Editor’s Pick: ‘จีนยกแร่หายากเป็นอาวุธลับ ในสงครามการค้าเดือด’

◾️◾️◾️
🔴 สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เดือด
ก่อนหน้านี้ ในปี 2019 ระหว่างสงครามการค้าครั้งแรกของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับจีนที่ยังไม่ครบรอบหนึ่งปี
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เดินทางเยือนโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองกานโจวทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ พร้อมประกาศอย่างชัดเจนว่า “แร่หายากคือทรัพยากรยุทธศาสตร์ที่สำคัญ”
แต่ใครจะคิดว่าอีกเกือบหกปีต่อมา คำกล่าวนั้นกลายเป็นจริงอย่างชัดเจน แร่หายากกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือทรงพลังที่สุดของจีนในสงครามการค้าระลอกใหม่กับสหรัฐฯ โดยแร่เหล่านี้จำเป็นต่อเทคโนโลยีล้ำสมัยตั้งแต่สมาร์ตโฟน รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ระดับสูง ซึ่งทรัมป์ไม่สามารถตอบโต้ได้ง่ายเหมือนกรณีภาษีศุลกากร
◾️◾️◾️
🔴 แร่หายากคืออะไร?
แร่หายาก (Rare Earths) เป็นธาตุ 17 ชนิดที่พบได้ทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐฯ เอง แต่กระบวนการสกัดและแปรรูปนั้นยุ่งยาก มีต้นทุนสูง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศจำกัดการส่งออกแร่หายาก 7 ชนิด ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเป็นการตอบโต้ต่อมาตรการภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
โดยกระทรวงระบุเมื่อวันที่ 4 เมษายนว่า การควบคุมครั้งนี้ครอบคลุมแร่หายาก 7 ชนิด ได้แก่ ซามาเรียม (Samarium) แกโดลิเนียม (Gadolinium) เทอร์เบียม (Terbium) ดิสโพรเซียม (Dysprosium) ลูทีเชียม (Lutetium) สแกนเดียม (Scandium) และอิตเทรียม (Yttrium)
อย่างไรก็ตาม แร่หายากยอดนิยมอย่าง นีโอไดเมียม (Neodymium) และ พราเซโอไดเมียม (Praseodymium) ซึ่งใช้ผลิตแม่เหล็กประสิทธิภาพสูง ยังไม่อยู่ในรายชื่อควบคุม โดยนักวิชาการระบุว่า จีนอาจตั้งใจเว้นไว้เพื่อใช้เป็น “ไพ่ต่อรอง” ในอนาคต
จีนไม่ได้ออกคำสั่งห้ามส่งออก แต่การส่งออกแร่หายากจากนี้จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยพิจารณาว่า “ใครเป็นผู้ซื้อ” และ “ซื้อไปเพื่ออะไร” ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องเข้าสู่กระบวนการรับรองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุบริสุทธิ์หรือแม้แต่แม่เหล็กที่มีแร่หายากเพียงเล็กน้อยก็ตาม ซึ่งเคยส่งผลให้ปริมาณส่งออกโลหะอื่น ๆ ดิ่งลงจนเหลือศูนย์ในอดีตมาแล้ว
ตามข้อมูลจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปัจจุบัน จีนผลิตแร่หายากได้ 61% ของปริมาณที่ขุดได้ทั่วโลก แต่มีอำนาจเหนือกว่าในกระบวนการแปรรูปด้วยสัดส่วนถึง 92% ของการผลิตระดับโลก
แม่เหล็กแร่หายากนี้คือหัวใจของมอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กประสิทธิภาพสูง ที่ใช้ในทั้งสมาร์ตโฟน เครื่องยนต์รถยนต์ เครื่องบินไอพ่น เครื่องตรวจ MRI และแม้แต่อาวุธสงคราม
◾️◾️◾️
🔴 จีนกำลังแสดงให้เห็นถึงพลังเศรษฐกิจที่น่าเกรงขาม
Justin Wolfers ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า “จีนกำลังแสดงให้เห็นถึงพลังทางเศรษฐกิจที่น่าเกรงขาม ด้วยการโจมตีแบบเฉียบคมและแม่นยำต่ออุตสาหกรรมอเมริกันในจุดที่เจ็บปวดที่สุด”
นักวิเคราะห์ชี้ว่า นโยบายใหม่นี้ไม่เพียงส่งเสริมความมั่นคงแห่งชาติของจีน แต่ยังเพิ่มมูลค่าทางยุทธศาสตร์ของการลงทุนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมแร่หายากของจีนอีกด้วย
◾️◾️◾️
🔴 จีนเริ่มใช้แร่หายากเป็นทรัพย์สินตั้งแต่ตอนไหน?
จีนเริ่มต้นสกัดแร่หายากตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แต่การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นจริงในยุค 1970 โดยอาศัยแรงงานราคาถูก มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ต่ำ และการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป
ในปี 1992 อดีตผู้นำจีน เติ้ง เสี่ยวผิง เคยกล่าวไว้ว่า “ตะวันออกกลางมีน้ำมัน แต่จีนมีแร่หายาก” ซึ่งวันนี้คำกล่าวนั้นกลายเป็นจริง จีนกลายเป็นเจ้าโลกในอุตสาหกรรมแร่หายาก
นับตั้งแต่ปี 2020 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้สนับสนุนเงินกว่า 439 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 14,500 ล้านบาท เพื่อเร่งสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ และตั้งเป้าสร้างระบบการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่เหมืองจนถึงแม่เหล็ก ให้รองรับความต้องการของกลาโหมภายในปี 2027
ซีอีโอของ USA Rare Earth กล่าวว่าข้อจำกัดของจีนในรอบนี้เน้นไปที่ "แร่หายากชนิดหนัก" (Heavy Rare Earths) ซึ่งจีนมีอำนาจควบคุมถึง 98% ของตลาดโลก และนี่คือหมากที่ดีที่สุดของจีน ในเกมการเมืองการค้า
นอกจากนี้ จีนยังควบคุมการส่งออกแม้ในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่เหล่านี้ในปริมาณน้อย ทำให้บริษัทต่างชาติประสบความล่าช้าในการดำเนินการ เนื่องจากต้องปรับตัวกับระบบใหม่
◾️◾️◾️
🔴 สหรัฐฯ เครียดหนัก ต้องเร่งพัฒนาตาม
บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ อย่าง Phoenix Tailings กำลังพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูปแร่หายากแบบ “ปลอดของเสียและไม่มีการปล่อยก๊าซ” โดยอาศัยวัตถุดิบจากภายในประเทศ แคนาดา และออสเตรเลีย
นอกจากนี้ USA Rare Earth ยังวางแผนสร้างโรงงานผลิตแม่เหล็กแร่หายากในรัฐเท็กซัส ที่สามารถผลิตได้ถึง 5,000 ตันต่อปี รวมถึงครอบครองแหล่งแร่หายากชนิดหนักที่สำคัญในรัฐเท็กซัส
อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูป ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งเงินทุนและเวลา
หากสหรัฐฯ ต้องการสู้กับจีนในเรื่องแร่หายากอย่างจริงจัง สหรัฐฯ ก็จำเป็นต้องปลดล็อกทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศและสร้างระบบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพราะการควบคุมการส่งออกแร่หายากของจีนครั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นกลยุทธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สามารถเปลี่ยนทิศทางห่วงโซ่อุปทานโลกไปในทิศทางใหม่ได้