รีเซต

เบื้องหลังกับดัก "ข่าวปลอม" ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยต้องเรียนรู้เท่าทันสื่อ?

เบื้องหลังกับดัก "ข่าวปลอม" ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยต้องเรียนรู้เท่าทันสื่อ?
TNN ช่อง16
27 กรกฎาคม 2564 ( 05:30 )
192

เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้การเสพข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนอินเตอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้นแค่เพียงปลายนิ้วจากสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ขณะที่ "โซเชียลมีเดีย" เข้ามามีบทบาทอย่างมากจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ขาดไม่ได้ คนจึงหันมาบริโภคข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดียแทน เพราะเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็วกว่า

 

 

จากรายงานสถิติ Thailand Digital Stat 2021 จาก We Are Social ฉบับล่าสุด พบว่า ชั่วโมงการออนไลน์บนอินเตอร์ของคนไทย วันละ 8 ชั่วโมง 44 นาที โดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีคนไทยใช้งานมากที่สุดในปี 2020-2021 อันดับ 1 Youtube อันดับ 2 Facebook อันดับ 3 Line อันดับ 4 Facebook Messenger อันดับ 5 Instagram อันดับ 6 Twitter อันดับ 7 Tiktok อันดับ 8 Pinterest อันดับ 9 We Chat อันดับ 10 Twitch

 

 


 

 

ขณะที่ ในสื่อโซเชียลมีเดียมีคนจำนวนไม่น้อย สามารถนำเสนอเรื่องราว ข่าวสาร สาระความรู้ ข้อคิดเห็น รีวิวต่างๆ โดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัว การเป็นคนในพื้นที่ หรือจากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิด โดยมีเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียให้ความสนใจและคอยติดตาม เนื่องจากการนำเสนอที่ใกล้ชิด รวดเร็ว การใช้ภาษาเร้าอารมณ์ หรือเป็นกันเองเหมือนเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง การนำเสนอแปลกใหม่ หวือหวา จากเรื่องเล็กๆ ถูกกระจายต่อ จนเกิดเป็นกระแสในสังคม ทำให้สื่อมวลชนกระแสหลักหยิบยกขึ้นมานำเสนอ 

 

 

แต่เมื่อใครก็ตามสามารถเสนอเรื่องราวอะไรก็ได้ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้บางเรื่องอาจยังไม่ถูกกลั่นกรองหรือตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน หรือมีผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวปลอมขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์ใดๆ ก็ตาม ผู้อ่านที่ไม่มีข้อมูลในเรื่องนั้นๆ อาจจะหลงเชื่อและเข้าใจผิดจนเกิดผลกระทบต่างๆ ขึ้นมาได้

 

 

จากข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Anti-Fake News Center Thailand) พบว่า ข่าวปลอมส่วนใหญ่มักจะเป็นข่าวเกี่ยวกับสุขภาพ นโยบายรัฐ เศรษฐกิจ ภัยพิบัติ โดยจากการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ย้อนหลังช่วง 1 ต.ค. 63-30 มิ.ย. 64 พบข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเผยแพร่ข่าวปลอมของคนไทยว่า มีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 587,039 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 20,294,635 คน ส่วนกลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 90% อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี 

 

 

วันนี้ TNN ONLINE จึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับ "ข่าวปลอม" ผ่านรายงานพิเศษชิ้นนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ  "ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต" รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) นอกจากนี้ อีกหนึ่งบทบาท ผศ.ดร.วรัชญ์ ยังช่วยตรวจสอบข่าวสารต่างๆ ที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมให้กับประชาชนอีกด้วย

 

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Karuchit

 

 

ข่าวปลอม คืออะไร มีกี่ประเภท?

 

ผศ.ดร.วรัชญ์ อธิบายว่า ข่าวปลอมมีมาตั้งแต่ในอดีต มาจากข่าวลือ แต่ข่าวปลอมที่พูดถึงในปัจจุบันที่เรียกว่า “เฟคนิวส์” (Fake News) นั้น มักนำมาใช้ในบริบทที่เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ เริ่มต้นจากที่มีโซเชียลมีเดีย โดยมีการโพสต์ข้อมูลเท็จ ไม่ว่าจะมีข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนหรือปราศจากข้อเท็จจริงเลย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแชร์ออกไป โดยมีเจตนาที่จะบิดเบือนหรือปิดบังความจริง ด้วยการใช้อารมณ์มากกว่าการคิดวิเคราะห์

 

 

ข่าวปลอมแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ

 

- "Mis-information" การแชร์ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน หรือไม่จริง โดยเกิดขึ้นจากความไม่ได้ตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ส่งสาร ไม่ได้มีเจตนาปั่นป่วนหรือทำร้ายใคร 

 

- "Dis-information" ตั้งใจแชร์ข้อมูลเท็จ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด ปิดบังความจริง หรือหวังผลบางอย่าง

 

- "Mal-information" ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลจริงบางส่วนที่ตั้งใจบิดเบือน โดยมีเจตนาร้ายให้เกิดความเข้าใจผิด ทำลายชื่อเสียงบุคคล องค์กร หรือสร้างความเกลียดชัง

 

เจตนาการสร้างข่าวปลอม ทำไปเพราะอะไร?

 

ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวว่า เจตนาของการสร้างข่าวปลอมมีหลายแบบ ทั้งเรื่องตั้งใจสร้างความเข้าใจผิด โดยมีเหตุผลต่างๆ เช่น เรื่องการเมือง เรื่องปัญหาสังคมต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ซึ่งข่าวปลอมเกิดขึ้นทุกประเทศ เพราะคนในสังคมมีความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่เหมือนกัน ทำให้ความคิดเห็นถูกแบ่งออกเป็นหลายแบบทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือฝ่ายกลางๆ ซึ่งเจตนาที่สร้างความปลอม เช่น

 

- เพื่อตั้งใจให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องนั้นๆ หรือรู้ว่าเป็นเท็จแต่ตั้งใจให้เกิดกระแสในสังคม โดยส่วนมากผู้ที่โพสต์มักจะปกปิดตัวตน หรือหาตัวตนไม่ได้ จากนั้นจะมีคนรับลูกขยายผลให้กลายเป็นประเด็นใหญ่ และสื่อมวลชนนำมาเสนอเป็นข่าวเนื่องจากเกิดกระแสผู้คนในความสนใจ

 

- รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หรือความผิดพลาด เข้าใจผิด เช่น การแปลข่าวจากต่างประเทศผิด หรือการตีความหมายบริบทของเรื่องผิดเพี้ยนไปจากเดิมจนทำให้เกิดการเข้าใจผิด

 

- จงใจสร้างเรื่องเท็จขึ้นมา แต่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหรือองค์กรนั้น เช่น การล้อเลียนบุคคล-องค์กร การทำการตลาดให้คนตื่นตระหนกเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ เป็นต้น

 

- ทำเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า ขายยา ขายของ หลอกคลิก ยอดไลค์ โดยการสร้างเรื่องเท็จขึ้นมา เช่น ดาราดังเสียชีวิต เพื่อเรียกกระแสให้คนเข้ากดไลค์ในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก จากนั้น นำแอคเคาท์ไปขายต่อ

 

ภาพโดย memyselfaneye จาก Pixabay

 

 

ไขสาเหตุ ทำไมคนถึง "ตกหลุมพราง" ข่าวปลอม

 

1.น่าเชื่อ น่าตื่นเต้น ส่วนใหญ่มักเป็นข่าวเชิงลบ

หากลองสังเกตดีๆ จะพบว่า ข่าวปลอม จะดู “น่าเชื่อถือ ตื่นเต้น" มีความน่าสนใจ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นข่าวในเชิงลบ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น มักจะไม่ค่อยมีข่าวแง่บวก เพราะต้องการเล่นกับเรตติ้งความสนใจใคร่รู้ของประชาชน

 

2.สอดคล้องกับความเชื่อของคน

ข่าวปลอมมักจะเล่นกับความเชื่อของคน รู้ว่าคนชอบอะไร เชื่ออะไร หรือมีอคติกับอะไร โดยจะพาดหัวให้มีแนวโน้มสอดคล้องกับความเชื่อของคนกลุ่มนั้น เมื่อเผยแพร่ออกไป คนก็พร้อมจะเชื่อไปแล้ว “ครึ่งหนึ่ง” ว่าเป็นเรื่องจริง รวมทั้งในหลายๆ ครั้ง บางคนมีทักษะในการแยกแยะได้ไม่มาก เช่น เด็ก ผู้สูงอายุที่โตขึ้นมากับความเชื่อที่ว่าอะไรที่เห็นในสื่อคือเรื่องจริงจึงพร้อมที่จะเชื่อโดยที่ยังไม่กดเข้าไปดู หรือกดเข้าไปอ่านแล้วแต่พบเนื้อหาที่กำกวมก็ทำให้เข้าใจผิดได้

 

3.ขาดความรู้ ประสบการณ์ในเรื่องนั้น

ผศ.ดร.วรัชญ์ ยกตัวอย่างว่า "สมมติมีใครสักคนอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญกีฬากอล์ฟ มีคนกดไลค์เพจเฟซบุ๊กหลายหมื่นหลายแสนคน โดยเล่าเรื่องราว แนะนำ หรือให้ความเห็นในเรื่องกีฬากอล์ฟ ขณะที่ ตัวเราเองไม่ได้ก็มีความรู้เรื่องกอล์ฟ เมื่อเราได้ไปอ่านทำให้เราพร้อมจะเชื่อคนๆ นั้น ว่าสิ่งที่เขาบอกมาคือเรื่องจริง นั่นเป็นเพราะว่า ตัวเราขาดประสบการณ์ในเรื่องกอล์ฟ แต่หากเรามีความรู้เรื่องกอล์ฟระดับหนึ่งแล้ว เราก็สามารถแย้งได้ว่า สิ่งที่คนๆ นั้นพูดเป็นเรื่องจริงไหม ทำไมเขาถึงให้ความเห็นแบบนี้ เขามีอคติใดๆ หรือไม่"

 


กราฟฟิก โดย BuzzFeed News

 

 

ผลกระทบ "ข่าวปลอม" สะเทือนระดับโลก!

 

ข่าวปลอมไม่ได้สร้างผลกระทบแต่เพียงระดับบุคคล แต่ยังสะเทือนไประดับโลกด้วย ยกตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญ เช่น ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทีมหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ดึง “เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า” (Cambridge Analytica) มาร่วมงาน เพื่อทำการตลาดกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีสิทธิโหวตเลือกตั้ง อย่างเช่น การส่งอีเมล์โปรโมทโดนัลด์ ทรัมป์ให้ผู้ใช้โดยตรง และแบบประยุกต์ โดยดูกระแสว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่กังวลใจเรื่องอะไร และนำไปโจมตี "ฮิลลารี คลินตัน" ด้วยข้อมูลนั้น จนผลปรากฎว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น

 

 

กราฟฟิก โดย BuzzFeed News

 

 

จากบทความเว็บไซต์ BuzzFeed ชี้ว่าตัวเลขยอด Engagement 20 ข่าวปลอมช่วงสามเดือนก่อนการเลือกตั้งปี 2016 พุ่งสูง 8.7 ล้านครั้ง โดย 5 ข่าวปลอมที่มียอด Engagement สูงสุดใน Facebook ล้วนเป็นข่าวโจมตี "ฮิลลารี คลินตัน" จากพรรคเดโมแครต โดยข่าวเหล่านี้ไม่เป็นความจริง แต่ถูกแชร์อย่างแพร่หลาย ได้แก่

 

 

- โป๊ปฟรานซิส ให้การรับรองโดนัลด์ ทรัมป์ Engagement 960,000 ครั้ง

- FBI ยืนยัน ฮิลลารี คลินตัน ขายอาวุธให้กลุ่ม ISIS Engagement 789,000 ครั้ง

- ข่าวอีเมลฮิลลารี คลินตัน รั่ว Engagement 754,000 ครั้ง

- ฮิลลารี คลินตัน ถูกตัดสิทธิ์จากสำนักงานรัฐบาลกลาง Engagement 701,000 ครั้ง

- พบศพเจ้าหน้าที่ FBI ที่ต้องสงสัยจากอีเมลรั่วไหลของฮิลลารี คลินตัน Engagement 567,000 ครั้ง

 

 

 

 

ขณะที่ การเลือกตั้งกรณี Brexit ของสหราชอาณาจักร ในตอนแรก เสียงของฝั่งอยู่ต่อ (Remain) ดูจะมาแรงกว่า แต่สุดท้าย ผลลัพธ์ออกมาเป็นฝั่งออกจาก EU (Leave) ที่แซงโค้ง เอาชนะไปได้สำเร็จ และต่อมา นักข่าวได้ไปสืบค้นจนได้คำตอบว่า ระหว่าง 2 การเลือกตั้งนี้ มี “เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า” เป็นผู้ทำฐานข้อมูลให้ฝ่ายชนะเหมือนกันทั้งคู่เช่นเดียวกัน

 

 

 

 

 

มองดูรอบโลก จัดการ "ข่าวปลอม" อย่างไร?

 

ผศ.ดร.วรัชญ์ เผยว่า ในต่างประเทศนั้น การจัดการกับข่าวปลอมจะไปสิ้นสุดที่กฎหมาย ซึ่งแต่ละประเทศบทลงโทษมีหนักเบาแตกต่างกันออกไป  โดยส่วนใหญ่จะใช้กฎหมายหมิ่นประมาท แต่ในหลายประเทศไม่มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

 

ขณะที่ บางประเทศที่ค่อนข้างมีเสรีภาพ รัฐบาลไม่ได้ไล่เช็กบิลด้วยกฎหมายหรือตามจับ เพราะถือว่าไม่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่จะเน้นให้ความรู้ สร้างกระแสให้กลับมาเช็กกันเอง ส่วนการควบคุมจะเป็นเรื่องของสื่อในการสร้างเครือข่ายตรวจสอบ ให้สื่อมีจรรยาบรรณ ซึ่งก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

 

แต่สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ ในประเทศอินเดีย ตุรกี มีกฎหมายร่างออกมาว่า ให้โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มต้องมีตัวแทนอยู่ในประเทศด้วย ซึ่งถ้าได้รับการร้องเรียนว่าเป็นเนื้อหาไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเท็จ การเหยียด ต้องมีการลบข้อความออกไปภายในเวลาที่กำหนด

 

ภาพโดย memyselfaneye จาก Pixabay

 

 

เด็กไทยรองบ๊วย! การประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล

 

รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เปิดเผยความสามารถด้านการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล จากในทุกประเทศและเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมใน PISA 2018 ของเด็กอายุ 15 ปี จากทั่วโลก พบว่า โดยเฉลี่ยประมาณ 40% ของนักเรียนจากประเทศ OECD ได้แก่ เดนมาร์ก เยอรมนี ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้คะแนนสูงสุด ขณะที่ไทยอยู่ในลำดับที่ 76 จาก 77 ประเทศทั่วโลกที่ OECD ได้ประเมิน

 

โดยรายงานดังกล่าว ได้สรุปให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบนักเรียนจากภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีในทุกประเทศและเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมใน PISA 2018 พบว่า ได้คะแนนดัชนีความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การอ่านเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล มีผลลัพธ์ที่สูงกว่านักเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่า

 

 

 

อย่างไรก็ดี จากผลลัพธ์ในแบบทดสอบตัวชี้วัดในรายงานดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า นักเรียนที่ได้เรียนรู้วิธีตรวจจับข้อมูลมีเปอร์เซ็นต์ความถูกต้องในการแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็นที่มากขึ้น นั่นอาจจะแสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการแยกแยะข้อเท็จจริงจากความคิดเห็น การประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และการเรียนรู้กลยุทธ์ในการตรวจจับข้อมูลที่ลำเอียงหรือข้อมูลเท็จ จึงเป็นทักษะที่จำเป็นในการเสพข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันนี้ก็ได้

 

 

 

ผลักดัน "รู้เท่าทันสื่อ" บรรจุในหลักสูตรให้เด็กไทยเรียน

 

ผศ.ดร.วรัชญ์ ให้ความเห็นว่า ในเรื่องของการทำงานเชิงรับ รัฐต้องให้ความรู้กับประชาชน โดยในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ มีการสอนให้เด็ก "รู้เท่าทันสื่อ" ขณะที่ของไทยต้องร่างหลักสูตร และมีข้อจำกัดมากมาย ซึ่งมองว่าหลักการรู้เท่าทันสื่อ ควรจะเป็นหนึ่งใน "รายวิชาบังคับ" ให้เรียนตั้งแต่เด็ก จะต้องให้ความรู้ มีทักษะในการแยกแยะองค์ประกอบของข่าวได้

 

“ผมอยากเรียกร้องผลักดันให้เจ้ากระทรวงเห็นความสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อ ถึงแม้ขั้นตอนการบรรจุหลักสูตรการศึกษาให้เด็กวัยรุ่นของกระทรวงศึกษาฯ จะมีข้อจำกัดมากมาย เราอาจจะมองไปที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ก็ได้ อยากจะให้บรรจุเป็นวิชาบังคับให้เด็กปี 1 หรือเด็กทุกคนต้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีทักษะวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารนั้นได้" รองคณบดี คณะนิเทศฯ ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Karuchit

 

 

แนะรัฐ ใช้มาตรการเชิงรุกเข้มกฎหมาย ขจัดข่าวปลอม

 

ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวว่า การดำเนินการเชิงรุกในส่วนการจัดการกับข่าวปลอมนั้น ประเทศไทยมีบริบทต่างกับประเทศอื่น คนไทยเป็นคนที่ตื่นกระแสง่าย และใช้โซเชียลมีเดียเยอะ มองว่ารัฐควรปรับการทำงานเชิงรุกในแง่ของกฎหมาย "ทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่า การสร้าง การแชร์ข่าวปลอมเป็นเรื่องร้ายแรง!" 

 

ทั้งนี้ ในทางกฎหมายการแชร์หรือสร้างข่าวปลอมอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ขณะที่ ในส่วนของสื่อมวลชนในแพลตฟอร์มออนไลน์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องหามาตรการทางกฎหมายดูแลสื่อออนไลน์ เพราะมีอิทธิพลสูง มีผลมากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป

 

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐหรือเอกชน จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเรื่องการสื่อสารอย่างจริงจัง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดข่าวปลอมขึ้นมา เจ้าหน้าที่จะสามารถชี้แจง ตอบโต้ได้ทันท่วงที 

 

"ในอดีตที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องข่าวปลอม เมื่อเกิดการแชร์ข้อมูลเท็จและไม่มีการออกมาตอบโต้ ก็ทำให้ข่าวปลอมกลายเป็นข่าวจริงขึ้นมา แต่ในปัจจุบันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายกับคณะรัฐมนตรีให้ตั้งศูนย์เฟคนิวส์ของกระทรวง ต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แต่การจะใช้คนมาสื่อสารนั้น ต้องเป็นคนที่รู้เรื่องการสื่อสารจริงๆ" ผศ.ดร.วรัชญ์ ระบุ

 

 

 

ท้ายที่สุดนี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ ฝากวิธี "คิดก่อนแชร์" และหลักการตรวจสอบข่าวปลอม ดังนี้

 

คิด 4 คิด ก่อนเชื่อ-ก่อนแชร์

 

คิดที่ 1 คือ คิดเมื่อเห็นข่าวว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เวอร์ไปหรือไม่ มีอะไรน่าสงสัย

 

คิดที่ 2 คือ คิดเมื่อพิมพ์ข้อความ ก่อนจะกดแชร์หรือพิมพ์แสดงความคิดเห็นต้องคิดว่า จะมีผลกระทบต่อใครหรือไม่ จะโดนหมิ่นประมาทหรือไม่ หรือสนับสนุนซ้ำในสิ่งที่หลอกลวง 

 

คิดที่ 3 คือ คิดก่อนกดโพสต์หรือส่งข้อความ อาจจะลบได้แต่ก็ถูกแคปได้เช่นกัน ดังนั้นให้อ่านทวนอีกครั้ง

 

คิดที่ 4 คือ คิดว่าจะลบดีไหม จะส่งผลเสียอะไรหรือไม่

 

ตรวจสอบข่าวปลอมด้วย “SPOT” รู้ทันไม่ตกเป็นเหยื่อแน่นอน!

 

S - Source ตรวจสอบแหล่งที่มา น่าเชื่อถือหรือไม่ บุคคลที่แชร์เป็นใคร

 

P - Profit คนที่ส่งมาหรือคนที่โพสต์เรื่องนี้ เขาได้ประโยชน์อะไร และเมื่อแชร์ต่อจะมีประโยชน์อะไรกับตัวเองและคนรอบข้างหรือไม่

 

O - Over ถอยคำ การพาดหัว ภาพ ดูโอเวอร์เกินไป ใช้คำเร้าอารมณ์ เพราะมีการทดสอบวิจัยมาแล้วว่า ข่าวปลอมจะมีลักษณะกลุ่มคำซ้ำๆ เช่น ด่วน ส่งต่อด่วน เพื่อคนที่คุณรักส่งต่อด้วย

 

T - Time ช่วงเวลา บางเรื่องถูกต้อง แต่เวลา-สถานที่ถูกต้องหรือไม่ เช่น เป็นภาพจริงแต่เกิดขึ้นนานแล้ว หรือภาพคนละประเทศ

 

"อย่าลืม! คิดก่อนเชื่อ ชัวร์ก่อนแชร์ หยุด Fake News"

 

รายงานพิเศษยังไม่จบเพียงเท่านี้ ทีมข่าว TNN ONLINE ได้พูดคุยเจาะลึกถึงแก่นปัญหาการรู้เท่าทันสื่อจาก "ด่านหน้า" ผู้ปฏิบัติการตัวจริง ซึ่งเป็นผู้ผลักดันจัดทำสื่อ และกิจกรรมผ่านโครงการต่างๆ ร่วมกับสถาบันการศึกษามานานหลายปี เขาจะมีมุมมองหรือสะท้อนปัญหาในภาคสนามอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป.

 

ทีมข่าว TNN ONLINE รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง