รีเซต

เช็กความแม่นยำ เจาะลึกเบื้องหลังฟังก์ชันสุดปัง “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” | TNN Tech Reports

เช็กความแม่นยำ เจาะลึกเบื้องหลังฟังก์ชันสุดปัง “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
27 มิถุนายน 2566 ( 18:42 )
55
เช็กความแม่นยำ เจาะลึกเบื้องหลังฟังก์ชันสุดปัง “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” | TNN Tech Reports



รถโดยสารประจำทาง หรือในชื่อที่หลายคนเรียกกันว่า รถเมล์ ถือเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่อยู่คู่กับคนกรุงเทพฯ  มาอย่างยาวนานถึง 138 ปี นับแต่ปี 2428   ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับรถเมล์ก็คือ ป้ายรถเมล์ ที่ใช้เป็นจุดหยุดรถ จุดรอรับผู้โดยสารให้สามารถขึ้นและลงรถได้อย่างสะดวก 


โดยปัจจุบันนี้ แม้เราจะมีป้ายรถเมล์กว่า 5,000 จุด ทั่วกรุงเทพมหานคร แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า Bus Stop หรือป้ายรถเมล์ที่ทำหน้าที่เป็นแค่จุดรอรถ จุดขึ้นและลงรถเมล์ แต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่ตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนในยุคดิจิทัลอีกต่อไป 


นี่จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนา “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” หรือ “Bus Shelter” ซึ่งดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 โดยกรุงเทพมหานคร และมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนป้ายรถเมล์แบบดั้งเดิม ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนการเดินทางได้มากขึ้น สอดรับกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ 




Bus Shelter


ป้ายรถเมล์อัจฉริยะนี้มีฟังก์ชันหรือความสามารถในการใช้งานที่หลากหลาย ได้แก่


  • ที่ชาร์จแบตเตอรี่สำหรับสมาร์ตโฟนเป็น USB 2.1 A มี 3 ช่อง มีอยู่ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของป้ายรถเมล์
  • ฟรีไวไฟ สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยมือถือ หรือสื่อสารทางออนไลน์กับบุคคลอื่น
  • กล้อง CCTV คอยตรวจสอบความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการและผู้ที่อยู่ใกล้เคียงกับป้ายรถเมล์ โดยข้อมูลเก็บอยู่ที่ส่วนกลางของผู้รับสิทธิ์ และประชาชนสามารถแจ้งมายัง กทม. เพื่อประสานนำข้อมูลและคลิปมาใช้ยืนยันข้อเท็จจริงหรือเป็นพยานหลักฐานได้
  • มีหน้าจอ LCD 1 จอ  ขนาด 32 นิ้ว  สำหรับแสดงรายละเอียดสายรถเมล์ที่กำลังจะมาถึงป้าย รวมถึงบอกระยะเวลาที่จะมาถึงแก่ผู้ใช้บริการ



ป้ายรถเมล์อัจฉริยะทำงานได้จริงตามที่ออกแบบมาหรือไม่ ?


สิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักงานระบบขนส่ง ระบุว่า "รถเมล์ทุกคันจะมี GPS ติดอยู่บนรถ เพื่อระบุตำแหน่งขณะวิ่งพร้อมทราบความเร็วที่ใช้ โดยข้อมูลบนรถเมล์จะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์กลางที่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมที่้ใช้เก็บข้อมูลและระบบโครงข่ายของป้ายรถเมล์นั้นผ่านตัวรับ ซึ่งตัวรับที่ว่าอาจจะเป็นสัญญาณไวเรส (ไร้สาย) หรืออินเทอร์เน็ตไวไฟ


จากนั้นตัวรับ ก็จะประมวลผล แล้วแสดงผล ออกมาผ่านหน้าจอว่า รถเมล์คันนั้นจะมาถึงป้ายต่อไปในอีกกี่นาที ถือว่าเป็นการทำงานที่ตอบโจทย์การออกแบบ"




การแสดงเวลารถเมล์ที่จะถึงป้ายมีความแม่นยำมากน้อยแค่ไหน ? 


การแสดงผลเวลาบนหน้าจอ จะมีการประมวลผลทุก ๆ 20 วินาที ส่วนเรื่องความแม่นยำของเวลาในการเข้าถึงป้ายของรถเมล์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น การจราจร ระบบสัญญาณไฟจราจร และอุบัติเหตุ รวมถึงการใช้ป้ายรถเมล์ร่วมกับรถเมล์จากบริษัทอื่น ๆ  


โดยจากการลงพื้นที่ทดสอบจับเวลาและความแม่นยำของทีมงาน Tech Reports พบว่า บางสายรถเมล์มาได้ตรงตามเวลาที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ แต่บางสายก็ช้ากว่าเวลาที่ปรากฏประมาณ 1-2 นาที ด้วยระบบการประมวลผลทุก 20 วินาที ก็จะน่าจะเพียงพอที่จะช่วยสร้างความมั่นใจและให้เราสามารถวางแผนการเดินทางใหม่ได้ เพื่อให้ไปถึงที่หมายตามกำหนด"




ใช้งบประมาณเท่าไร หากเราต้องการเพิ่มจำนวนป้ายรถเมล์อัจฉริยะให้มีมากขึ้น ?


ณ ขณะนี้ ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ มีให้บริการเพียงแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ยังไม่สามารถกระจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้ เนื่องจากกฎหมายยังไม่ได้ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้ รวมถึงป้ายลักษณะนี้ใช้งบประมาณที่สูงมาก สำหรับต้นทุนงานโครงสร้างรวมถึงระบบปฏิบัติการอยู่ที่ประมาณ 900,000 บาท ดังนั้น ถ้าต้องการจะให้ป้ายรถเมล์ทั้ง 5,000 จุด ทั่ว กทม. เป็นป้ายรถเมล์อัจฉริยะทั้งหมด ก็ใช้งบประมาณอยู่ที่ 45 ล้านบาท




ทำอย่างไรให้ป้ายรถเมล์อัจฉริยะครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ?


เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีป้ายรถเมล์อัจฉริยะ 350 หลัง ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานระบบขนส่งมองว่า เพียงพอแล้วสำหรับความต้องการใช้งานของประชาชนและคุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งมีปัจจัยสำคัญคือจำนวนผู้ใช้งาน


"ในส่วนของรอบนอก ณ วันนี้เราดูแล้วมันก็ยังไม่คุ้มที่เราจะไปติด เนื่องจากคนจะใช้รถและมารอรถแค่ช่วงเช้า ช่วงเย็นเขาก็ไม่รอรถแล้ว เขากลับบ้านเลย จริงๆ มันควรจะต้องมีผู้ใช้ประโยชน์ได้ทั้งวัน เช้า กลางวัน เย็น ซึ่งเราก็เลือกติดจุดที่พวกนี้สามารถจะใช้ได้ทั้งวัน  เราถือว่า 350 หลังน่าจะครอบคลุมแล้ว ถ้าเพิ่มก็เพิ่มได้ไม่มาก จะเพิ่มในจุดที่จำเป็นจริง ๆ ชานเมืองมันใช้ได้เฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นมันก็ไม่คุ้มกลางวันมันก็เสียค่าไฟ เสียระบบไปเฉย ๆ "


ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ มีเอกชนเป็นผู้รับสัมปทานบริหารและบำรุงรักษาโครงการ  ดังนั้น นอกจากการคำนึงถึงการให้บริการสาธารณะแล้ว เรื่องความคุ้มค่ายังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน โดยแม้ว่าวันนี้ป้ายรถเมล์อัจฉริยะจะยังไม่ครอบคลุม แต่ในอนาคต เมื่อเมืองเริ่มขยายตัวหรือพื้นที่ไหนมีประชากรมากขึ้น ก็มีโอกาสที่ป้ายรถเมล์อัจฉริยะจะขยายตามออกไปเช่นกัน


 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง