รีเซต

ไขคำตอบหมูไทยแพง ? ลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ หนุนห่วงโซ่ผลิต "หมูไทย" เติบโต

ไขคำตอบหมูไทยแพง ? ลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์  หนุนห่วงโซ่ผลิต "หมูไทย" เติบโต
TNN ช่อง16
11 เมษายน 2568 ( 11:23 )
9

จากข้อสงสัยจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่า "เหตุใดราคาเนื้อหมูในประเทศ จึงสูงกว่าราคาเนื้อหมูต่างประเทศ" โดยเฉพาะบราซิล 

จึงสั่งการให้ตรวจสอบโครงสร้างการผลิตเนื้อหมูตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่, คนกลางผู้รวบรวมวัตถุดิบ, โรงงานอาหารสัตว์, เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไปจนถึงการจำหน่าย เพื่อให้รู้ปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำไปกำหนดมาตรการแก้ไขให้ตรงจุด ช่วยลดต้นทุนเกษตรกร 


ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูระบุว่า ปัจจุบันราคาเนื้อหมูไทยเป็นไปตามกลไกตลาด โดยขึ้น-ลงตามต้นทุนการผลิต ซึ่งมีวัตถุดิบพืชอาหารสัตว์ในประเทศ ที่มีราคาแพงกว่าต่างประเทศ ถือเป็นต้นทุนสำคัญ ดังนั้นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด จึงเป็นเรื่องของการทบทวนโครงสร้างราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และขจัดอุปสรรคการจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ ลง 


วันนี้จะฉายภาพให้เห็นถึงกรณีที่มีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศจริง จะส่งผลกระทบต่อภาคการเลี้ยงหมูไทยที่มีมูลค่าร่วม 2 แสนล้านบาทต่อปี จะทำลายราคาและกลไกตลาดอย่างไร เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องล้มหายตายจากและเลิกกิจการไปในที่สุด 


เมื่อไม่มีภาคปศุสัตว์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและปลูกพืชอาหารสัตว์นับล้านคน จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร และต้องพึ่งพาอาหารจากต่างประเทศตลอดไป 




มีคำยืนยันมาจาก "นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์" อย่างชัดเจนว่า ไม่มีแนวคิดนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ 

แต่รู้สึกสงสัยถึงราคาเนื้อหมูในประเทศที่สูงกว่าราคาในต่างประเทศ และอาจกระทบผู้บริโภค 

จึงพยายามหาแนวทางแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู, เกษตรกรผู้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ และผู้บริโภคได้ประโยชน์ทุกฝ่าย 

ขณะนี้ได้สั่งการให้อธิบดีกรมการค้าภายในตรวจสอบโครงสร้างทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างครบวงจร 


“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่การผลิตหมูมีต้นทุนสูง มีปัญหาตรงไหนก็ต้องแก้ไขทันที เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ และประชาชนสามารถบริโภคหมูได้ในราคาถูก ต้องมาดูเรื่องต้นทุน ที่ต้องแก้อย่างครบวงจร และแก้ทั้งโครงสร้าง ทั้งการเลี้ยง ราคาอาหารสัตว์ และใครเป็นคนจำหน่ายในแต่ละช่วง รวมทั้งลูกพันธุ์หมู อาหารสัตว์ ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน เพราะอาหารเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาหมู ถ้าราคาต่างกันนิดเดียวทำไมราคาหมูถึงสูงขึ้น ดังนั้นการแก้ไขจะต้องมีอาหารอื่นมาใช้แทนได้หรือไม่” นายพิชัยกล่าว



เนื้อหมูเป็นโปรตีนยอดนิยมประเภทหนึ่งของคนไทย มีอัตราการบริโภคอยู่ที่ประมาณ 22 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่ห่วงโซ่การผลิตหมูเป็นห่วงโซ่ที่ใหญ่มาก มีจำนวนเกษตรกรประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านคน ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหมูในฟาร์มราว 2 แสนฟาร์ม 


ในห่วงโซ่การผลิตนี้ ยังมีเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่, พ่อค้าพืชไร่, โรงงานอาหารสัตว์ เป็นต้นน้ำของการเลี้ยงหมูด้วย โดยเกษตรกรปลูกพืชไร่ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลายข้าว มันสำปะหลัง และกากถั่วจากโรงงานสกัดน้ำมัน รวมอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมด ทั้งนี้ "วัตถุดิบอาหารสัตว์" ถือเป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยงหมู คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 65 


ภาพรวมผลิตหมูขุนของไทย


จำนวน 22 ล้านตัว/ปี

มูลค่า 176,000 ล้านบาท


ห่วงโซ่ผลิตหมูของไทย


-ข้าวโพด 1.5 ล้านตัน 

-มันสำปะหลัง 0.5 ล้านตัน 

-ปลายข้าว 1.5 ล้านตัน 

-กากถั่วเหลือง (โรงงานสกัด) 1.5 ล้านตัน 


รวม 5.5 ล้านตัน/ปี

มูลค่า 72,750 ล้านบาท


เปรียบเทียบราคาพืชอาหารสัตว์ 

-ข้าวโพด 

ไทย 9 -12 บาท/กก. 

