ลุ้นระทึก เศรษฐกิจไทย ใต้เงา"ภาษีทรัมป์" เวียดนามปาดหน้าดีลภาษีเหลือ 20%

"ไทย" กดดันหนัก เวียดนามแซงหน้าบรรลุดีลภาษีสหรัฐฯ
นับว่าสถานการณ์การค้าโลกตอนนี้ได้สร้างแรงกดดันอย่างหนักกับประเทศไทย หลังสหรัฐฯประกาศปิดดีลเจรจาการค้ากับเวียดนาม สรุปจบที่ภาษีนำเข้า 20% จากเดิม 46% แลกกับการที่เวียดนามยอมเปิดเสรีนำเข้าให้กับสหรัฐอเมริกา หรือเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันที่อัตรา 0% เป็นการบรรลุการเจรจาได้เป็นชาติแรกในกลุ่มอาเซียน และเป็นชาติที่ 3 ของคู่ค้าสหรัฐฯ รองจากสหราชอาณาจักร และประเทศจีน
ทั้งนี้ที่ผ่านมาจนปัจจุบันนี้สหรัฐฯได้ระงับการบังคับใช้ภาษีตอบโต้กับชาติต่างๆชั่วคราวเป็นระยะเวลา 90 วัน เพื่อให้แต่ละชาติได้เข้ามาเจรจาต่อรองและดีลภาษี ซึ่งกำหนดเวลาที่ว่านี้จะหมดลงแล้วในเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม 2568
จับตาทางการไทยยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้
ล่าสุด ณ วันที่ 4 กรกฎาคม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะของหัวหน้าคณะเจรจาการค้าไทย เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจามาตรการภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการว่า การเจรจาในวันนี้มีสัญญาณที่ดี โดยได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับหัวหน้าผู้แทนการค้าสหรัฐฯและรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่เจรจาระดับนโยบาย ซึ่งเป็นการยืนยันว่าไทยเป็นพันธมิตรที่ดีของสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐฯ ขอบคุณที่ประเทศไทยมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมเจรจา
แม้ว่าการเจรจาครั้งนี้จะยังไม่ได้ผลสรุปสุดท้าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังคงต้องทำงานกันต่อไป เพื่อให้ได้บรรลุผลประโยชน์สูงสุดของทั้ง 2 ประเทศ แต่ในการเจรจาครั้งนี้เราได้ feedback ที่สำคัญมาก โดยจะนำ feedback กลับไปจัดทำเงื่อนไขข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
โดยรัฐมนตรีคลัง ยืนยันว่า จุดยืนของคณะทำงาน คือ จะต้องเป็นข้อตกลงที่ปฎิบัติได้ ยั่งยืน และเป็นข้อตกลงที่ได้ประโยชน์ ทั้ง 2 ฝ่าย ที่เรียกว่า "Win-Win Solution"
เอกชนห่วงกลัวไทยเสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนาม
อัตราภาษีตอบโต้ที่ประเทศไทยถูกเรียกเก็บทางการสหรัฐฯ คือ 36% หากไม่สามารถต่อรองลดลงมาได้เท่ากับเราจะมีต้นทุนภาษีที่สูงกว่าเวียดนามที่ถูกเรียกเก็บที่ 20%
ความเห็นของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกิตติมศักดิ์ สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ยอมรับว่ามีความกังวลต่อข้อตกลงภาษีระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนของนักธุรกิจไทยในเวียดนาม และขอให้ไทยต้องเร่งเจรจาให้ได้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าเวียดนาม เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน แต่ทั้งนี้การต้องแลกกับการไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หรือ 0%” ก็เป็นสิ่งที่ไทยไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังต้องคำนึงถึงการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ขณะที่หากไทยถูกเก็บภาษีในอัตราเดียวกับเวียดนาม คืออัตรา 20% ก็จะทำให้ไทยเสียเปรียบในการส่งออก เพราะต้นทุนการผลิตของเวียดนามต่ำกว่าไทย 5-10% จึงเสนอว่าทีมเจรจาควรตั้งเป้าให้อัตราภาษีไทยต่ำกว่าเวียดนาม พร้อมประเมินว่า หากสหรัฐฯ ยังคงเก็บภาษีสินค้าเวียดนามที่ 20% จะส่งผลกระทบต่อ GDP ของเวียดนามประมาณ 1% และหากเพิ่มเป็น 40% ผลกระทบอาจขยายตัวถึง 2–2.5%
เปรียบเทียบเศรษฐกิจ ไทย - เวียดนาม
ประเทศไทย
ปี 2025
GDP +2.5%
ส่งออก +5.8%
ภาคการผลิต - 0.5%
GDP ต่อหัว 7,496.0 ดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศเวียดนาม
ปี 2025
GDP +7.9%
ส่งออก +14.32%
ภาคการผลิต +8.4%
GDP ต่อหัว 4,700 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราภาษี Reciprocal Tariffs ชาติอาเซียน
กัมพูชา 49%
ลาว 48%
เมียนมา 44%
ไทย 36%
อินโดนีเซีย 32%
มาเลเซีย 24%
เวียดนาม 20 % (*เดิม 46%)
ฟิลิปปินส์ 17%
สิงคโปร์ 10%
*ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ค. 2025
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
