ชลประทานหวังฝนช่วยเติมน้ำอ่างลำตะคอง เหลือน้ำใช้การร้อยละ 11

นายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เผยว่า ปริมาณในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว คงเหลือน้อยมากจนอยู่ในเกณฑ์ “วิกฤตน้ำน้อย” ปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 11 ของความจุเท่านั้น จึงต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและบริหารจัดการการใช้น้ำอย่างรัดกุมที่สุด เพราะต้องส่งจ่ายน้ำดิบไปให้ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ได้ใช้ผลิตประปาอุปโภค-บริโภค นอกจากนี้ ยังต้องส่งจ่ายไปรักษาระบบนิเวศลำน้ำ ให้ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ตามแผนบริหารจัดการน้ำด้วย จะได้มีน้ำเพียงพอใช้ในกิจกรรมหลักๆจนกว่ากว่าจะผ่านพ้นฤดูแล้ง
สำหรับน้ำต้นทุนในปี 2567 ที่ผ่านมา มีปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯ สะสมตลอดทั้งปี เพียง 81 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 31% เท่านั้น จากค่าเฉลี่ยระยะยาวทั้งปี 260 ล้านลูกบาศก์เมตร นับเป็นปีที่มีน้ำไหลลงอ่างฯ น้อยที่สุดตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนลำตะคองขึ้นมา จึงทำให้อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ในปี 2568 มีน้ำต้นทุนเก็บกักอยู่น้อย ซึ่งเบื้องต้น ได้มีการวางแผนการใช้น้ำอย่างประณีตในช่วงต้นฤดูแล้งปี 2567/68 ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 - 30 เมษายน 2568 รวม 73 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยใช้สนับสนุนผลิตประปาอุปโภคบริโภค จำนวน 35 ล้านลูกบาศก์เมตร , รักษาระบบนิเวศ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร, เพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย 7 ล้านลูกบาศก์เมตร และภาคอุตสาหกรรม อีกประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร
แต่ปัจจุบัน กลับพบว่า น้ำที่ส่งจ่ายไปให้ผลิตประปา มีเกษตรกรจำนวนมากสูบดึงไปใช้ทำนาปรัง ทั้งๆ ที่มีการขอความร่วมมือให้งดทำนาปรังแล้ว อีกทั้งสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงกลางวัน จึงทำให้ปริมาตรน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำลำตะคองลดลงอย่างรวดเร็ว ทางชลประทานจึงคาดหวังว่า พายุฤดูร้อนที่ทำให้มีฝนตกลงมาอย่างหนักจะช่วยเติมน้ำลงในอ่างเก็บน้ำลำตะคองได้บ้าง เพื่อลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำให้กับชาวโคราชใน 5 อำเภอ จะได้มีน้ำเพียงพอใช้ในกิจกรรมหลักๆ จนกว่าจะถึงฤดูฝนปีนี้