บราซิล 4-6 บาท/กก. 


-กากถั่วเหลือง

ไทย 20 บาท/กก.

บราซิล 11 บาท/กก.


ในภาพรวมประเทศไทยผลิตหมูขุนได้ปีละประมาณ 22 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่า 176,000 ล้านบาท หากรัฐบาลไม่รักษาอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูให้คงอยู่เพื่อผลิตอาหารให้คนไทย ก็จะกระทบไปถึงผลผลิตของกลุ่มผู้ปลูกพืชไร่ภายในประเทศที่จะไม่สามารถขายผลผลิตได้ ประกอบด้วยข้าวโพด 1.5 ล้านตัน มันสำปะหลัง 0.5 ล้านตัน ปลายข้าว 1.5 ล้านตัน และกากถั่วเหลือง จากโรงงานสกัด 1.5 ล้านตัน รวมจำนวน 5.5 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าอีกกว่า 72,750 ล้านบาท หากคิดเป็นผลกระทบต่อมูลค่าตลาดรวมของห่วงโซ่ผลิตหมูของไทยก็ร่วม 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว 


ดังนั้นหนทางที่จะรักษาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูให้คงประกอบอาชีพต่อไปได้คือ 

การช่วยดูแลต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เหมาะสม และมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ ไม่ใช่มีราคาที่สูงกว่าตลาดโลก

เช่น ข้าวโพดไทย ราคากิโลกรัมละ 9-12 บาท ขณะที่บราซิลราคา 4-6 บาท หรือกากถั่วเหลืองที่ไทยราคากิโลกรัมละ 20 บาท แต่บราซิลเพียง 11 บาทเท่านั้น 






นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคาหมูในประเทศว่า จะต้องลดต้นทุนการเลี้ยงหมูของเกษตรกร เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูของไทยสูง เกิดจากวัตถุดิบในประเทศราคาสูง เพราะภาครัฐใช้แนวทางพยุงราคาพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดราคา 9-12 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่บราซิลและสหรัฐฯ มีราคาเพียง 4-6 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนกากถั่วเหลือง ก็พยุงราคาที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ในต่างประเทศราคาอยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งของไทยแพงกว่าเท่าตัว จึงไม่ได้สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง 


นอกจากนี้ภาครัฐต้องยกเลิกสัดส่วนนำเข้าพืชอาหารสัตว์จากต่างประเทศ เช่น การนำเข้าข้าวสาลีที่กำหนดให้นำเข้าได้เพียง 1 ใน 3 ของผลผลิตข้าวโพดในประเทศ ทำให้เกิดปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและหมดโอกาสใช้วัตถุดิบราคาถูก ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องสนับสนุนให้ปลูกพืชอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่


“สิ่งที่จะทำให้ลดต้นทุนการเลี้ยง คือจะต้องทำราคาวัตถุดิบ โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องไปตรวจสอบราคาพืชผลทางการเกษตร จะต้องไม่มีการพยุงราคา ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงแม้จะนอกฤดูกาลก็ตาม ดังนั้น อยากให้มีการนำเข้า เพื่อที่จะลดต้นทุน ซึ่งที่ผ่านมาการนำเข้ามีอัตราสัดส่วน 3 ต่อ 1 นั่นคือ ซื้อภายในประเทศ 3 แต่นำเข้าได้เพียง 1 ส่วน จึงต้องจัดการเรื่องนี้ให้ดี” นายสิทธิพันธ์ กล่าว


นโยบายรัฐมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ โดยจะต้องให้ความสำคัญกับคนในชาติตลอดทั้งห่วงโซ่ ไม่ทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และไม่ทำลายเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ รวมถึงควรสนับสนุนให้หมูไทยพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกอีกชนิดหนึ่ง เพื่อช่วยขยายเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ซึ่งการปกป้องและส่งเสริมเกษตรผู้ผลิตอาหารเช่นนี้ ก็คือการรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศให้คงอยู่ เป็นผลดีต่อผู้บริโภคในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง