ตรวจพบดาวเทียมสอดแนมยุคสงครามเย็น หลังหายสาบสูญไปอวกาศ
นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชื่อดัง โจนาธาน แมคโดเวลล์ (Jonathan McDowell) จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) ค้นพบดาวเทียมสอดแนม IRCB (S73-7) ซึ่งมีลักษณะเป็นดาวเทียมบอลลูนอินฟราเรด (Infra-Red Calibration Balloon) จากยุคสงครามเย็นที่หายสาบสูญไปอวกาศ โดยใช้การอ้างอิงข้อมูลตำแหน่งจากกองทัพอวกาศสหรัฐ (Space Force)
ดาวเทียม IRCB (S73-7) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 10 เมษายน 1974 มีโครงสร้างเส้นผ่านศูนย์กลาง 66 เซนติเมตร ถูกติดตั้งบนดาวเทียม KH-9 Hexagon ที่มีความยาว 16.2 เมตร เดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดเชื้อเพลิงแข็งไททัน 3 (Tatan 3)
หลังจากดาวเทียมสอดแนม IRCB (S73-7) แยกตัวออกจากดาวเทียม KH-9 Hexagon ที่ระดับความสูงประมาณ 800 กิโลเมตร โครงสร้างคล้ายบอลลูนได้พองตัวขึ้นตามแผนการที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นดาวเทียมก็หายออกจากเส้นทางวงโคจร 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1974-1979 และครั้งที่ 2 ในปี 1990 เซนเซอร์ภาคพื้นดินไม่สามารถตรวจจับสัญญาณได้อีกเลย โดยคาดว่าดาวเทียม IRCB (S73-7) ได้กลายเป็นขยะอวกาศไร้การควบคุม
การตรวจสอบดาวเทียมสอดแนม IRCB (S73-7) ทำได้ยากเนื่องจากโครงสร้างดาวเทียมส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างจากโลหะทำให้เรดาห์ตรวจจับได้ยาก นอกจากนี้ยังมีขยะอวกาศมากกว่า 20,000 ชิ้น ที่โคจรรอบโลกด้วยความเร็วมากกว่า 28,163 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คอยรบกวนและระบุตำแหน่งของดาวเทียม
การค้นพบดาวเทียมดวงนี้ของโจนาธาน แมคโดเวลล์ (Jonathan McDowell) ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของนักดาราศาสตร์ที่พยายามติดตามวัตถุในโคจรของโลก เช่น ขยะอวกาศขนาดเล็ก เพื่อป้องกันความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่สร้างความสูญเสียบนอวกาศ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ที่เคยถูกวัตถุที่คาดว่าเป็นขยะอวกาศชนจนเป็นรอยรั่วขนาดเล็กในปี 2018
ที่มาของข้อมูล