รีเซต

สภาฯ ฉลุยตั้งกมธ.แผนปฏิรูปการศึกษา เรียกร้องศธ. พิจารณายุบร.ร.เล็ก ควบคู่คุณภาพ

สภาฯ ฉลุยตั้งกมธ.แผนปฏิรูปการศึกษา เรียกร้องศธ. พิจารณายุบร.ร.เล็ก ควบคู่คุณภาพ
มติชน
23 มกราคม 2564 ( 07:30 )
58
สภาฯ ฉลุยตั้งกมธ.แผนปฏิรูปการศึกษา เรียกร้องศธ. พิจารณายุบร.ร.เล็ก ควบคู่คุณภาพ

วันนี้ (22 ม.ค.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ตามที่ญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาทุกระดับอย่างมีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล และญัตติในทำนองเดียวกันอีก 8 ญัตติ โดย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาการศึกษาในประเทศไทยนั้นถอยหลัง เมื่อดูจากการสำรวจในเรื่องการจัดลำดับการศึกษาขององค์การการศึกษาระหว่างประเทศก็พบว่า ไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย ทั้งที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในลำดับต้นๆ วันนี้คนที่มีฐานะทางการเงินสามารถส่งลูกไปเรียนต่างประเทศได้ หรือถ้าอยู่ในเมืองไทยก็ส่งลูกเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ และสิ่งนี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำ

 

“เด็กที่เกิดมาลืมตาดูโลกใบนี้อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ก็เจอความเหลื่อมล้ำตั้งแต่เกิด ตั้งแต่เรื่องการศึกษา วันนี้เราพยายามพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งสำคัญคือการปฏิรูปการศึกษา หากวันนี้การศึกษาได้รับการปฏิรูป ดังนั้นความเหลื่อมล้ำในอนาคตก็จะลดลง เพราะเรามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งทุกคนสามารถยกระดับฐานะชีวิตความเป็นอยู่ได้ ถ้ามีการศึกษาดี ก็จะมีอาชีพดี” นายอัครเดช กล่าว

 

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ตนเป็นผู้แทนราษฎรจากต่างจังหวัด ทำให้เห็นหลายบ้านเป็นชาวนา พ่อแม่ทำเกษตรกรรม แต่ลูกจบการศึกษาระดับสูง สามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้กับครอบครัวได้ ดังนั้นหากปฏิรูปการศึกษาได้ ก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ จึงได้ฝากถึง กมธ. วิสามัญ หรือหน่วยงานที่จะทำการพิจารณาอย่างเป็นระบบว่า หลังจากที่ตนลงพื้นที่พบว่า วันนี้ยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหาการยุบโรงเรียนเล็ก แม้ส่วนตัวไม่คัดค้านการยุบโรงเรียนเล็กบางโรงเรียน เพราะไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง มีเด็กนักเรียนเข้าเรียนน้อยลง แต่สาเหตุหลักที่แท้จริงที่ในบางโรงเรียนมีเด็กเข้าเรียนน้อยลงเพราะไม่มีคุณภาพการศึกษา

 

“ผมลงพื้นที่ลูกของผู้ปกครองบางคน เรียนในโรงเรียนวัด หรือโรงเรียนชุมชนที่สังกัด สพฐ. กับลูกข้างบ้านส่งไปเรียนในโรงเรียนในตัวเทศบาล เด็ก ป.3 เหมือนกัน แต่เด็ก ป.3 ที่เรียนในชุมชนยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่เด็ก ป.3 ที่เรียนในเขตเทศบาลอ่านหนังสือออกแล้ว ทำให้เด็กไหลไปเรียนในเขตเมือง ผู้ปกครองต้องเสียค่ารถ ค่าเทอมแพง ทำให้โรงเรียนในชุมนุมมีเด็กเข้าเรียนลดลง กระทรวงศึกษาก็ไม่บรรจุครูใหม่ให้ เมื่อครูเกษียณ ก็เกิดปัญหาครูไม่ครบชั้นเรียน ครูไม่ครบสาขาวิชา ส่งผลต่อปัญหาคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน”

 

“เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ หากกระทรวงศึกษาธิการยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็จะไม่สามารถความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเข้าไปแก้ปัญหาการยุบโรงเรียนเล็ก โรงเรียนไหนที่ตอนนี้ยังมีเด็ก มีครู ก็ต้องรักษาไว้ หากมีครูเกษียณออกไป ก็ต้องบรรจุครูใหม่ เพื่อให้มีครูครบชั้นเรียน ครบสาขาวิชา และสามารถดำรงคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนในชุมชนได้” นายอัครเดช กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง