รีเซต

สังคมอเมริกันหลัง "ทรัมป์" ยังแยกขั้วแบ่งข้างอีกนาน

สังคมอเมริกันหลัง "ทรัมป์" ยังแยกขั้วแบ่งข้างอีกนาน
มติชน
8 พฤศจิกายน 2563 ( 13:13 )
126
สังคมอเมริกันหลัง "ทรัมป์" ยังแยกขั้วแบ่งข้างอีกนาน

เกือบ 4 ปี ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “จอมทุบทำลาย” ขนบประเพณีดั้งเดิมทั้งหลายที่เคยมีเคยใช้กันในการเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ สังคมอเมริกันเกิดความแตกแยกขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ทรัมป์ ปลุกอารมณ์เร้าความรู้สึกของทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านขึ้นได้สูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน

 

ในกลุ่มผู้สนับสนุน ทรัมป์ได้รับการยกย่องมากมายจาก การยกเครื่องนโยบายต่อผู้อพยพ,การแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีแนวคิดอนุรักษ์คนแล้วคนเล่า,และวาทกรรมแข็งกร้าว ที่ทรัมป์ใช้จนเป็นปกติวิสัย ซึ่งแม้จะฟังดู ไร้เหตุผล ก้าวร้าว สำหรับผู้อื่น แต่สำหรับผู้สนับสนุนทรัมป์ นี่คือคำพูดตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมวกวน ของผู้นำของตน

 

ในขณะที่ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์และสมาชิกพรรคเดโมแครต มองอดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และพิธีกรเรียลิตี้โชว์รายนี้ว่า เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา เป็นจอมบิดเบือน มดเท็จที่สามารถโกหกได้ทุกโอกาสทุกเรื่องที่ต้องการ เป็นผู้บริหารที่ผิดพลาด ไร้ความสามารถในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนเป็นเหตุให้อเมริกันมากถึง 230,000 คนเสียชีวิต

 

ชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์ เมื่อปี 2016 ทำให้ครอบครัวแตกแยก เพื่อนสนิทมิตรสหายเลิกรา ตัดขาดกันมากมาย เพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันถึงกับมองหน้ากันไม่ติด

 

ลงเอยด้วยการอาศัย เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เพื่อระบายความรู้สึกแบบเต็มๆ ไม่เหนี่ยวรั้งเข้าใส่กันและกัน

 

นักสังคมวิทยาบางคน ระบุว่า ทรัมป์ ถือเป็นประธานาธิบดีที่ก่อให้เกิดการแตกแยกขึ้นในสังคมอเมริกันมากที่สุดยิ่งกว่าประธานาธิบดีคนไหนๆ ในประวัติศาสตร์

 

มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างนี้อย่างชัดแจ้ง

 

รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ของ พิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นเพื่อการวิจัยทางสังคม ที่เป็นกลางทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่า เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้สนับสนุนทั้งของทรัมป์และโจ ไบเดน ตัวแทนพรรคเดโมแครต หลงเหลือเพื่อนๆ ที่สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามอยู่น้อยมากหรือไม่มีเหลือเลยแม้แต่คนเดียว

 

กัลลัพ โพล สำนักสำรวจความคิดเห็นอีกแห่ง สำรวจไว้เมื่อเดือนมกราคม พบว่า การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปีที่ 3 ของทรัมป์ สร้างสถิติใหม่ในการแยกขั้วคนในสังคมอเมริกันขึ้นสู่ระดับสูงสุดตามแนวทางพรรค เมื่อ ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ถึง 89 เปอร์เซ็นต์ยอมรับการทำหน้าที่ของทรัมป์ตลอดปี 2019 แต่มีผู้สนับสนุนเดโมแครตเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของทรัมป์

 

ความแตกแยกนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องทางการเมือง แต่ปริร้าวลงไปจนถึงระดับหน่วยที่เล็กสุดของสังคมอย่างครอบครัว

 

มีตัวอย่างมากมายที่สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงที่น่าเศร้านี้

 

อาทิ โรแซนนา กัวดานโญ นักจิตวิทยาสังคมวัย 49 ปีประจำ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ปฏิเสธที่จะลงคะแนนเลือกทรัมป์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผลก็คือ ถูกผู้เป็นน้องชายตัดขาด ถึงขนาดที่เมื่อผู้เป็นมารดาป่วยหนักจากอาการสโตรค ก็ไม่บอกให้รับรู้ และเมื่อผู้เป็นแม่เสียชีวิตในอีก 6 เดือนหลังเลือกตั้ง น้องชายก็ไม่ยอมปริปากบอก

 

โรแซนนา มารู้เรื่องหลังพิธีศพแม่ผ่านไปแล้ว 3 วัน จากน้องสะใภ้ ผ่านทางอีเมล์

 

ซาราห์ กูธ อายุ 39 ปี ล่ามภาษาสเปนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ถูกเพื่อนพ้องที่ลงคะแนนเสียงและสนับสนุนทรัมป์ตัดขาดจนหมดเกลี้ยง ที่น่าสลดใจยิ่งขึ้นก็คือ แม้แต่ผู้เป็นพ่อที่โหวตให้ทรัมป์ ก็เลิกพูดจากับเธอนานหลายเดือนหลังเลือกตั้งครั้งนั้น และต้องเลี่ยงพูดเรื่องการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้

 

เกย์ล แม็คคอร์มิค อายุ 77 ปี หย่ากับ วิลเลียม สามีวัย 81 ในทันทีที่เขาลงคะแนนเลือกทรัมป์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หลานของเธอสองคนเลิกพูดกับเธอเพราะเธอหนุนคลินตัน ทุกวันนี้เธอต้องโยกย้ายจากบ้านในอลาสกา มาใช้ชีวิตอยู่ใน แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา

 

เจย์ เจ. แวน บาเวล ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก บอกว่า ความแตกแยกทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา ถูกยกระดับขึ้นจากการเป็นเรื่องของกลุ่มก้อน ของพรรคพวก กลายเป็นเรื่องของ จริยะ เป็นความดีงาม ความผิดถูกไปแล้ว

 

เหตุผลก็คือ ทรัมป์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้นำที่สร้างความแตกแยกแบ่งขั้วสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เท่านั้น ยังก่อให้เกิดความแตกแยกดังกล่าวให้ลึกลงไปจนถึง ค่านิยมที่เป็นแกนหลักและประเด็นสำคัญในสังคมอีกด้วย

 

เมื่อการสนับสนุนใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกลายเป็นเรื่องผิดถูก เรื่องดีงามหรือไม่ดีงาม แต่ละฝ่ายก็ยากที่จะประนีประนอม

 

ความแตกแยกแบบนี้จางหายไปยากมาก

 

ไฮเม่ ซาล นักจิตวิทยาบำบัด จากศูนย์พฤติกรรมศาสตร์ โรเชสเตอร์เซนเตอร์ ในเมืองโรเชสเตอร์ฮิลล์ รัฐมิชิแกน เห็นพ้องด้วย และยืนยันว่า ความแตกแยกทางสังคมชนิดนี้เยียวยาได้ไม่ง่ายเหมือนกับการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดี

 

ความสัมพันธ์ส่วนตัวของบุคคลต่อบุคคล จะพุ่งสูงขึ้นได้อีกมาก หากคำนึงถึง สุขภาวะทางการเมืองและพลวัตรทางสังคมที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญอยู่

 

เธอบอกว่า ปัญหาที่เธอพบบ่อยที่สุดจากคนไข้ ก็คือ การแตกแยกทางการเมืองระหว่างพี่น้อง,ขัดแย้งกับพ่อแม่หรือเขยและสะใภ้

 

“ความแตกแยกทำนองนี้ต้องใช้เวลานาน ต้องใช้ความพยายามสูง และต้องยินยอมพร้อมใจกันเยียวยาจากทั้งสองฝ่าย”

 

แจคเกอลีน แฮมมอนด์ ถูก แคโรล ผู้เป็นแม่ตัดขาดมานานปีแล้ว หลังจากแคโรล บอกให้เธอเลือกเอาว่า จะเคารพในการตัดสินใจทางการเมืองของเธอ หรือ จะลงจากรถ

 

แฮมมอนด์ อุปมาสิ่งที่ทรัมป์กระทำในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาว่า เหมือนกับการก่อให้เกิด “แผ่นดินไหวที่ทำให้ความคิดแตกออกเป็นสองทวีป”

 

เมื่อโลกแห่งความคิดแตกออกเป็นสองอย่างนั้นได้ ทุกอย่างก็ไม่มีวันกลับเป็นเหมือนเดิมได้อีก

 

แต่จะติดไปกับตัวจนกว่าชีวิตจะหาไม่!

 

**หมายเหตุ** บทความนี้ลงในนสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง