รีเซต

เห็นแสงบนฟ้า อย่าเพิ่งเรียก "อุกกาบาต" ! อธิบายความแตกต่างของวัตถุที่ตกจากฟ้า

เห็นแสงบนฟ้า อย่าเพิ่งเรียก "อุกกาบาต" ! อธิบายความแตกต่างของวัตถุที่ตกจากฟ้า
TNN ช่อง16
5 มีนาคม 2567 ( 20:48 )
45

เมื่อคืนวันที่ 4 มีนาคม 2024 มีลูกไฟคล้ายสีเขียวปรากฏและพุ่งผ่านโลก มองเห็นได้เหนือท้องฟ้าในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลางของประเทศไทย หลาย ๆ คนจึงตั้งข้อสงสัยว่ามันคือ “อุกกาบาต” หรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นคำศัพท์ที่ไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก 


อันที่จริงแล้วคำว่า อุกกาบาต ดาวตก หรือ ผีพุ่งใต้ คำศัพท์ทางดาราศาสตร์พวกนี้เอาไว้อธิบายวัตถุเดียวกัน แต่ขึ้นอยู่กับสถานที่ว่าวัตถุนี้อยู่ที่ไหน แต่ละคำมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง TNN Tech จะมาขยายให้ดูกัน

ความแตกต่างของคำศัพท์ของเทหวัตถุต่าง ๆ

 

 

สะเก็ดดาว (Meteoroid) 

สะเก็ดดาว คือหินที่ยังอยู่ในอวกาศ มีขนาดตั้งแต่เท่าเม็ดฝุ่น ไปจนถึงขนาดไม่เกิน 1 เมตร


ดาวตก หรือ ผีพุ่งไต้ (Meteor)

เมื่อสะเก็ดดาวเดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก (หรืออาจจะเป็นชั้นบรรยากาศของดาวอื่นก็ได้ เช่น ดาวอังคาร) ด้วยความเร็วสูง มันจะลุกไหม้เป็นไฟ โดยส่วนใหญ่แล้วจะระเหยหายกลายเป็นไอไปหมดก่อนที่จะถึงพื้นโลก มันจะทิ้งเส้นทางที่ลุกไหม้เป็นไฟ ในตอนนี้เองที่เราเรียกวัตถุที่ตกลงบนโลกนี้ว่า “ดาวตก” ดังนั้นหากพูดว่าเรากำลังดูดาวตก ก็คือการดู สะเก็ดดาว หรือหินจากอวกาศ ลุกไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลกเรานั่นเอง


ฝนดาวตก (Meteor Shower)

ฝนดาวตก อธิบายปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับดาวตกหรือผีพุ่งใต้ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามีสะเก็ดดาวตกลงมาบนโลกเราวันละประมาณ 48.5 ตัน แต่เกือบทั้งหมดนี้ระเหยหมดในชั้นบรรยากาศโลก แต่ในบางครั้งจำนวนของดาวตกก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเรียกว่า ฝนดาวตก


อุกกาบาต (Meteorite)

เมื่อดาวตก หรือ ผีพุ่งใต้ ไม่สลายกลายเป็นไอหมดก่อนจะตกลงสู่พื้นโลก ทำให้ปรากฏเป็นก้อนหิน สิ่งนี้จะเรียกว่า อุกกาบาต ทั้งนี้อุกกาบาตบนโลกส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อย


ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt)

เป็นวัตถุหินขนาดเล็กที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ และส่วนใหญ่อยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) หรือก็คือบริเวณระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี


ดาวหาง (Comet)

เทหวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ มวลศูนย์กลางประกอบด้วยฝุ่น นำ้แข็ง และแก๊ส เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ แกนกลางจะระเหิดเป็นรัศมีของฝุ่นและก๊าซ เรียกว่าโคม่า (Coma) มองดูคล้ายหาง 


นอกจากนี้แล้ว ในคืนวันที่ 4 มีนาคม 2024 คืนเดียวกันนี้ ยังมีปรากฏการณ์ดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่โคจรเข้ามาใกล้โลกด้วยระยะห่างประมาณ 250 ล้านกิโลเมตร (ดาวหางนี้มีคาบการโคจร 71 ปี และจะโคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดในวันที่ 2 มิถุนายน 2024) หลายคนจึงคิดว่าแสงที่เห็นนั้นเป็นแสงของดาวหาง 12P/Pons-Brooks แต่ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยก็ออกมาชี้แจงว่าปรากฏการณ์ทั้ง 2 อย่างนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จึงทำให้ประชาชนสับสนได้ 


ส่วนดาวตกแสงสีออกเขียวนั้น อาจจะเป็นดาวตกดวงใหญ่ ตามที่คุณโจนาธาน แม็กโดเวลล์ (Jonathan McDowell) นักดาราศาสตร์แห่งศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด สมิธโซเนียน (Harvard Smithsonian Center for Astrophysics) จากสหรัฐฯ ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านแอคเคาท์เอ็กซ์ว่า “ชัดเจนอย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่ามันคือดาวตกดวงใหญ่มาก ๆ”


แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ก็น่าจะทำให้ใครหลายคน สามารถเรียกวัตถุที่ตกจากอวกาศได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น  


ที่มาข้อมูล ScienceAMNHDictionary

ที่มารูปภาพ Gettyimages, NASA, Space

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง