รีเซต

รัสเซียและยูเครนยังเสี่ยงเกิดสงคราม หลังการเจรจากับสหรัฐฯ ไร้ความคืบหน้า

รัสเซียและยูเครนยังเสี่ยงเกิดสงคราม หลังการเจรจากับสหรัฐฯ ไร้ความคืบหน้า
TNN ช่อง16
11 มกราคม 2565 ( 11:21 )
110
รัสเซียและยูเครนยังเสี่ยงเกิดสงคราม หลังการเจรจากับสหรัฐฯ ไร้ความคืบหน้า

รัสเซียยืนยันในที่ประชุมอีกครั้งว่าไม่มีแผนจะบุกยูเครน แต่สหรัฐฯ ก็ยังไม่เชื่อต่อคำยืนยันดังกล่าว


---แนวโน้มแก้ปัญหาห่างไกลมาก---


หลังการเจรจากันอย่างเคร่งเครียดเพื่อหาทางออกเหนือวิกฤตยูเครน ระหว่างตัวแทนรัสเซียกับสหรัฐฯ ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ที่กินเวลานานเกือบ 8 ชั่วโมง แต่ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายยังคงห่างไกลจจากข้อตกลงด้านความมั่นคงที่ต่างฝ่ายต่างต้องการ


เซอร์เก เรียบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง ว่ารัสเซียได้ยืนยันกับสหรัฐฯ ว่าพวกเขาไม่มีแผนจะบุกยูเครน ดังนั้ นไม่มีเหตุผลที่จะต้องกลัวสถานการณ์บานปลาย


และการประชุมครั้งนี้ เป็นการเจรจาที่ยาก ยาวนาน มีความเป็นมืออาชีพ ลึกซึ้ง และเป็นรูปธรรมมาก โดยไม่ต้องพยายามลบขอบคมใดๆ เรามีความรู้สึกว่าฝ่ายอเมริกันให้ความสำคัญกับข้อเสนอของรัสเซียและทำการศึกษามาเป็นอย่างดี


นอกจากนี้ เรียบคอฟบอกว่า แม้น้ำเสียงของการเจรจาทำให้มองในแง่ดีมากขึ้น แต่ว่าคำถามหลักยังคงอยู่ในอากาศ และไม่เห็นความเข้าใจจากฝั่งอเมริกาเกี่ยวกับความจำเป็นของการตัดสินใจในทางใดทางหนึ่งที่ทำให้เราพอใจ


---แล้วทางฝั่งสหรัฐอเมริกาว่าอย่างไร?---


เวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ หัวหน้าตัวแทนฝ่ายสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นการเจรจาอย่างตรงไปตรงมาและตรงประเด็น พูดถึงกรณีที่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้วางแผนรุกรานยูเครนและการเคลื่อนไหวทางทหารเป็น “การซ้อมรบปกติ”


แต่เธอก็ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีการแจ้งให้ใครทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะโดยปกติแล้ว จะต้องแจ้งการซ้อมรบของกันและกันให้อีกฝ่ายทราบ หากรัสเซียต้องการพิสูจน์ว่าไม่มีเจตนาบุกยูเครนจริง ก็ทำได้ด้วยการลดระดับความตึงเครียดลงและถอนกำลังทหารออกไป


นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ผลักข้อเสนอด้านความมั่นคงที่รัสเซียเรียกร้องกลับไป รวมถึงการที่รัสเซีย ไม่ต้องการให้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และให้พันธมิตรยุติความร่วมมือด้านความมั่นคงกับยูเครน


เชอร์แมนระบุว่าจะไม่อนุญาตให้ใครก็ตามมาปิดนโยบายเปิดประตูของ NATO ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพันธมิตร NATO มาโดยตลอด และจะไม่ละทิ้งความร่วมมือทวิภาคีกับรัฐอธิปไตยที่ต้องการทำงานร่วมกับสหรัฐอเมริกา และจะไม่ตัดสินใจเกี่ยวกับฝ่ายใดโดยที่พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมหารือด้วย ไม่ว่าจะเป็น ยูเครน NATO หรือยุโรป


---จำกัดการประจำการขีปนาวุธ---


เชอร์แมน บอกว่า สหรัฐฯได้หยิบยกแนวคิด “เบื้องต้น” หลายประเด็น ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อลดความตึงเครียด รวมทั้งการจำกัดขนาดและขอบเขตของการซ้อมรบ และเปิดการเจรจาเกี่ยวกับการประจำการขีปนาวุธ รวมทั้งหารือถึงความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้นสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง ซึ่งสหรัฐฯ ละทิ้งในปี 2019 หลังจากกล่าวหารัสเซียว่าละเมิดข้อตกลงเป็นเวลาหลายปี


สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง ข้อตกลงที่ลงนามโดยสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตในปี 1987 เพื่อห้ามการผลิตขีปนาวุธพิสัยกลางและใกล้ทุกชนิด ทั้งที่เป็นขีปนาวุธนิวเคลียร์และไม่ใช่นิวเคลียร์ ยกเว้นอาวุธที่ยิงจากในทะเล


อย่างไรก็ตาม เชอร์แมนระบุว่า ไม่รู้ว่ารัสเซียพร้อมลดความตึงเครียดกับยูเครนหรือไม่ หลังประจำการทหารจำนวนมากใกล้พรมแดนยูเครน และกลัวว่าเป็นไปได้ที่รัสเซียจะบุกยูเครน


---สัปดาห์นี้ยังเจรจาต่ออีกสองนัด---


ด้านบอร์เรล ฟอนเตลเลส ประธานนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป หรือ EU แถลงในวันจันทร์ว่า เขาเชื่อว่า การรุกรานของรัสเซียยังคงมีความเป็นไปได้ มีทหารรัสเซีย 100,000 นายอยู่อีกด้านหนึ่งของพรมแดน พวกเขาคงไม่ได้มาประจำการเพียงเพื่อมาดื่มกาแฟเท่านั้น


New York Times มองว่า ทั้งสองฝ่ายดูเหมือน ลดความคาดหวังสำหรับความก้าวหน้าทางการทูตลงจากการเจรจาครั้งนี้


รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า วันนี้เป็นการหารือ และทำความเข้าใจซึ่งกันและกันให้ดีขึ้น รวมทั้งลำดับความสำคัญของกันและกัน แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะเรียกว่าการเจรจา


ขณะที่รัสเซียจะตัดสินใจว่า จะเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯต่อหรือไม่ หลังการประชุมกับหรือ NATO ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมในวันพรุ่งนี้ และอีกวงกับองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ OSCE ที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย ในวันพฤหัสบดี ซึ่งจะมียูเครนเข้าร่วมด้วย ชะตากรรมของการเจรจาในอนาคต ก็ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการเจรจาอีก 2 วงที่จะเกิดขึ้น


ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เคยกล่าวว่า หากรัสเซียไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการก็พร้อมที่จะหันไปใช้วิธีการทางทหารเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

—————

แปล-เรียบเรียง: สันติ สร้างนอก และ สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Marco Bertorello / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง