหน่วยงานที่ชัดเจนในการรับเรื่อง ซึ่งจะต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาทำงานร่วมกัน ไม่ต้องให้ประชาชนวิ่งไปแจ้งตำรวจ แล้วต้องไปธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วต้องไปธนาคารที่มีบัญชี

 

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเรายังไม่มีแผนบริหารจัดการปัญหาที่รวบทุกหน่วยงานเข้าไว้ด้วยกัน สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น คือเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ประชาชนสามารถขึ้นสถานีตำรวจแจ้งความเพียงครั้งเดียวแล้วกลับบ้าน ที่เหลือจะเป็นการจัดการภายในที่ภาครัฐจะประสานข้อมูลกันเอง เมื่อรับแจ้งความแล้วจะใช้เวลากี่ชั่วโมง กี่วันต้องแจ้งให้ประชาชนทราบแล้วต้องทำให้ได้ตามนั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง