รีเซต

ทหารมีไว้ทำไม? ในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทหารมีไว้ทำไม? ในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
TNN ช่อง16
2 เมษายน 2567 ( 22:33 )
24
ทหารมีไว้ทำไม? ในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

และแน่นอน ในปช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลานี้ ประเด็น “#ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง เพราะทหารเกณฑ์ที่จับใบแดงพวกนี้ ไม่ได้ไปรบกับอริราชศัตรูที่ไหน หากแต่ไปฝากตัวรับใช้นาย ตัดหญ้า ทำสวน ขับรถไปรับไปส่งนาย สารพัด ถือเป็นการ “ใช้งานทหารเกณฑ์ผิดหน้าที่หลัก” อย่างมาก


แต่ที่หนักไปกว่านั้น นั่นคือ ความพยายามที่จะตั้งคำถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม” โดยเริ่มจากโลกทางวิชาการ และค่อย ๆ ลงมาสู่สมองของสามัญชนอีกมากโข เสียจน “เป็นประเด็น” ที่ถกเถียงแล้วจะ “ดูชิคดูคูล” เลยทีเดียว


การตั้งคำถามแบบนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในแง่ “การปลดแอก” แต่หากจัดวางใน “โลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” จะเป็นเรื่องที่ “ขำก๊าก” ออกมาในทันที


และนี่คือเหตุผลว่า ทหารมีไว้ทำไม ในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


Offensive Realism


โดยส่วนมากแล้ว ในการที่กระแสสังคมทำการวิพากษ์ประเด็นเรื่อง ทหารมีไว้ทำไม นั้น คำสำคัญที่ปรากฎขึ้น นั่นคือ เราเป็นประเทศเล็ก มีทหาร จะไปรบกับใคร และเราไม่โดนโจมตีง่าย ๆ เพราะ UN หรือแม้แต่มหาอำนาจจะเข้าช่วยเหลือ 


ตรงนี้ หากเข้าใจ “หลักวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” จะพบว่า เป็นอะไรที่ “Impractical” เป็นอย่างมาก


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการว่าด้วย “Offensive Realism” ที่มีแก่นแกนหลักว่าด้วย “Worse-case Scenario” เนื่องจาก ในโลกของการเมืองระหว่างประเทศนั้น เป็นโลกแห่ง “อนาธิปัตย์” ใหญ่มาจากไหน ก็โดนสอยร่วงได้ง่าย ๆ จากอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่จะบังคับให้อยู่หมัดได้ 


และเมื่อระบบเป็นแบบนี้ หากรัฐใดต้องการที่จะอยู่รอดปลอดภัย จึงจำเป็นที่จะต้อง “แสวงหาความมั่นคง” ให้ได้มากที่สุด โดยการแสวงหานั้น ได้มาจาก “การสะสมเครื่องบ่งชี้” ที่ไว้เป็นการแสดงแสนยานุภาพเพื่อให้รัฐอื่น ๆ “เกิดความยำเกรง” ต่อตน


โดยเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญที่สุด นั่นคือ “การสะสมอาวุธ” หรือ “การมีกองทัพประจำขนาดใหญ่” เพราะเป็นสิ่งที่ “ประกันความมั่นคง” ได้ในโลกอนาธิปัตย์ ไม่ว่าจะในการรบ หรือไว้ขู่ด้วยจำนวนก็ตาม


ดังนั้น การเมืองโลกที่เป็นอนาธิปัตย์ จึงต้องเป็น “ก็อดซิลลามากกว่าแบมบี้ (Better to Be Godzilla than Bambi)” หรือก็คือ ความร่วมมือใด ๆ ไม่อาจมีได้ ให้เน้นความเกรี้ยวกราดและกร่างไว้ก่อน เพราะประเทศอื่น ๆ ไม่อาจไว้ใจได้ จะแทงข้างหลังตลอดเวลา อย่าไปไว้ใจ


ยิ่งไปกว่านั้น การแสวงหาเครื่องบ่งชี้ดังกล่าว ต้องทำการ “แสวงหาไปเรื่อย ๆ” เพราะอย่าลืมว่า ไม่ได้มีรัฐเรารัฐเดียวที่แสวงหา รัฐอื่น ๆ ก็กลัวแบบที่เรากลัว หากรัฐเราหยุดแสวงหาเมื่อไร ก็เท่ากับว่าเป็นการ “มอบ” โดยดุษฎีให้รัฐอื่น ๆ มี “ศักยภาพ” ที่จะทำลายรัฐเราได้มากยิ่งขึ้น 


ดังนั้น ในเรื่องของการสะสมอาวุธ หรือการมีกองทัพประจำการ อย่างแย่ที่สุด คือการ 

“ธำรงไว้” ทั้งในด้านจำนวน หรือศักยภาพในการที่จะสร้างความมั่นคง เช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ หาก “การซื้อยุทธภัณฑ์” หรือ “การฝึกซ้อมรบ” จะมีมาเรื่อย ๆ อยู่ร่ำไป


กองทัพ = การระหว่างประเทศ 


เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การเมืองภายใน กับ การเมืองระหว่างประเทศนั้น “ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง” 


ให้คิดตามว่า หาก “อิสราเอล” เชื่อว่า UN จะเข้ามาช่วยเหลือ ไม่จำเป็นต้องมีกองทัพย่อมได้ ประเทศนี้คงจะ “สิ้นชาติ” ไปนานแล้ว รอบข้างมีแต่ “โลกอาหรับ” ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน


หรือขนาด 2 สงครามใหญ่ของโลก ณ ปัจจุบัน ทั้ง อิสราเอล-ปาเลสไตน์ และ รัสเซีย-ยูเครน ก็ยังคงมีการปล่อยให้ยืดเยื้อ ทั้งที่หาก UN จะเล่นใหญ่จริง การรวบรวมทหารประเทศสมาชิกอย่างจริงจัง อาจดับไฟสงครามได้ไปนานแล้ว ไม่มามัวนั่งเจรจา “หยุดยิง” เช่นนี้


ดังนั้น ในโลกของการระหว่างประเทศนั้น “กองทัพ” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะถือเป็นการ “กันไว้ดีกว่าแก้” หากโดนบุกโดยฉับพลัน อย่างน้อยก็ยังจะสามารถ “Self-defense” ได้ ไม่ต้องมานั่งงอมืองอเท้า หรือรอความตาย


หรืออาจกล่าวอีกอย่างได้ว่า “กองทัพ = การระหว่างประเทศ”


ถึงตรงนี้ แน่นอน การมี “ตำแหน่งนายพล” ที่มากเกินไป ย่อมถูกมองว่าเป็นปัญหาสังคมในเรื่องของ “การกินภาษี” หรือแม้แต่ “ขนาดกองทัพที่ใหญ่เกินขนาดสถานะประเทศ” แบบนี้ก็ไม่เหมาะสมเสียเท่าไรนัก แต่การที่จะมาบอกว่า “ไม่สมควร” ที่จะมีกองทัพเลย นั้นก็อาจไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องเท่าไรนัก 


เพราะอย่างน้อยที่สุด การมีกองทัพประจำการไว้ ในโลกการระหว่างประเทศที่ “เอาแน่เอานอนไม่ได้” อย่างน้อย ๆ ก็ยังเป็นหลักประกันความมั่นคงได้พอสมควร


ดีกว่า “ไม่มีอะไรเลย” เป็นไหน ๆ


บทความโดย: วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


หนังสือ The Tragedy of Great Power Politics

บทความ Better to Be Godzilla than Bambi

https://www.britannica.com/biography/John-Mearsheimer#ref1206062

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง