ต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย ตรวจสอบแล้วกว่า 3 แสนคน พบมากสุด "งานเร่ขายสินค้า"
กรมการจัดหางาน ใช้มาตรการรุกตรวจสอบต่างชาติแย่งงานคนไทยทั่วประเทศโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เผยตรวจสอบสถานประกอบการแล้ว 25,628 แห่ง ดำเนินคดี 820 แห่ง ตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 306,577 คน ดำเนินคดี 1,689 คน เป็นความผิดแย่งอาชีพคนไทย 721 คน
นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีพบคนต่างชาติคล้าย คนสัญชาติเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม จีน รัสเซีย อินเดีย แห่แหนเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย ในตลาดนัด ตลาดสด ร้านทำเล็บ อู่ซ่อมรถ แผงค้าขาย รถเข็น ผับบาร์ตามแหล่งท่องเที่ยวและย่านการค้าซึ่งเป็นที่นิยมทั้งในกลุ่มชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนกระทบต่อบรรดาผู้ประกอบการในพื้นที่ นั้น
ผมไม่เคยนิ่งนอนใจได้สั่งการเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน กวาดล้างแรงงานต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย รวมถึงแรงงานต่างชาติที่ทำงานผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงาน โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ไม่เลือกปฏิบัติ และจะใช้มาตรการลงพื้นที่สุ่มตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้าในทุกจังหวัด อาทิ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภูเก็ต สมุย พัทยา เชียงใหม่ ที่เป็นแหล่งประกอบอาชีพของคนไทย และย่านการค้าแหล่งเศรษฐกิจสำคัญที่พบเห็นแรงงานต่างชาติทำงานจำนวนมาก
อย่างในพื้นที่เยาวราช ห้วยขวาง ปากคลองตลาด อนุสาวรีย์ และตลาดนัดชื่อดังย่านต่าง ๆ ซึ่งผลการดำเนินการปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 18 มีนาคม 2567) มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศแล้ว จำนวน 25,628 แห่ง ดำเนินคดี 820 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 306,577 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 232,106 คน กัมพูชา 42,698 คน ลาว 18,001 คน เวียดนาม 236 คน และสัญชาติอื่น ๆ 13,536 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,689 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 875 คน กัมพูชา 318 คน ลาว 231 คน เวียดนาม 87 คน และสัญชาติอื่น ๆ 178 คน
ซึ่งพบเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ทั้งสิ้น 721 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 316 คน กัมพูชา 175 คน ลาว 106 คน อินเดีย 65 คน เวียดนาม 42 คน จีน 5 คน และสัญชาติอื่น ๆ 12 คน
โดยอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด ตามลำดับ และงานที่คนต่างชาติถูกดำเนินคดีเพราะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ได้แก่ งานขายของหน้าร้าน งานช่างก่อสร้าง งานกรรมกร ตามลำดับ
“แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องเคารพกฎหมายของเรา เช่นเดียวกับที่เวลาคนไทยไปทำงานในต่างประเทศก็ต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้น ๆ โดยแรงงานต่างชาติต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง รวมทั้งต้องทำงานตามสิทธิ ที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (มีทั้งสิ้น 40 งาน) ซึ่งคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท
และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี” อธิบดีกรมการจัดหางงาน กล่าว
ที่มา รัฐบาล
ภาพจาก AFP