สมาคมส่งออกข้าวไทย เล็งปรับเพิ่มเป้าหมายปี 65 แตะ 8 ล้านตัน แซงเวียดนามอีกครั้ง อานิสงส์ "บาทอ่อน"
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวไทยในไตรมาส 2/2565 ยังมีแนวโน้มที่ดี ประเมินว่าปริมาณส่งออกจะใกล้เคียงไตรมาส1/2565 ที่ส่งออกได้ 2 ล้านตัน หรือ เฉลี่ยเดือนละ 7-7.2 แสนตัน แม้ในเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่มีวันหยุดยาว แต่คำสั่งซื้อและรับมอบข้าวยังมีต่อเนื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทยยังแข่งขันได้ดีในตลาดข้าวโลก คือ ค่าเงินบาทไทยยังอ่อนตัวและอ่อนค่าเกิน 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ราคาข้าวส่งออกของไทยใกล้เคียงข้าวเวียดนาม โดยขณะนี้ ราคาข้าวขาวไทยและเวียดนาม อยู่ที่เฉลี่ย 420 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวหอมมะลิเฉลี่ย 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่อย่างไรก็ตาม จากความต้องการข้าวโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียที่ยังเป็นตลาดนำเข้าหลักในช่วงนี้ ยังมีการเปิดประมูลและต้องการข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหารสูง อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ หรือ จีน รวมถึงกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ยังมีการสั่งซื้อข้าวต่อเนื่อง ทั้งอิรัก อิหร่าน รวมถึงซาอุดิอาระเบีย แม้พฤติกรรมคนพื้นเมืองนิยมบริโภคข้าวบาสมาติ แต่แรงงานภายในที่เข้าไปทำงานยังหาซื้อข้าวขาว ซึ่งก็เป็นโอกาสของข้าวไทยในอนาคตจากนี้
นายชูเกียรติ กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยส่งผลบวกต่อส่งออกข้าวไทย ที่จะทำให้ปี 2565 มีโอกาสส่งออกเกินเป้าหมาย จากเดิมตั้งไว้ 7 ล้านตัน เพิ่มเป็น 8 ล้านตัน ถือเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสองของโลก นำหน้าเวียดนามที่เฉลี่ยยังไม่เกิน 7 ล้านตัน และน่าจะเป็นปริมาณที่ไทยส่งออกได้สูงสุดรอบ 4 ปีนับจากปี 2561 ที่ไทยส่งออกถึง 11ล้านตัน แล้วลดลงในปีต่อมาเฉลี่ยเหลือ5-7 ล้านตัน ขณะนี้อินเดียยังเป็นประเทศผู้นำส่งออกข้าวของโลก เฉลี่ยประมาณ 20 ล้านตันต่อปี เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีและนาปรัง น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ รวมผลผลิตทั้งปี 32-33 ล้านข้าวเปลือก หรือ ประมาณ 19-20 ล้านตันข้าวสาร โดยแต่ละปีภายในประเทศบริโภครวม 10-11 ล้านตันข้าวสาร ที่เหลือเป็นการส่งออกและสต็อกในประเทศ
” จากที่สำรวจพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า ยังไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนยังตกต่อเนื่อง อย่างในภาคอีสานตอนนี้ปลูกนาปรัง เชื่อว่าจะได้ผลผลิตที่ดี จึงไม่มีผลต่อราคาข้าวกลางปีขยับสูงเหมือนช่วงเจอแล้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่จากต้นทุนที่สูงขึ้น และความต้องการข้าวส่งออกยังต่อเนื่อง อีกทั้งข้าวไทยยังได้รับความนิยม อาจมีผลต่อราคาข้าวกลางปีนี้ สูงขึ้นประมาณ 5% ส่งผลต่อราคาข้าวขาวส่งออก ขยับถึงเฉลี่ย 450 เหรียญสหรัฐต่อตัน และข้าวหอมมะลิเฉลี่ย 850-900 เหรียญสหรัฐต่อตัน ได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนนี้ ” นายชูเกียรติ กล่าว
นายชูเกียรติ กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยคือผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อและการใช้มาตรการแซงก์ชั่นระหว่างกัน อาจทำให้ประเทศผู้นำเข้าแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ก็เป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทย ประกอบกับรัฐบาลหลายประเทศที่เคยควบคุมโควต้านำเข้าหรือใช้วิธีการประมูลรัฐต่อรัฐ ได้ลดบทบาทลง โดยเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนและบริษัทเทรดดิ้ง เจรจาซื้อขายกันเอง แทนผ่านเจรจาโดยรัฐ เพียงรัฐเป็นผู้ดูแลปริมาณและเก็บภาษีนำเข้ามากกว่าเป็นผู้ปฎิบัติเอง ดังนั้น วิธีการขายข้าวแบบจีทูจีเชื่อว่าจากน่าอาจเลิกใช้ในอนาคต