ไฟป่าเชียงใหม่ : ทำไมปีนี้ หนักกว่าทุกปี
"ฝุ่นควันแบบนี้เหรอ เห็นมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ๆ แล้ว พอเข้าหน้าแล้งมีทุกปี แต่เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่ามันคือฝุ่น คิดว่าเป็นหมอก เพราะมันไม่หนักเท่าทุกวันนี้" นายสุรี แสงคำ ชาวเชียงใหม่วัย 68 ปี บอกกับบีบีซีไทย
สุรีมีอาชีพปั่นสามล้อ ปัจจุบันไม่ค่อยได้รับส่งผู้โดยสารแล้ว แต่ยังคงรับส่งของให้ลูกค้าประจำ ทำให้ต้องเดินทางไปในหลายพื้นที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ จึงต้องใช้ชีวิตอยู่บนถนนทุกวัน
"เราก็ใส่หน้ากากป้องกันเอา เวลาเราปั่นรถไปส่งคนหรือไปรับของ ก็รู้สึกว่าเหนื่อยง่ายกว่าเมื่อก่อนนะ หลัง ๆ มานี้ก็ไอมากขึ้น แสบตาบ้างถ้าช่วงฝุ่นหนัก ๆ แต่อันนี้ก็ไม่รู้ว่าเพราะแก่ หรือเพราะฝุ่นนะ" สุรีเล่ากลั้วหัวเราะ
- ไฟป่าภาคเหนือ : เยือนชุมชนอาข่า ที่อาสาสมัครสู้ไฟจนตัวตาย
- หมอกควันภาคเหนือ : “ใจจริงก็อยากจะย้ายบ้านหนีฝุ่นไปอยู่ที่อื่น... เป็นห่วงอนาคตลูกด้วย แต่ไม่มีที่ไป”
- ฝุ่นพิษ : หมอชี้ควันพิษเชียงใหม่เฉลี่ยเท่าคนสูบบุหรี่ 5 มวน ต่อวัน
เกศินีเล่าว่า เธอได้บทเรียนจากปีก่อนหน้า ปีนี้จึงให้ลูกอยู่เฉพาะในห้องแอร์ ไม่ให้ออกมาเจอฝุ่นควัน แต่แม้จะอยู่ในห้องปรับอากาศ ลูกก็ยังมีน้ำมูกไหลซึม และต้องคอยล้างจมูกให้อยู่ตลอด
"เราก็ทำได้แค่ป้องกันตัวเองนะ ก็ใส่หน้ากาก ปีนี้ดีหน่อยลูกไม่เป็นอะไรมาก ตัวเราเองก็ต้องไปซื้อยาพ่นจมูกมาพ่นตลอด เพราะหายใจไม่ออก ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครมาช่วยเราเลย" เธอกล่าวขณะที่เกศินี แสงมะโน ชาว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บอกกับบีบีซีไทยว่า ลูกน้อยวัยเกือบสองขวบที่เคยป่วยด้วยอาการปอดอักเสบจากการสูดดมฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมากช่วงต้นปีที่แล้ว และอาการเป็นปกติดีมาพักใหญ่ กลับมามีอาการน้ำมูกไหลอีกครั้งช่วงเกิดไฟป่าหนัก ๆ ในเดือน มีนาคมปีนี้
เกศินีเล่าว่า เธอได้บทเรียนจากปีก่อนหน้า ปีนี้จึงให้ลูกอยู่เฉพาะในห้องแอร์ ไม่ให้ออกมาเจอฝุ่นควัน แต่แม้จะอยู่ในห้องปรับอากาศ ลูกก็ยังมีน้ำมูกไหลซึม และต้องคอยล้างจมูกให้อยู่ตลอด
"เราก็ทำได้แค่ป้องกันตัวเองนะ ก็ใส่หน้ากาก ปีนี้ดีหน่อยลูกไม่เป็นอะไรมาก ตัวเราเองก็ต้องไปซื้อยาพ่นจมูกมาพ่นตลอด เพราะหายใจไม่ออก ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครมาช่วยเราเลย" เธอกล่าว
เลวร้ายติดอันดับโลก
ปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่ เป็นปัญหาระดับชาติที่เรื้อรังมากว่า 10 ปีแล้ว นอกจากปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว สถานการณ์ยังดูเหมือนจะแย่ลงอีกด้วยเมื่อค่าดัชนีคุณภาพอากาศของ จ. เชียงใหม่ พุ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในช่วงเดือนมีนาคม 2562 และกลับมาพุ่งสูงอีกด้วยค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงถึงหลัก 1,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ปีนี้จากการวัดของศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เชียงใหม่กลับมามีชื่อเสียงระดับโลกอีกครั้งในฐานะ "เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก"
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนในหลายภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่าสภาวะโลกร้อนที่ทำให้ฤดูแล้งมาเร็วและยาวนานกว่าปีก่อน ๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ไฟป่าในเชียงใหม่รุนแรงกว่าทุกปี อีกทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ของเชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบซึ่งล้วนเป็นภูเขาที่มีความสูงอันดับต้น ๆ ของประเทศ
และแม้ว่าเชียงใหม่จะมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่มาก แต่จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผืนป่าอนุรักษ์เหล่านี้กลับมีน้อย ทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วถึง
"ปีนี้หากสังเกตให้ดี จะพบว่าเกือบทั้งหมดของไฟป่าในเชียงใหม่ที่เกิดขึ้น เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวน" ชัชวาลย์กล่าว
ความรุนแรงของไฟป่าในภาคเหนือ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 คน ได้แก่ นายนิพนธ์ จาระธรรม ผู้ใหญ่บ้านและจิตอาสาพระราชทานหมู่ที่ 5 ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ พลทหารปิยพันธ์ แสนสุข สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 17 อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และนางต๊ะนี กิจเจริญพัฒน์ อาสาสมัครดับไฟป่าใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกไฟคลอกเมื่อวานนี้ (2 เม.ย.)
"แมวไล่จับหนู"
ชัชวาลย์เสริมว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนที่สะสมเรื้อรังมายาวนานมีส่วนทำให้ปัญหาไฟป่าในเชียงใหม่มีความซับซ้อนขึ้น
ความขัดแย้งเหล่านี้ ได้แก่ มาตรการทวงคืนผืนป่าและการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับพื้นที่ชุมชน โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์จาก 15% เป็น 25% ของพื้นที่จังหวัด รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกับชาวบ้านในเรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านอยู่ในสภาพ "แมวไล่จับหนู" เกิดการปะทะกันบ่อยครั้ง
ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐมักจะชี้นิ้วมาที่ชาวบ้านว่าเป็นคน "เผาป่า" แต่ชัชวาลย์โต้แย้งว่าไฟป่าหลายจุดเกิดบนพื้นที่สูงชันหรือเหวลึกซึ่งไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินทางหาของป่า จึงไม่น่าจะเป็นไฟที่เกิดจากชาวบ้านเป็นผู้กระทำ ซึ่งนำไปสู่คำถามว่าถ้าชาวบ้านไม่ได้เผา แล้วใครเผา
วิธีคิดของรัฐ
ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เกิดไฟไหม้ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยอย่างต่อเนื่องและไหม้แทบจะทุกฝั่งของพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่นัก ทำให้ชาวเชียงใหม่ตื่นตัวและลุกขึ้นมาจัดการปัญหาไฟป่าและมลพิษทางอากาศที่กำลังคุกคามชีวิตของพวกเขา
หนึ่งในกลุ่มที่มีบทบาทมากคือสมาชิกกลุ่มร่มบินและโดรนอาสา ที่เข้ามาทำงานร่วมกับภาครัฐโดยนำโดรนขึ้นบินเพื่อถ่ายภาพมุมสูง พร้อมแจ้งพิกัดจุดที่เกิดไฟไหม้ ช่วยให้ทีมเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าภาคพื้นดินเดินทางเข้าไปดับไฟได้ตรงจุดและทันท่วงที
ขณะที่กลุ่มร่มบินและกลุ่มมอเตอร์ไซค์วิบากก็มารวมตัวกันเพื่อออกสำรวจพื้นที่ป่าเพื่อหาจุดที่เกิดเหตุและรายงานให้เจ้าหน้าที่ทราบ
แต่ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนก็เกิดขึ้นเมื่อภาพไฟไหม้ป่ามุมสูงของกลุ่มโดรนอาสาถูกแชร์อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ทำให้วิกฤตไฟป่าเชียงใหม่กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมไทยซึ่งกำลังวุ่นอยู่กับการระบาดของโรคโควิด-19
กลุ่มโดรนอาสาเปิดเผยว่าภาพดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและ "ผู้ใหญ่" บางคน "ไม่สบายใจ" เพราะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสถานการณ์รุนแรง อีกทั้งยังมีการตั้งด่านสกัดไม่ให้ทีมโดรนอาสาเข้าไปในพื้นที่อุทยานฯ ดอยสุเทพ-ปุย และยังมีการกำหนดว่าภาพที่กลุ่มโดรนอาสาถ่ายมนั้นจะต้องส่งเข้ากลุ่มไลน์ที่ใช้ประสานงานภายในเท่านั้น ห้ามเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ
ในที่สุดทีมโดรนอาสาจึงประกาศถอนตัวจากการทำงานร่วมกับภาครัฐ โดยเพจเฟซบุ๊ก "WEVO สื่อสู้ฝุ่น" ได้เผยแพร่ข้อความของนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานร่มบินอาสาเชียงใหม่ที่ส่งถึง นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ พ.ต.อ.ปิยะพันธ์ ภัทรพงศ์สินธุ์ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ในกลุ่มสนทนาเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ว่า "ทีมโดรนอาสาและร่มบินอาสาขอถอนตัวจากภารกิจนี้ครับ ทางราชการสบายใจได้ จะไม่มีภาพมุมสูงมารบกวนการทำงานของพวกท่านครับ"
ต่อมาทั้งสองฝ่ายได้หารือกันและมีมติให้ภาครัฐและภาคประชาชนทำงานร่วมกันต่อไป แต่มีการแบ่งพื้นที่บินโดรน คือ ทีมโดรนอาสาของภาคประชาชนจะสำรวจพื้นที่รอบนอกเขตอุทยานฯ และนอกเขตทหาร ส่วนทีมโดรนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะปฏิบัติการในพื้นที่อุทยานฯ และพื้นที่ทหาร
ปิดป่า 100%
หลังจากเผชิญวิกฤตไฟป่ามายาวนานกว่าครึ่งเดือน ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกาศมาตรการ "ปิดป่า 100%" ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไปเพื่อยกระดับการควบคุมไฟป่าในพื้นที่อุทยานฯ ดอยสุเทพ-ปุย พร้อมกับส่งกำลังตำรวจ ทหารเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ตรึงกำลังและลาดตระเวนพื้นที่ป่า เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดไฟป่าซ้ำอีก
ภายใต้มาตรการปิดป่า 100% นั้น รองผู้ว่าฯ ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ที่เข้าพื้นที่ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ในทันที
นอกจากนี้ยังมีเฮลิคอปเตอร์จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1 ลำ และเฮลิคอปเตอร์จากกองทัพบก 1 ลำ ประจำการที่ดอยสุเทพเพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะที่หน่วยบินจากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 2 ลำและหน่วยบินกรมฝนหลวงอีก 1 ลำ คอยสนับสนุนบินทิ้งน้ำดับไฟในเขตพื้นที่ อ.สะเมิงซึ่งพบจุดความร้อนถึง 35 จุด
ฝุ่นควันในเชียงใหม่ "แก้ได้ด้วยการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น"
ชัชวาลย์ย้ำกับบีบีซีไทยว่า ไฟป่าไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้ปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่พุ่งทะยานจนติดอันดับโลก แน่นอนว่าไฟป่าคือต้นตอหลัก แต่ปัญหาฝุ่นควันไม่ได้เกิดจากพื้นที่ป่าเพียงแห่งเดียว ยังมีฝุ่นควันที่เกิดจากการรถราในเมือง การเผาในชุมชน พื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงฝุ่นควันที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และภาวะโลกร้อน สิ่งเหล่านี้คือต้นตอร่วมของปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่
เขาเสนอกว่า การแก้ปัญหานี้ ต้องมีการบูรณาการวางแผนแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและต้องทำอย่างต่อเนื่อง รับฟังประชาชนพื้นที่และกระจายอำนาจให้องค์กรส่วนท้องถิ่นตัดสินใจ ที่สำคัญแนวทางการแก้ปัญหาต้องสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ไม่ใช่เป็นแผนฉบับเดียวจากส่วนกลางแล้วนำมาใช้กับทุกพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่ต่างก็มีที่มาของสภาพปัญหาที่ต่างกัน
"ระบบสั่งการ จากบนลงล่าง มันไม่แก้ปัญหา พอผู้ใหญ่ตำหนิ ก็ต้องรายงานว่าเอาอยู่ แต่จริง ๆ คือเอาไม่อยู่ ถ้าไม่ยอมรับความจริง ก็แก้ปัญหาไม่ได้" ชัชวาลย์กล่าว
รมว. กระทรวงทรัพยากรฯ ว่าอย่างไร
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกกับบีบีซีไทย ว่า "ไฟป่าเชียงใหม่ในปีนี้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น เมื่อดูจากจุดความร้อนที่เกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ"
ส่วนเหตุที่เผาก็มีหลายเหตุผล ไม่ว่าเผาเพื่อรุกที่ป่า เผาเพื่อเคลียร์เส้นทางในการเดินเข้าไปหาของป่า หรือเผาเพื่อหาของป่า เป็นต้น
เมื่อถามว่าที่ไฟป่าปีนี้เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นไปได้หรือไม่ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน นายวราวุธตอบว่า จริง ๆ ก็มีความขัดแย้งกันมายาวนานแล้ว แต่จะเพราะสาเหตุนี้หรือไม่ก็ตอบลำบาก แต่ที่ทำเต็มที่ ณ ปัจจุบันนี้คือ หากพบผู้กระทำความผิดก็จับหมด
ส่วนมาตรการปิดป่า 100% ที่ประกาศโดยศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ นายวราวุธได้อธิบายวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า จะมีการจดบันทึกรายชื่อของคนที่จะเข้าไปในป่าทั้งหมด โดยจะต้องบอกเหตุผลที่จะเข้าไปว่าเข้าไปทำอะไร ปัจจุบันเมื่อมีการปิดป่า หากเจ้าหน้าที่พบใครอยู่ในป่า เจ้าหน้าที่จะสันนิษฐานก่อนว่าเข้าไปเพื่อเผาป่า จะจับกุมไว้ก่อน จากนั้นจึงจะมีการสอบถามเหตุผลของการเข้ามาในป่า ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่ต้องตรวจสอบลูกบ้านว่ามีการเดินทางไปที่ไหนอย่างไร
"สถานการณ์ไฟป่าของเชียงใหม่ในปีนี้ ต้องยอมรับว่าไม่ปกติ จะใช้มาตรการเหมือนทุก ๆ ปีที่ผ่านมาคงไม่ได้ ดังนั้นการที่มีมาตรการปิดป่าแบบนี้ ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง" นายวราวุธกล่าว
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า มาตรการปิดป่าเป็นแผนรับมือระยะสั้นที่จะทดลองใช้รับมือกับสถานการณ์ไฟป่าใน จ.เชียงใหม่ในช่วง 1 เดือนนี้ หากผลที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ประมาณปลายเดือนธันวาคมนี้ ก็จะมีการพิจารณานำมาตรการปิดป่า 100% มาใช้อีก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่ารุนแรงขึ้นอีก
ส่วนมาตรการระยะยาว คือ จัดให้มีเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร หรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยาน ไปเคาะประตูบ้านเพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้านในหลาย ๆ มิติ เช่น อันตรายที่เกิดจากการเผาป่า บทลงโทษและข้อกฎหมาย เป็นต้น
ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการดำเนินการในลักษณะนี้มาก่อนทั้ง การปิดป่า และการจัดชุดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ลองทำแบบนี้
นายวราวุธกล่าวยืนยันว่าไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ปัจจุบันสามารถควบคุม และดับได้ทั้งหมดแล้ว 100%