รีเซต

บริหารธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืน – ต้องเริ่มจากจุดไหน?

บริหารธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืน – ต้องเริ่มจากจุดไหน?
TNN ช่อง16
12 สิงหาคม 2564 ( 09:45 )
100


ในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ สิ่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งคงหนีไม่พ้นสถาบันครอบครัว เราได้สัมผัสถึงความรัก ความห่วงใย เรามีโอกาสใกล้ชิดกันในช่วงเวลาของการ Lockdown เรารับรู้ถึงความสูญเสียที่หลายครอบครัวต้องบอกลาสมาชิกในบ้านไป เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้หลายครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญและมีเวลากลับมา

ทบทวนถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว รวมไปถึงการวางแผนการจัดการทรัพย์สินและธุรกิจควบคู่กันไปด้วย คำถามที่มักจะตามมาก็คือ “ครอบครัวเราจะต้องเริ่มจากตรงไหน”


ในมุมของผู้ให้บริการบริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัว (Family Wealth Planning Services) KBank Private Banking มองว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ครอบครัวสามารถก้าวไปพร้อมกันได้คือการมี “เป้าหมายร่วมกัน” ซึ่งเป้าหมายนี้มีความหลากหลาย 


บางบ้านอาจให้ความสำคัญกับการมีครอบครัวที่รักใคร่ปรองดอง พี่น้องไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน อีกบ้านอาจเป็นการสร้างชื่อเสียงและการสั่งสมความดีให้แก่วงศ์ตระกูล ในขณะที่ บางบ้านอาจเป็นเรื่องอำนาจและความมั่งคั่ง 


ดังนั้น เมื่อครอบครัวสามารถกำหนดเป้าหมายร่วมกันได้แล้ว การขับเคลื่อนก็จะทำได้ง่ายขึ้น แต่หากสมาชิกครอบครัวไม่สามารถหาเป้าหมายร่วมกันได้ การเป็นไม้ซีกที่แยกออกจากกันอาจแข็งแรงกว่าการเป็นไม้ซุงที่ผุพัง 


เมื่อตั้งเป้าหมายได้แล้ว อันดับต่อมาคือ “การวางระบบ” ให้ฟันเฟืองต่างๆ ในครอบครัวทำงานร่วมกัน ส่วนนี้เป็นหัวใจที่สำคัญมากของความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว เพราะ การวางระบบจะต้องทำทั้งระบบของฝั่งครอบครัวและของฝั่งธุรกิจอย่างสอดประสาน ในส่วนของฝั่งครอบครัวจำเป็นต้องมีกติกาที่กำหนดให้สมาชิกในบ้านรับรู้สิทธิและหน้าที่ของตน 


ขณะเดียวกันก็ต้องเคารพสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกคนอื่นๆ เพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างความสามัคคี รวมทั้งวางแผนการสืบทอดอย่างเป็นระบบ 


ในขณะที่ฝั่งธุรกิจ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกิจการของครอบครัวเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน คือการลดข้อด้อยของการเป็นธุรกิจกงสี เอาความเป็นมืออาชีพมาประยุกต์ใช้ ผนวกกับการจัดโครงสร้างทางธุรกิจและการวางแผนภาษีก็จะทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตอย่างยั่งยืนได้ 


โดยการมีจุดเชื่อมต่อระหว่างระบบของครอบครัวกับระบบของธุรกิจ เช่นว่า สมาชิกครอบครัวในฐานะเจ้าของธุรกิจจะกำหนดทิศทางร่วมกันอย่างไร จะส่งต่อธุรกิจให้สมาชิกรุ่นต่อไปอย่างไรที่ไม่ทำให้ธุรกิจสะดุด และผลตอบแทนจากธุรกิจจะนำมาแจกจ่ายให้สมาชิก หรือจัดระบบสวัสดิการให้ครอบครัวอย่างไรให้ทุกคนพอใจ 


ท้ายสุดคือการ “การเดินเครื่อง” หมายความว่าครอบครัวจะต้องลงมือทำ และเดินเครื่องให้ระบบนั้นทำงาน เมื่อมีกติกาครอบครัวก็ต้องทำตาม เช่น กติการะบุให้มีการนัดประชุมครอบครัวทุกปี ก็ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ หรือเมื่อกติกาไม่สอด คล้องกับสภาพการณ์ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน ในฝั่งของบริษัทก็ต้องเดินเครื่องไปตามระบบที่วางเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ครอบครัวก็มีโอกาสจะเดินร่วมกันไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้


การวางกติกาและจัดระบบในครอบครัวอาจดูง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ง่ายเลย อุปสรรคสำคัญอย่างแรกคือ “การสื่อสาร” หลายๆ ครอบครัวที่มีศักยภาพแต่ไม่สามารถจัดการกับระบบกงสีได้เพราะติดเรื่องของการสื่อสาร 


จากการที่บริบทของสังคมไทยไม่คุ้นเคยกับการพูดกันแบบตรงไปตรงมา และความเป็นครอบครัวทำให้ประเด็นบางเรื่องไม่อาจถูกหยิบยกมาพูดได้เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหว เช่น สิทธิของลูกเขย ลูกสะใภ้ 


ดังนั้น การใช้คนกลาง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธรรมนูญครอบครัว มาช่วยในการสื่อสารจึงเป็นทางออกหนึ่ง


ต่อมาคือ “บทบาท” ของสมาชิกในครอบครัว เช่น บทบาทของการเป็นพ่อ/ลูก บทบาทของการเป็นคนยุคใหม่/ยุคเก่า บท บาทของผู้นำแบบเผด็จการ/ผู้อยู่ใต้การปกครอง 


บทบาทที่สมาชิกในบ้านกำหนดให้ตัวเองหรือคนอื่นแบบนี้ จะบดบังการเปิดใจ การรับฟัง ทำให้การขับเคลื่อนกงสีทำได้ยากหรือไม่ได้เลย 


รวมถึง “ขนบธรรมเนียม” ของครอบครัว เช่น ลูกชายเท่านั้นที่จะเป็นผู้สืบทอดธุรกิจ หรือลูกสาวแต่งงานออกไป ทำให้กลายเป็นคนของตระกูลอื่น เป็นต้น หากธรรมเนียมเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกในครอบครัว หรือไม่มีแผนการแก้ปัญหา เช่น ลูกชายต้องสืบทอดธุรกิจกงสีทั้งไม่มีความสามารถก็จะเป็นบ่อนทำลายระบบกงสีไปในที่สุด การข้ามผ่านอุป สรรคเหล่านี้จึงสำคัญพอๆ กับการกำหนดเป้าหมายวางระบบและเดินเครื่องเลยทีเดียว


ท้ายที่สุดนี้ ผมอยากเปรียบให้เห็นว่า “กงสี”เหมือนร่างกาย มี “ครอบครัว” เป็นสมอง มี “เป้าหมาย” เป็นหัวใจ “ระบบ” อันเป็นกติกาของฝั่งครอบครัวและธุรกิจคือปอดซ้ายและปอดขวาแล้ว หากทั้งหมดนี้ทำหน้าที่ได้อย่างสอดประสานก็จะสร้าง ระบบกงสีที่ยั่งยืนได้ 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง