รีเซต

โควิด-19: เวียดนามประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อได้อย่างไร

โควิด-19: เวียดนามประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อได้อย่างไร
บีบีซี ไทย
18 พฤษภาคม 2563 ( 07:55 )
305
โควิด-19: เวียดนามประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อได้อย่างไร

Getty Images

แม้จะมีชายแดนติดกับจีน และมีประชากรถึง 97 ล้านคน เวียดนามกลับมีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพียง 300 กว่าราย และไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่คนเดียว มีรายงานการแพร่ระบาดภายในชุมชนครั้งสุดท้ายเมื่อเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา และตอนนี้เริ่มมีการเปิดประเทศแล้ว

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าเวียดนามเริ่มออกมาตรการเพื่อควบคุมภาวะโรคระบาดตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมากเหมือนประเทศอื่น ๆ แต่มาตรการเหล่านี้ แม้จะคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย แต่มีข้อเสียคือล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวและใช้กำลังคนมาก และผู้เชี่ยวชาญบอกว่า อาจจะสายเกินไปหากประเทศอื่นจะถอดบทเรียนความสำเร็จนี้

 

มาตรการ "เข้มงวดแต่สมเหตุสมผล"

"เมื่อคุณต้องเผชิญกับเชื้อโรคน่ากลัวที่คุณไม่เคยเจอมาก่อน ก็น่าจะเป็นการดีที่รับมือแบบเกินกว่าเหตุ" ดร. ท็อดด์ พอลลัค จากโครงการพัฒนาสุขภาพในเวียดนามของฮาร์วาร์ด บอก ทางการเวียดนามรู้ดีว่าระบบการแพทย์ของประเทศรับมือการแพร่เชื้อแม้ในระดับต่ำไม่ได้แน่ จึงเลือกที่จะป้องกันอย่างเข้มงวดตั้งแต่แรกเริ่ม

 

Getty Images

ช่วงต้นเดือน ม.ค. ก่อนที่จะมีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศ รัฐบาลเวียดนามเริ่มแผนปฏิบัติการจริงจังเพื่อรับมือกับโรคปอดบวมที่ยังเป็นปริศนา ซึ่งในขณะนั้นคร่าชีวิตคนในอู่ฮั่นไปแล้ว 2 คน เมื่อมีรายงานผู้ติดเชื้อครั้งแรกในวันที่ 23 ม.ค. จากชายในนครโฮจิมินห์ที่เดินทางกลับจากไปเยี่ยมลูกชายที่เมืองอู่ฮั่น เวียดนามออกมาตรการฉุกเฉินทันที

 

ศ. กาย ทเวทส์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยทางคลินิกของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในนครโฮจิมินห์ ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลในโครงการยับยั้งการแพร่เชื้อบอกว่า เวียดนามดำเนินแผนงานที่ดูเหมือนจะเกินจริงไปมากในตอนนั้น แต่ภายหลังก็ได้เห็นว่ามันสมเหตุสมผลแล้ว

 

เวียดนามออกมาตรการที่ประเทศอื่นอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะทำได้เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งการจำกัดการเดินทาง การตรวจตราชายแดนที่ติดกับจีนอย่างใกล้ชิด จนสุดท้ายสั่งปิดชายแดนในที่สุด และเพิ่มการตรวจสุขภาพที่แนวชายแดนและพื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ

 

โรงเรียนถูกสั่งปิดช่วงเทศกาลตรุษจีน และยังคงปิดไปจนถึงกลางเดือนพ.ค. ใช้แรงงานคนจำนวนมากในการแกะรอยผู้ติดเชื้ออย่างจริงจัง

 

"นี่เป็นประเทศที่ผ่านภาวะโรคระบาดมาแล้วหลายครั้งในอดีต" ศ. ทเวทส์กล่าว โดยอ้างถึงโรคซาร์สในปี 2003 ไปจนถึงโรคไข้หวัดนกในปี 2010 และการแพร่ระบาดในวงกว้างของโรคหัดและไข้เลือดออก

 

"ทั้งรัฐบาลและประชาชนเคยชินกับการเผชิญโรคระบาด และเข้าใจถึงความรุนแรงของมันอย่างดี บางทีอาจจะเข้าใจถ่องแท้กว่าประเทศร่ำรวยหลายประเทศ พวกเขารู้ว่าต้องทำอย่างไรในภาวะแบบนี้"

 

ภายในกลางเดือนมี.ค. เวียดนามสั่งให้ทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศ และใครก็ตามที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อต้องกักตัว 14 วัน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนมากมาจากงบของรัฐบาล แม้สถานที่กักตัวจะไม่หรูหรามาก แต่หญิงคนหนึ่งที่เดินทางจากออสเตรเลียกลับบ้านที่เวียดนามบอกว่า เธอคิดว่าเวียดนามเป็นที่ที่ปลอดภัย เธอบอกกับบีบีซีแผนกภาษาเวียดนามว่า คืนแรกของการกักตัวมีแค่เสื่อหนึ่งผืน ไม่มีหมอน ไม่มีผ้าห่ม และมีพัดลมหนึ่งตัวในห้องที่ร้อนมาก

 

การป้องกันแม้กรณีที่ไม่แสดงอาการ

ศ. ทเวทส์ บอกว่าการกักตัวคนในระดับกว้างเป็นกุญแจสำคัญ มีหลักฐานชี้ว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ทุกคนที่ถูกกักตัวได้รับการตรวจหาเชื้อ ไม่ว่าจะมีอาการป่วยหรือไม่ก็ตาม ศ. ทเวทส์ บอกว่ามันชัดเจนว่าราว 40% ของคนที่ติดเชื้อในเวียดนามไม่มีทางรู้ได้ว่าตัวเองติดเชื้อหากไม่ได้เข้ารับการตรวจ

 

"ถ้ามีอัตราผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการสูง สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือควบคุมการแพร่เชื้อ และนั่นคือสิ่งที่เวียดนามทำ" เขาบอกและกล่าวเสริมว่า หากไม่กักตัวคนเหล่านั้น พวกเขาก็จะออกไปไหนมาไหนและแพร่เชื้อไปทั่ว

 

อีกสาเหตุหนึ่งว่าทำไมเวียดนามจึงไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด นั่นก็เพราะคนที่เดินทางกลับเข้าประเทศส่วนมากเป็นนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่กลับจากเดินทางไปทำงาน คนกลุ่มนี้โดยมากอายุยังน้อยและสุขภาพดี มีโอกาสต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีกว่า และไม่แพร่เชื้อให้ผู้สูงอายุ นั่นหมายถึงว่า ระบบการแพทย์สามารถทุ่มเททรัพยากรเพื่อรักษาผู้ป่วยอาการรุนแรงได้

 

แม้เวียดนามไม่ได้สั่งปิดประเทศทั้งหมด แต่ก็จัดการกรณีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนอย่างเด็ดขาด

 

ในเดือนก.พ. หลังมีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งในเขตซอน ลอย ทางตอนเหนือของกรุงฮานอย ทางการสั่งปิดพื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งมีผู้อยู่อาศัยกว่าหมื่นคน และก็ทำแบบเดียวกันในเขตฮา ลอย ด้วย โดยห้ามคนเข้าออกบริเวณนั้นจนกว่าจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเป็นเวลาสองสัปดาห์

 

หากมีรายงานการติดเชื้ออีก มาตรการปิดพื้นที่ย่อยนี้ก็จะถูกนำมาใช้อีก เพราะนั่นหมายถึงว่าเวียดนามยังไม่ได้ทำการตรวจหาเชื้อในชุมชนใหญ่ ๆ มากพอ "ตอนแรกก็รู้สึกเหมือนว่ามาตรการนี้มีความเสี่ยงสูง แต่กลายเป็นว่ามันได้ผลดี และพวกเขาก็สามารถคัดแยกและจัดการกลุ่มผู้ติดเชื้อได้เด็ดขาด" ศ. ทเวทส์กล่าว

 

สื่อสารชัดเจน

แม้จะเป็นประเทศที่มีระบอบรัฐพรรคการเมืองเดียว แต่ทางการก็ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการดำเนินนโยบาย ดร. พอลลัคบอกว่ารัฐบาลสื่อสารกับสาธารณชนได้อย่างดีเยี่ยม ว่าทำไมจึงต้องออกนโยบายเหล่านี้

 

มีการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถืออย่างสม่ำเสมอเพื่อแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเอง ใช้ประโยชน์จากนโยบายโฆษณาชวนเชื่อเพื่อรณรงค์ให้คนตระหนักรู้ โดยอ้างถึงช่วงเวลาสงครามและใช้วาทะจูงใจให้คนร่วมสู้ศัตรูด้วยกัน

 

"มันสร้างความรู้สึกว่าสังคมก้าวไปด้วยกันเพื่อกำจัดศัตรู" ดร. พอลลัคกล่าว แม้รัฐบาลเผด็จการของเวียดนามจะคุ้นกับการออกคำสั่งเพียงฝ่ายเดียว ดร. พอลลัคบอกว่าผู้คนให้ความสนับสนุนรัฐบาลอย่างดี เพราะตระหนักว่าทางการพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตประชาชน

 

ข้อมูลรัฐบาลเวียดนามเชื่อถือได้แค่ไหน

ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ต่ำมาก ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่ามันถูกต้องแม่นยำไหม แต่ความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ทั้งในเชิงการแพทย์และการทูต ทำให้สิ้นข้อสงสัย

 

Getty Images
โรงเรียนบางแห่งในเวียดนามกลับมาเปิดแล้ว

ทีมงานของดร. ทเวทส์ อยู่ในโรงพยาบาลหลักที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ เขาบอกว่าถ้ามีกรณีที่หลุดสำรวจไม่ได้รับการรายงาน ทีมงานของเขาต้องรู้เรื่องแล้ว แต่มันก็ไม่มี ทีมของเขาทำการตรวจหาเชื้อกว่า 2 หมื่นครั้ง เขาบอกว่าผลการตรวจตรงกับตัวเลขรายงานของทางการ และหากมีกรณีที่ไม่ได้รับการรายงาน เขาบอกว่า เขามั่นใจว่าไม่มีระบบที่จะปกปิดข้อมูลเหล่านั้นได้

 

ความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน

นโยบายบริหารแบบจากบนลงล่างของรัฐบาลเวียดนามก็เป็นตัวปัญหา ฟิล โรเบิร์ตสัน จากฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกว่าการบังคับใช้นโยบายรักษาระยะห่างทางสังคม และการกักตัวอย่างเข้มงวด ต้องอาศัยระบบที่คนในพื้นที่สอดส่องเพื่อนบ้านตามละแวกต่าง ๆ เพื่อรายงานกลับไปยังผู้บังคับบัญชา เขาบอกกับบีบีซีว่า วิธีการเหล่านี้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างไม่ต้องสงสัย

 

"แต่เราจะไม่ได้ยินคำร้องเรียนเรื่องนี้เพราะรัฐบาลมีอำนาจควบคุมสื่ออย่างเด็ดขาด" เขากล่าวเสริม โดยอ้างถึงกรณีที่คนถูกปรับหรือถูกดำเนินคดี เพราะวิจารณ์มาตรการของรัฐบาล

 

Getty Images

ผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสภาพเศรษฐกิจ อีกทั้งประเด็นทางสังคมและการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบเพราะถูกละเลยไปในช่วงที่ภารกิจหลักคือการสู้กับเชื้อไวรัสก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามากน้อยเพียงใด

 

ศ. ทเวทส์ บอกว่าการปรับใช้นโยบายแบบในเวียดนาม คงไม่เป็นที่นิยมในหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่สำหรับบางประเทศที่สถานการณ์ยังไม่แย่มาก ก็อาจใช้สิ่งนี้เป็นบทเรียนได้

 

"การป้องกันดีกว่าการรักษาเสมอ และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าด้วย" เขาบอก หากเวียดนามมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แนวนโยบายนี้ก็อาจจะเอาไม่อยู่ แต่สิ่งที่ประเทศทำไปนั้น เป็นนโยบายที่ส่งผลด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีอะไรมาเทียบได้เลย ศ. ทเวทส์กล่าวทิ้งท้าย

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง