รีเซต

ศก.ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว! ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ค.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือนหลังโควิดคลี่คลาย

ศก.ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว! ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ค.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือนหลังโควิดคลี่คลาย
ข่าวสด
7 สิงหาคม 2563 ( 15:20 )
78

 

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 3 ชี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ประชาชนยังกังวลโควิด-การจ้างงาน จี้ครม.ใหม่ทุ่มเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านโพลล์วันแม่เผย เงินสะพัด 9 พันกว่าล้าน ติดลบ 28 % ในรอบ 12 ปี

 

ศก.ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว - นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. 2563 อยู่ที่ระดับ 50.1 เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมิ.ย. ที่อยู่ที่ระดับ 49.2 นับเป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ก็ยังอยู่ในช่วงระดับต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์นับแต่ทำการสำรวจ 21 ปี 10 เดือนนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2541 เป็นต้นมา เป็นสถานการณ์ที่ต่ำว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งการที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย และมาตรการการเยียวยาของภาครัฐ

 

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 42.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการงานทำอยู่ที่ 48.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 59.3 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ แต่ก็ยังต่ำอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 และอยู่ในช่วงต่ำสุดในรอบ 21 ปี สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำยังไม่กลับมาเป็นปกติ เพราะยังมีความกังวลว่าการระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาได้ในรอบ 2 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานถดถอยลง

 

“ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสที่ 2 แต่ก็ไม่ได้ดีกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และสถานการณ์ที่จะกลับมาเป็นปกติยังห่างไกลแม้ว่าจะดีขึ้นก็ตาม คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายและมีความกังวลว่าตัวเองจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่และไม่มั่นใจเศรษฐกิจจะฟื้นจริงหรือไม่”

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่จากปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่สูง ทำให้ไม่เงินพอที่จะซื้อสิ่งของหรือใช้จ่ายต่างๆ ถือว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย เช่น การชะลอซื้อบ้านซื้อรถ

 

นอกจากนี้ ดัชนีทางการเมืองซึ่งปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของการปรับครม. จะทำให้สถานการณ์การเมืองนิ่งหรือไม่ แม้จะเป็นการปรับในส่วนของพรรคแกนนำรัฐบาล และการแสดงความเห็นต่อรัฐบาล ซึ่งขณะนี้มีการประท้วงจากกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา ที่เข้ามาชุมนุมทางการเมือง ซึ่งสัปดาห์หน้าจะเปิดเทอมเชื่อว่ากิจกรรมการทางเมืองจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคยิ่งกังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองผสมผสานกับสถานการณ์โควิด-19

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ครม. ใหม่จะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจทั้งรมว.คลัง รมว.พลังงาน ซึ่งรู้ปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างดีจะต้องเร่งการใช้งบประมาณในช่วง ไตรมาส 3 อย่างน้อย 2-3 แสนล้านบาท ทั้งงบกระตุ้นเศรษฐกิจและงบค้างท่อปีงบประมาณ และในไตรมาสที่ 4 ใช้งบประมาณขาดดุลอีก 2-3 แสนล้านบาท พร้อมทะลุปัญหาซอฟต์โลนให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ เพื่อลดปัญหาการเลิกจ้าง เพราะหากเศรษฐกิจฟื้นไม่ทันจะเห็นการปลดคนงานในไตรมาส 3-4 และจะหนักขึ้นในปลายปี ประมาณ 1-2 ล้านคน ก็ยิ่งจะฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ปรับตัวลดลงได้ ซึ่งหากรัฐบาลไฟเขียวให้สามารถจ้างแรงงานเป็นรายชั่วโมงได้ก็จะไม่เห็นการปลดคนงานมาก

 

สำหรับผลการสำรวจพฤติกรรมของประชานในวันแม่ พบว่า มีการใช้จ่ายเงิน 9,984 ล้านบาท ลดลง 28% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สำรวจมา 12 ปี ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนมีการจับจ่ายลดลงเพราะต้องประหยัดเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี การระบาดของโควิด-19 ภาระหนี้สิน ความมั่นคงในอาชีพ โดยเฉพาะการจ้างงาน ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นมีการกู้เงินนอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะโรงรับจำนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง