รีเซต

โควิด-19 : วิกฤตโรคระบาดเปิดโอกาสให้ช้างบ้านนับร้อยกลับถิ่น หลังธุรกิจท่องเที่ยวฟุบ

โควิด-19 : วิกฤตโรคระบาดเปิดโอกาสให้ช้างบ้านนับร้อยกลับถิ่น หลังธุรกิจท่องเที่ยวฟุบ
บีบีซี ไทย
27 พฤษภาคม 2563 ( 16:54 )
106
โควิด-19 : วิกฤตโรคระบาดเปิดโอกาสให้ช้างบ้านนับร้อยกลับถิ่น หลังธุรกิจท่องเที่ยวฟุบ

 

"ตอนนี้เราต้องเอาช้างกลับไปที่หมู่บ้านของเราเพราะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด นักท่องเที่ยวก็ไม่มีเข้ามาเลย" ศรีพร เปรมชื่นพนาวัน เจ้าของช้าง 4 เชือก ที่เคยทำงานอยู่ในปางช้างที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ กล่าวกับบีบีซีไทย

 

"ตอนแรกเราก็รอดูสถานการณ์อยู่ 2-3 เดือนว่าจะดีขึ้นหรือเปล่า แต่มันก็ไม่ดีขึ้นมาเลย"

 

โชคชะตาของศรีพร ไม่ต่างจากเจ้าของช้างในแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย ที่การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผู้คนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจช้างต่างได้รับผลกระทบ ทำให้ช้างบ้านที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่าร้อยเชือกต้องย้ายกลับถิ่นเพราะทั้งเจ้าของและควาญช้างขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัวและจุนเจือช้าง

 

"ตอนนี้ทั้งตัวหนูและสามีต่างก็ทำงานไม่ได้และขาดรายได้ไป หนูเองทำหน้าที่เป็นไกด์ในปางช้างและสามีก็ขับรถรับส่งนักท่องเที่ยวที่ปาง รายได้ที่ได้มาก็เอาไว้เลี้ยงช้าง จ้างควาญดูแลช้าง และส่งลูก ๆ เรียน พวกเราไม่ได้คาดหวังจะร่ำรวยอะไร แค่ไม่มีหนี้สินและมีเงินพอจุนเจือครอบครัวก็พอ" ศรีพรอธิบาย

 

เมื่อคนตกงาน ช้างก็อดกิน คือสภาพที่เกิดกับสัตว์ใหญ่ขวัญใจนักท่องเที่ยว ช้างในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ บ้างเดินเท้า บ้างขึ้นรถบรรทุก เพื่อกลับบ้านเกิด ได้แก่ สุรินทร์ เชียงใหม่ กาญจนบุรี พังงา และสตูล ด้วยหวังว่าในหมู่บ้านยังมีอาหารพอเลี้ยงทั้งคนและสัตว์

 

ช้างกลับบ้าน

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ช้าง 11 เชือกพร้อมเจ้าของและควาญ ออกเดินเท้าผ่านป่าเขาราว 100 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน ไปยังหมู่บ้านห้วยบง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่เลี้ยงช้างมาหลายอายุคน บีบีซีไทยมีโอกาสร่วมขบวนเดินเท้าระหว่างทางกลับบ้านครั้งนี้

 

"ได้ยินเสียงร้องจากข้างหลังไหมคะ รู้สึกว่าพวกเขาส่งเสียงดังเพราะดีใจมากที่จะได้กลับบ้าน" แป้งชี้ชวนให้ดูโขลงช้างของเธอขณะอยู่กลางป่าในพื้นที่บ้านประตูเมือง อ.แม่วาง จ. เชียงใหม่ สีหน้ายิ้มแย้มของแป้งบ่งบอกได้ว่าเธอเองก็ดีใจไม่แพ้ช้าง

 

จากหมู่บ้านประตูเมือง ช้าง 4 เชือกของแป้ง และอีก 7 เชือกของคนในหมู่บ้านเดียวกัน เริ่มเดินเท้าไปยังหมู่บ้านห้วยบง อ.แม่แจ่ม พื้นที่ชาวกะเหรี่ยงที่มีประวัติการเลี้ยงช้างเพื่อใช้งานมานาน

 

"ปู่ของผมเคยเล่าให้ฟังว่าช้างของที่บ้านเราเคยถูกใช้ล่ามซุงมาก่อนที่จะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หลังจากนั้นก็ได้มีบทบาทในช่วงสงคราวโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะกลับมาลากซุงอีกทีหนึ่ง พอรัฐบาลประกาศให้การตัดไม้ผิดกฎหมาย พวกเราก็นำช้างลงไปเร่ร่อนหากินในตัวเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในปางช้าง" ธีรชัย เปรมชื่นพนาวัน เจ้าของช้างอีกคน ที่ร่วมขบวนพาช้างกลับบ้าน เล่าให้บีบีซีไทยฟัง

 

ในบรรดาช้างทั้งหมด 11 เชือก มีเพียง 3 เชือกที่เกิดที่บ้านห้วยบง ที่เกิดในเมืองและไม่เคยอาศัยในหมู่บ้านเลย และช้างเด็ก ๆ อีกหลายเชือกก็ไม่เคยเดินป่ามาก่อนในชีวิต การเดินทางในครั้งนี้จึงเป็นประสบการณ์ใหม่ของช้างโขลงนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือน จนถึง 60 ปี

 

"เราคาดว่าจะใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 3 วัน 2 คืนเพราะเรามีทั้งช้างเด็กและช้างแก่ อย่างช้างที่เด็กสุด พอเดินนาน ๆ เขาก็เริ่มเดินโซซัดโซเซ และเขายังต้องพักนอนและดื่มนมแม่อยู่เป็นพัก" ศรีพรอธิบาย

 

"ตลอดเส้นทาง เราไม่เร่งช้างเลย เราให้เขาเดินไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก"

 

ไร้เงานักท่องเที่ยว ขาดรายได้

ปัจจุบันมีช้างบ้านที่จดทะเบียนกับกรมปศุสัตว์อยู่กว่า 3,700 เชือก ในจำนวนนี้ราว 3,000 เชือก ถูกใช้งานอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปางช้างหลายแห่งเช่าช้างจากเจ้าของไปแสดง แต่ปางช้างบางแห่งก็เป็นเจ้าของช้างด้วย

 

เมื่อปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเกือบ 40 ล้านคน แต่หลังโรคโควิด-19 ระบาดในวงกว้าง นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากประเทศจีนก็ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด และนับตั้งแต่รัฐบาลมีมติให้ชะลอการเดินทางของชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจึงหยุดชะงักทันที

 

"ในช่วงระบาดใหม่ ๆ นักท่องเที่ยวก็ลดลงเรื่อย ๆ จนมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ นักท่องเที่ยวของเราก็ลดจากหลักร้อยไปเป็นหลักสิบ ปกติในทุกปีช่วงไฮซีซั่นของเราก็คือช่วงตรุษจีน แต่ปีนี้นักท่องเที่ยวแทบไม่เหลือเลย" สัตวแพทย์หญิงพนิดา เมืองหงส์ สัตวแพทย์ประจำคลินิกช้าง ปางช้างแม่แตง อธิบาย

 

"พอรัฐบาลประกาศปิดประเทศ ทางปางช้างก็ขอให้พนักงานบางส่วน เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก หยุดทำงานไปก่อน แต่เรายังมีคนดูแลช้างและสัตวแพทย์ทำงานอยู่ปกติ เพราะช้างทั้งหมดที่อยู่กับเราไม่ได้ย้ายไปไหน เรายังดูแลพวกเขาอยู่ดี" เธอกล่าวเสริม และบอกอีกว่าขณะนั้นปางช้างแม่แตงยังมีอาหารเลี้ยงช้าง มีบุคลากรดูแล จึงไม่มีความจำเป็นต้องให้ช้างกลับบ้าน

 

แต่สภาพการณ์ในแต่ละปางช้างแตกต่างกัน ศรีพรยืนยันว่าเธอไม่มีทางเลือกนอกจากพาช้างกลับบ้าน เพราะไม่รู้ว่าโรคจะระบาดอีกนานแค่ไหน ส่วน โชคชัย ศรีสิริวิไล เจ้าของปางช้างโชคชัย ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เจ้าของช้าง 57 เชือก บอกว่าเขาได้รับผลกระทบจนต้องพักงานพนักงานบางส่วน

 

แม้จะพอมีทุนทรัพย์เลี้ยงดูช้างอยู่ แต่ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารที่สูงลิ่ว ช้างแต่ละเชือกกินอาหารประมาณ 100-300 กิโลกรัมต่อวัน หรือราว 10% ของน้ำหนักตัว ทำให้โชคชัยคิดว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เขาคงต้องนำช้างบางเชือกไปหางานทำที่อื่น

 

"ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นภายในอีกสามเดือน ผมก็อาจจะพาช้างข้ามไปฝั่งพม่าเพื่อไปช่วยลากซุงหารายได้" โชคชัยกล่าว

ในมุมมองของคนเลี้ยงช้าง โชคชัยบอกว่าช้างในวัยทำงานต้องเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้แข็งแรง เช่นเดียวกับช้างตัวเมียที่ตั้งท้องจะตกลูกได้ง่าย การอยู่กับที่จะทำให้แม่ช้างไม่แข็งแรง

 

นิตยสาร Science Mag ฉบับเดือนธันวาคม 2008 รายงานผลการวิจัยพบว่าช้างที่อยู่ในอุตสากรรมลากซุงในพื้นที่ประเทศเมียนมาร์ จะมีอายุที่ยืนยาวกว่าเป็นสองเท่าของช้างที่อยู่ตามสวนสัตว์ในยุโรป

 

ความช่วยเหลือจากเอกชนและรัฐ

การเดินทางกลับคืนถิ่นของศรีพรและช้างของเธอได้รับการสนับสนุนจาก แสงเดือน ไชยเลิศ หรือ"แม่เล็ก" ที่รู้จักกันดีในหมู่คนเลี้ยงช้าง เธอเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการเงินและอาหารแก่ช้างบ้านทั่วประเทศไทยกว่า 2,000 เชือก

 

"ตอนนี้สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือสถานการณ์ด้านอาหารช้าง ถ้าภายในอีก 3 เดือนข้างหน้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ปางช้างหลาย ๆ ที่อาจจะมีเงินเก็บไม่มากพอที่จะซื้ออาหารให้ช้าง" แสงเดือนกล่าวกับบีบีซีไทย

 

"ตั้งแต่นักท่องเที่ยวหายไป ปางช้างต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก็ติดต่อมาขอความช่วยเหลือ ส่วนมากจะเป็นเรื่องอาหาร และมีบางส่วนที่ขอนำช้างมาฝากเอาไว้ที่ศูนย์ของเราเพราะเขาไม่มีกำลังจะเลี้ยงดูในช่วงนี้"

 

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกกับบีบีซีไทยว่า กรมปศุสัตว์มีความพร้อมให้การช่วยเหลือด้านอาหารและยาแก่ผู้เลี้ยงช้างทุกราย

"เรามีสถานีแจกจ่ายอาหารอยู่ 16 สถานีทั่วประเทศไทย หากเจ้าของช้างบ้านรายใดต้องการความช่วยเหลือให้สนับสนุนเรื่องอาหาร ยา หรือการขนย้าย ให้ไปติดต่อที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ทุกที่" สมชวนกล่าว

 

ขณะนี้กรมปศุสัตว์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญกำลังทำคู่มือกำหนดแนวปฏิบัติในการนำช้างไปใช้งาน และคาดว่าสถานประกอบการท่องเที่ยวที่มีช้างอยู่ด้วย จะนำไปปรับใช้ได้เมื่อสถานการณ์คืนสู่ปกติ

 

อุปสรรคระหว่างเดินทาง

การเดินทางกลับบ้านของโขลงช้างและควาญต้องผ่านเส้นทางสูงชันในป่า ช่องเขา เนินเขา และแม่น้ำ แต่ละจุดมีความยากง่ายแตกต่างกันไป แต่ที่เห็นได้ชัดตลอดแนวเส้นทางคือร่องรอยของไฟป่าที่เผาต้นไม้จนไหม้เกรียมไม่เหลือใบไม้ให้เป็นอาหารของช้างระหว่างเดินทาง

 

หลังเดินทางได้ 2 วันเต็ม ช้างและคนหยุดแวะที่หมู่บ้านแม่นาจรเพื่อขอพักอาศัยหนึ่งคืนก่อนที่จะออกเดินทางต่อในวันสุดท้าย แต่ทำไม่ได้

"พวกเขากลัวว่าเราจะเอาเชื้อโควิดมาติดพวกเขา เขาเลยไม่ให้เราแวะพักที่หมู่บ้าน พวกเราเลยเดินทางต่อแต่ชาวบ้านก็ไม่ให้ใช้เส้นทางถนนในหมู่บ้านเดินทาง เขานำแนะนำให้พวกเราขี่ช้างขึ้นเขาอ้อมหมู่บ้าน" ศรีพรเล่า

 

หลังจากเจรจากันอยู่พักใหญ่ชาวบ้านยอมให้คณะใช้ถนนที่ตัดผ่านหมู่บ้านเพื่อเดินทางต่อไป พวกเขาเลือกพื้นที่ว่างตรงเชิงดอยพักเอาแรง

วันรุ่งขึ้น เส้นทางเดินเป็นถนนคอนกรีตทั้งหมด พื้นถนนร้อนจัด ไม่มีแหล่งน้ำให้แวะพักระหว่างทาง ทั้งช้างและคนเหนื่อยอ่อน

แต่ในที่สุดทั้งหมดก็เดินทางถึงบ้านห้วยบงโดยสวัสดิภาพ ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 วัน 2 คืน

"โล่งใจ" ศรีพรกล่าวพลางถอนหายใจ

"มันเหมือนยกภูเขาออกจากอก ช้างของเราปลอดภัยทั้งหมด ควาญช้างของเราไม่เป็นลม และเราถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ทั้งช้างและชาวบ้านต่างก็ดีใจที่ได้มาถึงบ้าน"

 

จุดเปลี่ยนการท่องเที่ยวช้าง

ชาวบ้านห้วยบงจัดพิธีต้อนรับช้าง โดยสร้างแคร่ไม้ไผ่ริมน้ำในหมู่บ้านเป็นที่จัดวางบุฟเฟต์ผักผลไม้เลี้ยงช้าง บาทหลวงประจำหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยบง ทำพิธีรับขวัญช้างกลับบ้าน เด็กสาวในหมู่บ้านรวมตัวกันในชุดพื้นเมืองกะเหรี่ยงสีสันฉูดฉาด ร่วมเล่นดนตรี ร้องเพลงในภาษาถิ่น

 

"แม่ ๆ ช้าง" เด็กหลายคนในหมู่บ้านตื่นเต้นที่ได้เห็นช้างเป็นครั้งแรก

หลายวันผ่านไป ช้างดูมีความสุข สงบ และเครียดน้อยลง เพราะได้กลับมาอยู่ท่ามกลางขุนเขาและธรรมชาติ

ในฐานะนักอนุรักษ์ แสงเดือนหวังว่าช้างเหล่านี้จะไม่ต้องจากหมู่บ้านไปอีก

 

"ตอนนี้เราเริ่มคุยกับเจ้าของช้างที่บ้านห้วยบงและทุกคนเห็นตรงกันว่าจะไม่พาช้างกลับลงมาอีก ทางเราก็เลยแนะนำให้พวกเขาเริ่มเรียนรู้วิธีการใช้เว็บไซต์และถ่ายทอดสดให้คนทั่วโลกได้เห็นกิจวัตรประจำวันของช้างผ่านทางออนไลน์ และในอนาคตเมื่อนักท่องเที่ยวสามารถกลับเข้ามาได้ก็ให้พวกเขาได้เปิดเป็นโฮมสเตย์เพื่อมาใช้ชีวิตร่วมกับช้าง เพื่อที่พวกเขาสามารถหารายได้ได้โดยไม่ต้องพาช้างลงมาจากดอยอีก" แสงเดือนกล่าว

 

ในปัจจุบัน ปางช้างหลายแห่งในเชียงใหม่ปรับรูปแบบการท่องเที่ยวโดยเน้นให้ชมวิถีชีวิตตามธรรมชาติของช้างและให้อาหารช้างเท่านั้น โดยไม่มีการขี่ช้าง การแสดงช้าง หรือล่ามโซ่

 

แต่แสงเดือนยังคงเป็นห่วงภาพรวมของการท่องเที่ยวทีมีช้างเป็นกำลังหลัก โดยเฉพาะปางช้างที่ไม่อาจดูแลช้างต่อไปได้ และอาจนำช้างกลับไปสู่อุตสาหกรรมทำไม้ ลากซุงอีก อย่างไรก็ดี ในความยากลำบากนี้ เธอมองว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

 

"ถ้าวันนี้ไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คนเราก็ยังคงจะเมามันกับการทำอย่างไรก็ได้ให้มีโชว์ที่ดีที่สุดเพื่อมาแข่งขันกันแย่งลูกค้า แต่หลังจากนี้เจ้าของปางช้างก็คงมีเวลาได้คิดใหม่ และนักท่องเที่ยวก็คงได้มีเวลาคิดทบทวนเช่นเดียวกัน" แสงเดือนกล่าว

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง