ส่อง "เชียงใหม่" จากแหล่งบันเทิงสู่ "รพ.สนาม"
ก่อนจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ หรือประเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ เพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ฝันของผู้คนที่เตรียมตัวเดินทางกลับบ้าน และท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว ก็ “ดับ” ลงโดยพลัน
ภาพรถชีวนิรภัยพระราชทาน พร้อมเจ้าหน้าที่ออกทำงานอีกครั้ง และเป็นงานที่หนักในการเก็บตัวอย่างเชิงรุกพนักงานร้าน “วอร์มอัพ คาเฟ่” ย่านถนนนิมมานเหมินท์ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ หวังสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาที่เชียงใหม่ในช่วงเวลาอันใกล้นี้
กว่า 3 เดือนแล้ว ที่เชียงใหม่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เหตุผลที่ต้องมีการตรวจเชิงรุกครั้งนี้เป็นเพราะมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 6 รายรวด ในช่วง 2 วัน กลายเป็นผู้ป่วยรายที่ 70-75
4 รายแรกเป็นชาย และ 1 ใน 4 มีสัญชาติจีนที่อยู่เชียงใหม่ ทั้งหมดมีประวัติไปเที่ยวสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานครและ จ.นนทบุรี กระทั่งเดินทางกลับมาแล้ว จึงทราบข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสถานบันเทิง รีบเข้ารับการตรวจเชื้อและผลเป็นบวก จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องความดันลบที่โรงพยาบาลนครพิงค์ทันที ไม่รวมกลุ่มเสี่ยงจำนวน 131 คน ต้องตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อตามมาในที่สุด
ในเย็นวันเดียวกัน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่แถลงด่วนว่า พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 2 ราย รายแรกเป็นหญิงภูมิลำเนา จ.พะเยา มีธุรกิจส่วนตัวที่สหรัฐอเมริกา เดินทางเข้ามาประเทศไทย เดือนธันวาคม 2563 และอาศัยอยู่ จ.พะเยา เป็นหลัก ตรวจพบเชื้อวันที่ 5 เมษายน 2564 เข้ารับการตรวจหาเชื้อเพราะต้องการใช้เป็นเอกสารประกอบเดินทางไปทำธุรกิจที่สหรัฐอเมริกา จึงพบเชื้อและต้องสืบสวนโรคย้อนหลัง แต่พบเชื้อปริมาณมาก แสดงว่าติดเชื้อในระยะไม่นาน ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด น่าจะเป็นการติดเชื้อใหม่
นับถอยหลังไป 14 วัน ตรงกับวันที่ 22 มีนาคม 2564 บอกว่าอยู่ จ.พะเยา ไม่ได้เดินทางไปไหน ก่อนหน้านี้วันที่ 11-22 มีนาคม 2564 มาเที่ยวเชียงใหม่ กลับไปแล้วกลับมาอีกครั้งในวันที่ 27 มีนาคม-3 เมษายน 2564 เพื่อตรวจหาเชื้อ
โดยเข้าพักที่เกสต์เฮาส์ย่านคูเมือง ที่น่าสนใจ เธอให้การกับทีมสอบสวนโรคเชียงใหม่ว่า ตระเวนเที่ยวสถานบันเทิงชื่อดังในย่านนิมานเหมินท์เกือบทุกคืน โดยเฉพาะร้านวอร์มอัพ คาเฟ่ และร้าน GROUND นิมมานเหมินท์ ซอย 13 ยังไม่รวมร้านอาหารชื่อดังอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน
แต่สันนิษฐานว่า น่าจะรับเชื้อจากสถานบันเทิงมากกว่าจะเป็นร้านอาหาร เพราะต่อมาพบพนักงานของร้านวอร์มอัพ คาเฟ่ ติดเชื้อไปด้วย
เป็นคลัสเตอร์ที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ครั้งใหญ่ วันต่อมาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ พร้อมรถชีวนิรภัยพระราชทาน ตั้งหน่วยเก็บตัวอย่างพนักงานและนักเที่ยว เพื่อตรวจหาเชื้อ แถวยาวเหยียดเลยออกไปถนนใหญ่
ขณะเดียวกันยังพบสถานบันเทิงเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากร้านท่าช้าง คาเฟ่ ถนนรัตนโกสินทร์ ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ หลัง น.ส.จิรันธนิน พิทักษ์พรตระกูล หรือกัสจัง ดาราสาว ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เช่นกัน “กัสจัง” เผยไทม์ไลน์ว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 เดินทางมาเชียงใหม่และเข้าร้านท่าช้าง คาเฟ่ และยังตระเวนไปในสถานที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง ไม่รวมสายการบินเดินทางไป-กลับ
สร้างความโกลาหลพอสมควร ผู้ติดเชื้อรอบใหม่นี้ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่าร้านที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงระบาด ประกอบด้วย ร้านวอร์มอัพ คาเฟ่ เชียงใหม่ ร้านท่าช้าง คาเฟ่ เชียงใหม่ ร้าน DC เชียงใหม่ ร้าน Infinity club เชียงใหม่ ร้าน Ground ร้าน Living Machine และร้าน Consol’s Garden
หลังจากนั้นตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ของเชียงใหม่ สูงขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยกว่า 200 รายทุกวัน ทีมสอบสวนโรคจังหวัดเชียงใหม่ปฏิบัติการเชิงรุกค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเกือบ 2 พันราย รวมทั้งประกาศแนะนำนักเที่ยวที่เข้าไประหว่างวันที่ 28 มีนาคม-4 เมษายน 2564 สังเกตอาการตนเอง 14 วัน
สุดท้าย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่มีมติจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ภายในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา จำนวน 1,500 เตียง เริ่มรับผู้ป่วยเข้ารักษาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564
ก่อนจะขยายเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลสนาม หอหญิง 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
360 เตียง หลังพบนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ มช. ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถานบันเทิง รวมทั้งโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 400 เตียงด้วย
มีการเพิ่มมาตรการในร้านอาหารบุฟเฟต์ ห้ามลูกค้าตักอาหารมารับประทานเอง ลดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเหลือเพียง 50 คน งดการพบปะสังสรรค์ และเดินทางเท่าที่จำเป็น เพื่อควบคุมโรคให้ได้ภายใน 2 อาทิตย์ และเริ่มทำงาน Work from home พร้อมผุด “ฮอสปิเทล” อีก 2 แห่ง ที่มหาวิทยาลัยพายัพและโรงแรมอโมรา ท่าแพ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีกำลังทรัพย์และผ่านวิกฤตจากโรงพยาบาลสนามมาแล้ว 7 วัน
ฝ่าฟันกันมาครบ 3 สัปดาห์ ตัวเลขผู้ป่วยลดลงเหลือ 99 รายต่อวัน แต่แล้วแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ริบหรี่ลงอีกครั้ง หลังพบ “คลัสเตอร์ใหม่” เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ป่วยเด้งขึ้นไปแตะ 200 กว่าอีกครั้ง เพียงชั่วข้ามคืน
เรือนจำกลางเชียงใหม่พบผู้ต้องขังรายใหม่ 54 ราย แม้จะพบในระหว่างการกักตัว 14 วัน ก่อนเข้าแดนขัง ถือว่ายังโชคดี เพราะหากเชื้อหลุดเข้าไปภายใน อาจทำให้ป่วยยกคุกได้เลย
ตามมาคือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่คือ อ.ดอยสะเก็ด ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กๆ อายุระหว่าง 2-4 ขวบ
“พี่เลี้ยงหญิง” เอาเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดกว่า 40 ราย จำเป็นต้องตั้งโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจรักษาผู้ป่วย
ที่น่าสนใจ สำนักปฏิบัติธรรม ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ “ลานธรรมนำสุข” พบแม่ชีรวมตัวกันทำกิจกรรมและกินข้าวด้วยกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีข้อมูลเชิงลึกว่า 1 ในนั้นไปเที่ยวสถานบันเทิงมาก่อนเข้าไปปฏิบัติธรรม น่าจะทำให้เกิดระบาดหมู่ ติดเชื้อไปไม่ต่ำกว่า 40 ราย กระจายตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามใหญ่ที่เตียงเพิ่งจะเริ่มว่าง
ยังมีกรณีที่กองบิน 41 แม้จะพยายามปิดข่าว แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็สูงนับ 20 รายขึ้นไป ข่าวลอดออกมาว่ามีการจัดงานเลี้ยงภายใน โชคดีมีโรงพยาบาลทหารรักษาเอง ไม่เดือดร้อนโรงพยาบาลสนามภายนอก
ตามมาด้วยคลัสเตอร์ใหม่ล่าสุด พนักงานและลูกจ้างส่วนดับเพลิงและกู้ภัย ฝ่ายปฏิบัติการท่าอากาศยานเชียงใหม่ จำนวน 13 ราย การสอบสวนโรคระบุว่า 1 ในนั้นติดเชื้อจากการไปเที่ยวสถานบันเทิงตอนต้นๆ ของการแพร่ระบาด แต่ไม่มีอาการ ไม่ทราบว่าติดเชื้อ รับประทานอาหารและประชุมร่วมกัน จึงติดเชื้อขึ้น
อีกแห่งได้แก่ งานศพ อ.อมก๋อย จากคนที่ติดเชื้อในอำเภอเมือง และเดินทางไปร่วมงานศพที่บ้าน เกิดการติดเชื้อ 7 คน สุดท้าย บริษัทขายตรงในเชียงใหม่ มีงานเลี้ยงในกลุ่มพนักงาน 60 คน พบผู้ติดเชื้อ 25 คน
ทั้งหมดล้วนมาจากความสนิทสนมของผู้ร่วมงาน ชุมชน คนในครอบครัว เพื่อนบ้าน ต้นตอล้วนมีประวัติเชื่อมโยงว่าไป “สถานบันเทิง” จุดแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ แต่อาการยังไม่แสดงออกทั้งสิ้น
การระบาดโควิด-19 “เชียงใหม่” มีตัวเลขเป็นที่ 2 ของประเทศ รองจาก กทม. ยังมีลักษณะไฟลามทุ่ง
วันนี้ทีมแพทย์และพยาบาลยืนยันว่า พร้อม ยาและเตียง เพียงพอ เหลือประชาชนร่วมมือ มีวินัย และเลิกบันเทิง ก็คงจะหยุดเชื้อได้