รีเซต

กรมวิทย์ พบโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.75 ในไทย 5 ราย

กรมวิทย์ พบโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.75 ในไทย 5 ราย
TNN ช่อง16
8 สิงหาคม 2565 ( 15:58 )
96

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ไทยพบโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 แล้ว 5 ราย สั่งเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ ขณะที่ สายพันธุ์ BA.4-BA.5 พบ 90% ในกรุงเทพฯ ยังไม่สรุปความรุนแรงว่ามากหรือน้อยกว่า BA.1 หรือ BA.2

วันนี้ (8 ส.ค.65) ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้เป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เป็นส่วนใหญ่ 

โดยพบมากกว่า 90% ในเขต กทม. และ 80% ในส่วนภูมิภาค โดยจากการตรวจแบบละเอียด พบสัดส่วน BA.5 ต่อ BA.4 ประมาณ 4 ต่อ 1 แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเท่าที่มี ยังไม่สามารถสรุปว่า BA.5 มีความรุนแรงมากกว่า BA.1 หรือ BA.2 มากน้อยเพียงใด


สำหรับโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ขณะนี้ทั่วโลกพบทั้งหมด 1,434 ราย ส่วนในประเทศไทย จากการตรวจแบบละเอียด (Whole genome sequencing) พบแล้วจำนวน 5 ราย ได้แก่ 

1. ชายไทย อายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง

2. ชายไทย อายุ 62 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดแพร่

3. ชายไทย อายุ 18 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดน่าน

4. ชายไทย อายุ 62 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสงขลา เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่เคยได้รับวัคซีน อาการหนักเข้า ICU ใส่ท่อช่วยหายใจ

5. หญิงไทย อายุ 85 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ป่วยติดเตียง

"สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะเริ่มการตรวจเฝ้าระวังในระดับพื้นที่เพิ่มเติม โดยศูนย์วิทย์ฯ แต่ละจังหวัดจะสามารถตรวจหาสายพันธุ์ย่อยได้เลย จะทำให้เราได้ข้อมูลของสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 แต่ละพื้นที่มากขึ้น

จากตัวอย่างที่พบผู้ติดเชื้อ BA.2.75 มี 1 รายไม่ได้รับวัคซีน และเป็นรายเดียวที่อาการหนัก แสดงให้เห็นว่าวัคซีนช่วยลดการป่วยหนักได้จริง จึงขอให้ประชาชนที่รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือนแล้ว มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ

สำหรับโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.4 นั้น ในระบบที่รายงานสายพันธุ์ทั่วโลกพบสายพันธุ์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 63 แต่ขณะนี้เริ่มพบการแพร่ระบาดในสหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ มากขึ้น โดยรวมทั่วโลกพบสายพันธุ์นี้แล้วประมาณ 6,000 ราย

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้จัดให้สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวังหรือต้องจับตาแต่อย่างใด และยังไม่มีข้อมูลว่าสายพันธุ์ย่อยนี้สามารถหลบภูมิ หรือแพร่เร็วขึ้นหรือไม่ ดังนั้น ต้องติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่อไป ในส่วนของประเทศไทยจากการเฝ้าระวังยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าว.


ภาพจาก TNN ONLINE ,AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง