รีเซต

โควิด-19 : นพ.ทวีศิลป์แจงไม่ได้ละเลยปัญหาคนฆ่าตัวตายช่วงโควิด ศบค. หาทางช่วยเหลือ

โควิด-19 : นพ.ทวีศิลป์แจงไม่ได้ละเลยปัญหาคนฆ่าตัวตายช่วงโควิด ศบค. หาทางช่วยเหลือ
บีบีซี ไทย
1 พฤษภาคม 2563 ( 17:13 )
90
โควิด-19 : นพ.ทวีศิลป์แจงไม่ได้ละเลยปัญหาคนฆ่าตัวตายช่วงโควิด ศบค. หาทางช่วยเหลือ

หลังจากถูกวิจารณ์อย่างหนักกรณีที่พูดถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของประชาชนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ว่า "ไม่ผิดจากความคาดหมาย" พร้อมกับระบุว่าจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายในวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ยังน้อยกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง วันนี้ (1 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จิตแพทย์และโฆษก ศบค. ได้ออกมากล่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายและยืนยันว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเก็บข้อมูลและพยายามหาทางช่วยเหลือ

"เมื่อวานนี้มีผู้สื่อข่าวถามกรณีการฆ่าตัวตายและผมได้ให้คำตอบไปในฐานะตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข แต่วันนี้ขอทำหน้าที่ในฐานะของจิตแพทย์คนหนึ่ง ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกท่าน ผมเองในฐานะจิตแพทย์มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในวิชาชีพของผม" นพ.ทวีศิลป์กล่าวในช่วงท้ายของการแถลงข่าวสถานการณ์ประจำวัน ซึ่งโฆษก ศบค.รายงานว่าในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 6 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต

ผู้เสียชีวิต 6 รายนี้นับเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบเกือบ 2 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. ในจำนวนนี้ 1 รายเป็นผู้ที่มีอาการป่วยและตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาหลังจากเดินทางไปตลาดนัดที่มีคนพลุกพล่าน ส่วนอีก 5 รายเป็นการค้นพบจากการตรวจหาเชื้อเชิงรุกในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา

ขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สะสม 2,960 ราย รักษาหายแล้ว 2,719 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 187 ราย และเสียชีวิต 54 ราย

"ไม่ผิดความคาดหมาย"

ในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (30 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวที่ถามถึงสถานการณ์และวิธีป้องกันการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นหลายกรณีในรอบเดือนที่ผ่านมาและหลายฝ่ายสันนิษฐานว่าอาจเป็นผลจากความเครียดในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออาชีพและรายได้ของประชาชน ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์ได้ตอบคำถามนี้ในเชิงข้อมูลว่าจำนวนการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในช่วงนี้ "ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดไปจากความคาดหมาย" และ "ยังไม่ถึงจุดที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง"

"ขอตอบคำถามนี้ในฐานะตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขและในฐานะที่ผมเองเป็นจิตแพทย์ด้วย เรื่องการฆ่าตัวตายนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สธ. และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงได้นำข้อมูลมาหารือกันในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กันบ่อยครั้ง...เราย้อนหลังดูข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบว่าสถานการณ์ในปีนี้น่าห่วงจริง ๆ และเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก"

"มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในปีนี้จะเพิ่มขึ้นด้วย การพยากรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ทำโดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดไปจากความคาดหมาย ซึ่งหน้าที่ของ สธ.ก็ต้องทำคล้าย ๆ กับการควบคุมโรคติดต่อนั่นคือเราต้องไปศึกษาและหาทางลดจำนวนการสูญเสียจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ บุคลากรทางสาธารณสุขต้องสังเกตสัญญาณความเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิต ประกอบกับการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดจะช่วยลดความสูญเสียได้"

"เราเคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ที่เรียกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นไปเป็น 8.3 ต่อแสนประชากร แต่ครั้งนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น เรายังหาทางป้องกันและทำให้ตัวเลขลดลงได้"

คำตอบของโฆษก ศบค.ในฐานะที่เป็นจิตแพทย์ ถูกหลายคนวิจารณ์ว่าเป็นคำตอบที่ไม่ละเอียดอ่อนต่อความสูญเสียและละเลยที่จะพูดถึงที่มาของความเครียดที่อาจเกิดขึ้นนั่นคือการไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จากรัฐบาลอย่างเหมาะสม

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Democracy Restoration Group - DRG เรียกร้องให้ปลด นพ.ทวีศิลป์ จากการเป็นโฆษก ศบค.) "เพื่อแสดงความรับผิดชอบคำพูด และการกระทำ ที่ไม่เห็นค่าของชีวิต และศักดิ์ศรีของประชาชน"

"ผมเข้าใจความรู้สึก"

เสียงวิจารณ์ดังกล่าวทำให้ นพ.ทวีศิลป์ ซึ่งเป็นจิตแพทย์และอดีตผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งเป็นสถาบันด้านจิตเวชของกรมสุขภาพจิต ตัดสินใจหยิบประเด็นนี้มาพูดถึงในตอนท้ายของการแถลงข่าวประจำวันด้วยการแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ประสบปัญหาและแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

"การป้องกันการฆ่าตัวตายเป็นภารกิจที่จิตแพทย์ทุกคนต้องหาทางช่วยเหลือ ผมทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานก็เข้าใจความรู้สึกและอยากให้ทุกคนไทยเห็นใจคนกลุ่มนี้ว่าเขามีความบีบคั้นต่าง ๆ อย่าไปบอกว่าเขาเรียกร้องความสนใจ แต่เขาร้องขอความช่วยเหลือเราอยู่ ผมเข้าใจดี และเราจะพยายามนำเรื่องนี้มาเรียนรู้และหาวิธีช่วยเหลือ ในฐานะโฆษก ศบค. (ขอชี้แจงว่า) เรารับฟังทุกเรื่องเพื่อนำไปหาทางช่วยเหลือ ผมจะพยายามทุกวิถีทางให้คนที่มีความทุกข์ในเรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือเยียวยา"

 

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าหน่วยงานด้านสุขภาพจิตจะจัดทีมช่วยเหลือเยียวยาซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศเข้าไปพูดคุยกับญาติของผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เพื่อรับทราบปัญหาและเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบมาตรการช่วยเหลือเยียวยา

ปี 63 การฆ่าตัวตายในไทยจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยทุกปี

จากเอกสารเผยแพร่ของกรมสุขภาพจิตเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ระบุว่า กรมสุขภาพจิตคาดการณ์ว่าในปี 2563 ตัวเลขการฆ่าตัวตายในประเทศไทยอาจสูงมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปีตามกลไกทางจิตวิทยาสังคมที่อยู่ในภาวะวิกฤต และปัจจัยด้านเศรษฐกิจจะมีบทบาทมากขึ้นและอัตราส่วนที่สูงขึ้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จ ปี 2561-2562 พบว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้นมีความสลับซับซ้อนและเกิดจากกลุ่มปัจจัยที่มีการซ้อนทับกัน โดยปัญหาที่เป็นปัจจัยร่วมที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ปัญหาความสัมพันธ์ รองลงมาเป็น การใช้สุรา โรคทางกาย โรคจิตเวช และปัญหาเศรษฐกิจ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง