รีเซต

'ม.หอการค้า'​ชี้จีนยังขึ้นแท่นลงทุนซีแอลเอ็มวีอันดับ 1 ด้านไทยผลิตภัณฑ์​ยางมาแรงรับอานิสงส์​โค​วิด​

'ม.หอการค้า'​ชี้จีนยังขึ้นแท่นลงทุนซีแอลเอ็มวีอันดับ 1 ด้านไทยผลิตภัณฑ์​ยางมาแรงรับอานิสงส์​โค​วิด​
มติชน
11 สิงหาคม 2563 ( 16:46 )
42
'ม.หอการค้า'​ชี้จีนยังขึ้นแท่นลงทุนซีแอลเอ็มวีอันดับ 1 ด้านไทยผลิตภัณฑ์​ยางมาแรงรับอานิสงส์​โค​วิด​

‘ม.หอการค้า’​ ชี้จีนยังขึ้นแท่นลงทุนซีแอลเอ็มวี อันดับ1 ด้านไทยผลิตภัณฑ์​ยางมาแรงรับอานิสงส์​โค​วิด​

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลการศึกษา​ความเห็นของผู้ประกอบการต่างชาติที่มีฐานการผลิตในไทย และผู้ประกอบการไทยที่มีฐานการผลิตในไทย จำนวน 200 ตัวอย่าง สำรวจเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน​-15 กรกฎาคม​ 2563 หัวข้อบุญหล่นทับหรือกรรมซ้ำเติม ฐานการผลิตไทยกับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีหลังโควิด-19 พบว่า มูลค่าการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในประเทศไทย ปี 2562 นักลงทุนจากประเทศจีน ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ที่มีการลงทุนในไทยสูงสุด รองลงมาเป็นญี่ปุ่น, ฮ่องกง, สวิตเซอร์แลนด์, สิงคโปร์ และไต้หวัน แต่คาดว่าการลงทุนในปี 2563 จะลดลงเนื่องจากสถานการณ์​ภายในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งนี้คาดว่าการลงทุนจะกลับมาดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2564 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วง้ดียวกันกับที่มีวัคซีน​ป้องกันโควิด-19 ออกมาแล้ว

 

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจขยายฐานการผลิตและย้ายฐานการผลิตในประเทศไทยหลัง โควิด-19 พบว่า ผู้ประกอบการต่างชาติให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์ด้านการค้าการลงทุน ต้นทุนการผลิต กฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้า-ส่งออก การบริหารจัดการด้านสุขภาพอนามัย และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ

 

“เมื่อเปรียบเทียบไทยกับประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม​ (ซีแอลเอ็มวี)​ หลังโควิด-19 และปัจจัยลบเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ พบว่า ประเทศที่ได้บุญหล่นทับมากที่สุดคือ เมียนมา ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แปรรูปอาหาร และเครื่องจักรกล เพราะแรงงานหาง่าย ค่าจ้างต่ำสุดในอาเซียน และมีวัตถุดิบมาก รองลงมาคือเวียดนาม เพราะยังได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า กฎหมายที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ” นายอัทธ์ กล่าว

 

ขณะที่ ประเทศไทย อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์คือ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์​ ผลิตภัณฑ์ยาง หรือถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และเครื่องมือแพทย์ เพราะไทยสามารถจัดการกับโควิด-19 ได้ดี แรงงานมีคุณภาพ ซึ่งผู้ประกอบการต่างชาติ มีแผนขยายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยเพิ่ม ประกอบด้วย ผู้ประกอบการจีน ที่ต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิต ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ด้านไอที, ผู้ประกอบการญี่ปุ่น ต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิต เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องปรับอากาศ และผู้ประกอบการมาเลเซีย ต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์

 

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า แต่พบว่านักลงทุนมีการวางแผนย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย เพื่อที่จะแสวงหาแรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัด หาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่คุณภาพใกล้เคียงกับไทยและราคาถูกรวมถึงแสวงหาสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากประเทศอื่น ๆ

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการต่างชาติ อาทิ ต้องการให้รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นด้านสถานการณ์​ทางการเมือง ด้านข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการไทย อาทิ ถอดบทเรียนโควิด-19 เพื่อวางแผนรับมือภัยพิบัติ​ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และช่วยเหลือด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เหลือ 5% เป็นต้น ส่วนข้อเสนอแนะของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มองว่าไทยควรจะใช้โอกาสจากโรคระบาดผลักดัน ส่งเสริมสนับสนุนและเน้นอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ อาทิ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตเพื่อสุขภาพ และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยี วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง