ทำความรู้จัก CBDC สกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มใช้กัน
จากข่าวที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ว่าจ้างบริษัทด้านเทคโนโลยีของเยอรมัน Giesecke+Devrient (G+D) เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาโปรเจกต์สกุลเงินดิจิทัลตัวต้นแบบของธนาคารกลาง (CBDC) วันนี้ trueID จะพาไปดูกันว่า CBDC คืออะไร
CBDC คืออะไร
CBDC (Central Bank Digital Currency) ถือเป็น "สกุลเงิน" ในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งแนวคิดได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงจาก Bitcoin มีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ซึ่งต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอย่าง Bitcoin Ether หรือ Ripple ที่ออกโดยภาคเอกชน และมีมูลค่าผันผวนจากการใช้เพื่อเก็งกำไร จึงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
CBDC สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
- สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC)
ออกให้สถาบันการเงินใช้ ในการชำระธุรกรรมระหว่างกันในปริมาณมากๆ อย่างที่ธนาคารกลางแคนาดา สิงคโปร์ และฮ่องกง ได้ทดสอบ
ประเทศไทย ก็เป็นแบบ Wholesale ทดสอบจบไปแล้วครบ 3 เฟส โดยเฟสที่ 3 คือการชำระธุรกรรมข้ามประเทศ ระหว่างไทย -ฮ่องกง
- และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC)
ออกเพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจใช้ชำระธุรกรรมรายย่อยระหว่างกัน อย่างที่ธนาคารกลางจีน และธนาคารกลางสวีเดนกำลังทดสอบ
Retail CBDC ยังมีแยกย่อยไปอีก 2 แบบ คือ "Direct Model" หรือประชาชนมีบัญชีโดยตรงกับธนาคารกลาง และ "Indirect Model" หรือสถาบันการเงินตัวแทนเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับธนาคารกลาง
แต่ไม่ว่าจะเป็น Retail แบบไหน ผู้ใช้งานก็จะต้องมี “wallet” กระเป๋าเงินบนสมาร์ทโฟนหรือบนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้เก็บกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ ในการใช้ไขรหัสเข้าถึง Retail CBDC
ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างบล็อกเชน (blockchain) ที่มีความปลอดภัยและสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งาน ขณะที่เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดบทบาทตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ธนาคารกลางทั่วโลกจึงหันมาศึกษาความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน และการออกใช้ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะเป็นตัวแทนของเงินได้จริง ๆ
ทำไมธนาคารกลางต้องออก CBDC?
เพราะธนาคารกลางต้องการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน นอกจากนี้ ก็เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด และลดความเสี่ยงในระบบการชำระเงินจากการพึ่งพิงเอกชนมากเกินไป ซึ่งการผูกขาดนี้จะเห็นในประเทศที่คนไม่ค่อยใช้เงินสดกันแล้ว อย่างเช่น การใช้ e-krona ของประเทศสวีเดน
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก เริ่มศึกษา CBDC กันแล้ว เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกการเงิน ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจะมาเริ่มต้นศึกษาก็คงไม่ทัน แต่การเตรียมความพร้อมคือทางออกที่ดีกว่าการนิ่งเฉย หรือปิดหูปิดตา
การตื่นตัวเรื่อง CBDC ของธนาคารกลางทั่วโลก
นอกจากประเทศจีนที่ประกาศใช้เงินดิจิทัลหยวนสำหรับประชาชนอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อช่วงต้นปี 2563 ยังมีหลายประเทศที่กำลังเดินหน้าศึกษาและทดลองเรื่องนี้
อาทิ การทดสอบการใช้ e-krona ของประเทศสวีเดน การออกแนวทางการศึกษาและออกแบบอย่างธนาคารกลางอังกฤษและแคนาดา โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งได้ริเริ่ม "โครงการอินทนนท์" ตั้งแต่ปี 2560
เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ของการใช้ CBDC ในภาคสถาบันการเงิน รวมถึงมีการทดลองการโอนเงินข้ามประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง ซึ่งผลการทดสอบและองค์ความรู้ในการทำโครงการฯ เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของไทยในอนาคตที่ต้องให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพการเงินและการสร้างนวัตกรรมที่สนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน
โครงการอินทนนท์กับการต่อยอดสู่ภาคธุรกิจเอกชน
หลายคนคงจำได้ถึงการเปิดตัว Libra สเตเบิ้ลคอยน์ ของเอกชนที่โด่งดังเป็นพลุแตกเมื่อกลางปี 2562 ที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกตื่นตัวยิ่งขึ้นและเริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนา CBDC สำหรับรายย่อยมากขึ้น โดย ธปท. อยู่ระหว่างศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบต้นแบบ CBDC ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน
ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดการพัฒนาจากโครงการอินทนนท์ เพื่อศึกษารูปแบบ ผลกระทบ และข้อจำกัดในการนำ CBDC ไปใช้ในภาคเอกชน โดยเริ่มจากการเชื่อมต่อระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่างบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน
โดยมีบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวร่วมทดสอบ อย่างไรก็ดี การนำระบบต้นแบบมาปรับใช้จริงในวงกว้างนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาและพิจารณาผลกระทบในมิติอื่น ๆ อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมายเสถียรภาพของระบบ ความปลอดภัยในการใช้งาน และความพร้อมด้านเทคโนโลยีของผู้ใช้ เป็นต้น
ประชาชนกับ CBDC ในอนาคต
การพัฒนาเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และต้องพิจารณาให้รอบด้าน ซึ่งยากที่จะสามารถตอบได้ว่าเมื่อใดเราจะมี CBDC ใช้ เพราะความพร้อมอาจไม่ขึ้นอยู่กับ ธปท. เพียงฝ่ายเดียว
แต่ต้องไปทั้งองคาพยพ ในด้านความพร้อมของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง
ข้อมูล : BOT , efinancethai , wikipedia
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ย้อนดูราคา "บิทคอยน์" ราชาแห่ง cryptocurrency
รวม ราคาน้ำมัน⬆ ราคาทอง⬇ ราคาบิตคอยน์ (ฺBitcoin)⬆ ตลาดหุ้น⬇ อัตราแลกเปลียนค่าเงิน ล่าสุด
'บิตคอยน์' หรือสกุลเงินดิจิทัลคืออะไร
altcoin คืออะไร! cryptocurrency ที่มีมากกว่า บิตคอยน์