รีเซต

เตือน 9 จังหวัดภาคใต้ ระวังฝนตกหนัก-น้ำท่วมฉับพลัน 14-18 พ.ย. 2566

เตือน 9 จังหวัดภาคใต้ ระวังฝนตกหนัก-น้ำท่วมฉับพลัน 14-18 พ.ย. 2566
TNN ช่อง16
13 พฤศจิกายน 2566 ( 14:00 )
73
เตือน 9 จังหวัดภาคใต้ ระวังฝนตกหนัก-น้ำท่วมฉับพลัน 14-18 พ.ย. 2566

สทนช. ประกาศเตือน 9 จังหวัดภาคใต้เฝ้าระวังฝนเพิ่มขึ้น-ฝนตกหนัก-น้ำท่วมฉับพลัน 14-18 พฤศจิกายน 2566 


สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยประกอบกับมี หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ทำให้บริเวณภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) โดยมีพื้นที่เสี่ยงบริเวณภาคใต้ ต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 14 – 18 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้ 


1. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก


จังหวัดชุมพร (อำเภอเมืองชุมพร ปะทิว และหลังสวน) 

จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ) 

จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ท่าชนะ ไชยา พุนพิน กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก บ้านนาสาร เกาะสมุย และเกาะพะงัน) 

จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล นบพิตำ ลานสกา ท่าศาลา ปากพนัง ชะอวด และหัวไทร) 

จังหวัดพัทลุง (อำเภอบางแก้ว ป่าบอน เขาชัยสน อำเภอเมืองพัทลุง และปากพะยูน) 

จังหวัดสงขลา (อำเภอระโนด สะทิงพระ สิงหนคร จะนะ สะเดา และเทพา) 

จังหวัดปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี หนองจิก และแม่ลาน) 

จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส บาเจาะ ยี่งอ เจาะไอร้อง ตากใบ สุไหงโก-ลก และสุคิริน) 

จังหวัดยะลา (อำเภอเมืองยะลา รามัน ยะหา และบันนังสตา)


2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80


จังหวัดระนอง และสุราษฎร์ธานี และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้


1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง

3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์



ข้อมูลจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง