'บิตคอยน์' หรือสกุลเงินดิจิทัลคืออะไร
บิตคอยน์ หรือ BTC ถูกจัดประเภทว่าเป็นสกุลเงินดิจิตอล, สินทรัพย์ดิจิตอล และ คริปโตเคอเรนซี บิตคอยน์เป็นช่องทางใหม่ของการโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตไปทุกที่ในโลกใบนี้ การใช้บิตคอยน์ทำให้สามารถส่งเงินจากอย่างไม่มีตัวกลาง กล่าวคือผู้ส่งสามารถส่งตรงไปถึงผู้รับได้เลย โดยไม่ต้องมีองค์กร อย่างธนาคาร หรือ เพย์เมนท์ เกตเวย์มาเป็นตัวกลาง ทำให้การส่งบิตคอยน์เร็วกว่าและถูกกว่า โดยสกุลเงินดิจิตอลมีหลายแบรนด์บนโลกนี้แต่ที่บิตคอยน์ ดังกว่าใครเพราะว่าเป็นพี่ใหญ่ในวงการ เกิดก่อน ต่อสู้กับระบบการเงินแบบดั้งเดิมมาก่อน เกิดในปี 2552 นั่นเอง
อ่าน เทรด Forex พอร์ตฟ้า กำไรจริง หรือ สิ่งลวงตา
บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2552 โดยผู้ที่ไม่ประสงค์ออกนามหรือกลุ่มคนที่ไม่ประสงค์ออกนาม โดยใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ เขาหรือกลุ่มคนเหล่านี้ได้สร้างระบบเงินอิเล็กโทรนิคที่มีความกระจายศูนย์อย่างสมบูรณ์ โดยไม่มีเซิร์ฟเวอร์กลาง หรือ ผู้มีอำนาจใด ๆ อยู่เบื้องหลัง ข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ จะไม่ได้ถูกเก็บอยู่ในที่ใดที่หนึ่งหรือเป็นขององค์กรใดองค์กรนึง ทุกคนในระบบจะเป็นเจ้าของข้อมูลร่วมกัน
นากาโมโตะได้มอบโค้ดที่เขียนขึ้นมาให้กับชุมชนของบิตคอยน์ทั้งหมด จากนั้นก็หายตัวไปอย่างลับ ๆ นากาโมโตะยังสร้างบิตคอยน์ขึ้นมาเพื่อเป็นสิ่งที่ใช้ตอบโต้กับวิกฤตการเงินในปี 2551 หลังเหตุการณ์การยึดวอลล์สตรีทที่ธนาคารได้ใช้เงินของผู้กู้ยืมอย่างในทางที่ผิดและปรับค่าธรรมเนียมอย่างไร้เหตุผล
ปัจจุบันมีอายุมากกว่า 10 ปี และถูกขนานนามว่า “ราชาแห่งวงการคริปโต” แต่ถึงกระนั้น บิตคอยน์ ก็ยังไม่ได้ถูกรับรองว่าเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็มีประเทศอื่นอย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่บิตคอยน์ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้อย่างถูกกฎหมาย
บิตคอยน์ (bitcoin) คือ ต้นกำเนิดของเทคโนโลยีบล็อกเชน
Blockchain คือ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทางการเงิน และสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ หรือการที่จะนำเงินออกมาจะต้องผ่านการยืนยันจากหลายฝ่ายตามที่ Blockchain ได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการกระจายศูนย์ข้อมูลธุรกรรมไปไว้หลายที่เพื่อสร้างปลอดภัย และมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันได้มี บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Thailand Blockchain Community Initiative เพื่อสร้างระบบ Blockchain สำหรับภาคธนาคารใช้งานร่วมกันทั้งหมด 22 ธนาคาร ยกตัวอย่างธนาคารที่ก่อตั้ง ทั้ง 6 คือ ธนาคารพาณิชย์ไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทย
บิตคอยน์ ยังเหลือให้ขุดอีกประมาณ 3 ล้าน BTC
บิตคอยน์ ถูกจำกัดไว้ที่ 21 ล้าน BTC บนโลกนี้ โดยซาโตชิ กำหนดให้การขุดนั้นยากขึ้นเรื่อย ๆ จากที่ปีแรกขุดได้ง่าย จึงมีเงินบิตคอยน์ออกสู่ตลาด 50 บิตคอยน์ทุก 10 นาที หรือ 300 บิตคอยน์ต่อชั่วโมง คิดเป็น 7,200 บิตคอยน์ต่อวัน หรือ 2.6 ล้านบิตคอยน์ต่อปี
การขุดบิตคอยน์ เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นเมื่อมีการทำธุรกรรมบิตคอยน์และมีการเพิ่มบล็อกเข้าไปในบล็อกเชน ด้วยเงินรางวัลจากการแก้สมการทางคณิตศาตร์ตอนเพิ่มบล็อกเข้าไปในบล็อกเชนนั้น เป็นเหรียญบิตคอยน์ใหม่ของระบบ พูดง่าย ๆ คือ เงินรางวัลจากการขุดคือเหรียญใหม่ของระบบบิตคอยน์ โดยการขุดนั้นต้องใช้พลังงานค่อนข้างสูงเพราะต้องแก้สมการที่ระบบสร้างขึ้นมา โดยการแก้สมการจะแก้โดยวิธีสุ่มคำตอบไปเรื่อย ๆ เท่านั้น เมื่อนักขุดสามารถแก้สมการได้ บล็อกก็จะถูกเพิ่มเข้าไปในบล็อกเชน และนักขุดก็จะได้รับรางวัล
บิตคอยน์ถูกออกแบบให้ออกสู่ตลาดลดลงครึ่งหนึ่งทุก 4 ปี ดังนั้น มันจะถูกขุดจนครบ 21 ล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2140 หรือปี พ.ศ. 2683
สถิติสูงสุดของบิตคอยน์อยู่ที่ 650,000 บาทต่อ 1 BTC
ราคาบิตคอยน์เคยขึ้นไปทำ All Time High ในเดือน ธ.ค.2560 เกือบ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อบิตคอยน์ หรือราว 650,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น 32.54 บ./ดอลลาร์) ก่อนจะดิ่งลงมาตลอดปี 2561 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 ณ ขณะนี้อยู่ที่ 10,130.30 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 317,878.68 บาทเท่านั้น (ซึ่งราคาจะผันผวนและเปลี่ยนแปลงเร็วมากในรอบ 24 ชั่วโมง)
โดยราคาบิตคอยน์เคยต่ำสุดอยู่ที่ 9,214 ดอลลาร์สหรัฐต่อบิตคอยน์ หรือ 299,823.56 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น 32.54 บ./ดอลลาร์)
จะเห็นได้ว่าราคาบิตคอยน์ผันผวนสูงมากขึ้นแรง-ลงแรง ไม่มีซิลลิ่ง-ไม่มีฟลอร์ เหมือนกับตลาดหุ้นที่จำกัดไว้ไม่เกิน 30% ของราคาปิดในวันก่อนหน้า ซึ่งช่วยลดความผันผวนได้ในระดับหนึ่ง
บิตคอยน์ เป็น “สินทรัพย์” ประเภทที่ “เสี่ยงสูงมากที่สุด”
บิตคอยน์มีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถทำให้ราคาตกต่ำได้ ที่สำคัญที่สุดคือ หากรัฐบาลของประเทศสำคัญประเทศใดประเทศหนึ่งประกาศแบนหรือควบคุมธุรกรรมบิตคอยน์ นอกจากนี้แล้ว หากเครือข่ายเทคโนโลยีบิตคอยน์เกิดการแตกเป็นหลายแขนงและพัฒนาไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน อาจส่งผลให้ราคาตกได้ และท้ายที่สุด หากมีสกุลเงินดิจิทัลเป็นคู่แข่งเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากสกุลเงินนั้นได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ อาจทำให้บิตคอยน์สูญเสียที่ยืนในตลาดได้
บิตคอยน์ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมไม่ได้ และต่างจากหุ้นที่จะมีหลายวิธีประเมินมูลค่า ไม่ว่าจะเป็น P/E ,DCA หรือ SOTP เป็นต้น ส่วนบิตคอยน์ ไม่มีค่า P/E แถมยังไม่มีปัจจัยพื้นฐานให้ประเมิน ดูได้แค่กราฟสัญญาณทางเทคนิคเพื่อหาจุดซื้อจุดขาย
บิตคอยน์ ในไทยเองยังไม่มีหน่วยงานไหนรองรับ และราคาซื้อขายในตลาดก็ผันผวนหนักมากราวกับรถไฟเหาะ หลายคนเคยรวยด้วยบิตคอยน์ราวกับ “ราชา” ก็พลิกผันมาเป็นอย่าง “ยาจก” เพียงแค่ชั่วข้ามปี แถมการใช้งานในฐานะเงินตราดิจิทัล ก็ขึ้นอยู่กับการยอมรับกันเองระหว่างผู้ซื้อสินค้ากับผู้ขายสินค้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
>> สธ. แถลง รพ.สระบุรี ระบบขัดข้อง และโดนเรียกค่าไถ่จริง
ข้อมูลจาก : efinancethai, techsauce, knowledge, buybitcoinworldwide, support.bitkub