รีเซต

Cryptocurrency กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่คุณควรรู้

Cryptocurrency กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่คุณควรรู้
TNN ช่อง16
14 พฤษภาคม 2564 ( 21:03 )
776

สืบเนื่องมาจากประเด็นที่ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทรถยนต์ Tesla ประกาศหยุดรับชำระด้วย Bitcoin เพราะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในบทความนี้จะพาคุณไปดูว่า Cryptocurrency หลายสกุลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

Cryptocurrency คือเงินดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาบนพื้นฐานหลักการ Decentralization เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนโดยไม่ผ่านธนาคารกลาง (จะมีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถเช็คยอดเข้า-ออกได้ด้วยตนเอง) ทำให้มูลค่าของเหรียญเหล่านี้ไม่ถูกกำหนดโดยกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาด


ปัจจุบันมี Cryptocurrency เกิดขึ้นมากมาย โดยเหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเวลานี้คือ Bitcoin และ Ethereum มีภาคเอกชนหลายแห่งอนุญาตให้ชำระหนี้ด้วยเหรียญเหล่านี้ได้ อีกทั้งตลาดการเทรดเหรียญยังครึกครื้น จนปัจจุบันมูลค่าของ Bitcoin พุ่งสูงถึงหลักล้านบาทต่อเหรียญ ในขณะที่ Ethreum มีมูลค่าหลักแสนบาทต่อเหรียญ

ราคา Bitcoin พุ่งสูงอย่างรวดเร็ว
ที่มาของภาพ https://theconversation.com/bitcoin-why-the-price-has-exploded-and-where-it-goes-from-here-152765

 


จริง ๆ แล้ว Bitcoin, Ethereum และ Cryptocurrency อื่น ๆ คือชุดคำคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่ได้มาจากการแก้สมการ โดยการที่จะได้มาซึ่งเหรียญเหล่านี้ จะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการประมวลผลแก้สมการคอมพิวเตอร์ เมื่อสามารถแก้ได้จนครบถ้วนก็จะได้เหรียญ Cryptocurrency เป็นค่าตอบแทน เราเรียกกระบวนการเหล่านี้ว่า การทำเหมือง (Mining)


ปัญหาอยู่ในจุดนี้ การทำเหมืองต้องอาศัยเครื่องมือในการดำเนินการ เช่น Bitcoin ใช้เครื่อง ASIC หรือ Ethereum ใช้การ์ดจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน แล้วเราสร้างพลังงานไฟฟ้าได้อย่างไรล่ะ? ส่วนใหญ่มาจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นเอง นั่นเท่ากับว่ายิ่งมูลค่าของ Cryptocurrency เพิ่มขึ้นมากเท่าไร จะมีคนหันมาทำเหมืองกันมากขึ้นเท่านั้น และนั่นหมายถึงพลังงานไฟฟ้าปริมาณมากต้องสูญเสียไปกับการทำเหมืองด้วย


เครื่อง ASIC
ที่มาของภาพ https://www.newyorker.com/news/daily-comment/why-bitcoin-is-bad-for-the-environment

 


ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์คาดการณ์ว่า การทำเหมือง Bitcoin จากทั่วโลก (เฉพาะ Bitcoin ยังไม่รวมเหรียญสกุลอื่น) ใช้พลังงานมากก 120 เทราวัตต์-ชั่วโมง (120 ล้านล้านวัตต์-ชั่วโมง) ต่อปี มากกว่าปริมาณไฟฟ้าต่อปีที่ใช้ในประเทศมาเลเซีย, สวีเดน หรืออาร์เจนตินาเสียอีก นอกจากนี้หากเทียบ Bitcoin เป็นประทศ จะถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 ของประเทศที่ใช้ไฟมากที่สุดในโลกเลยทีเดียว


อีกหนึ่งข้อมูลจาก Digiconomist ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของ Bitcoin ต่อสิ่งแวดล้อม เผยว่าการทำเหมือง Bitcoin ใช้พลังงานมากถึง 115 เทราวัตต์-ชั่วโมง ส่งผลให้มีการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก (Carbon footprint) พอ ๆ กับปริมาณที่พบในกรุงลอนดอน


ยิ่งไปกว่านั้นมีการคาดการณ์ว่า หากยังมีการทำเหมือง Bitcoin ต่อไป ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้ จะทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสภายในระยะเวลาน้อยกว่า 30 ปี นั่นแสดงว่าการทำเหมือง Bitcoin รวมถึง Cryptocurrency อื่น ๆ ส่งเสริมให้เกิดภาวะโลกร้อนตามมา


ที่มาของภาพ https://www.livemint.com/

 


นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ อีลอน มัสก์ ต้องยุติการรับชำระด้วย Bitcoin แต่ตัวของเขาเองยังให้ความสนใจกับ Cryptocurrency เหมือนเดิม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ทางออกที่ดีคงต้องหาสกุลเงินที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด (ซึ่งมัสก์ต้องการเหรียญที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่า 1% ของพลังงานที่ใช้ในการทำเหมือง Bitcoin)


แม้ว่าจะมีการคิดค้นเหรียญที่เคลมว่าใช้พลังงานต่ำ เช่น เหรียญ Chia ซึ่งใช้ HDD/SSD (Hard Disk/Solid-State Drive) ในการทำเหมือง ถึง SSD จะใช้พลังงานต่ำกว่าเครื่อง ASIC หรือการ์ดจอคอมพิวเตอร์มาก แต่เนื่องจาก SSD มีอายุการใช้งานที่จำกัด ยิ่งมีการเขียนและลบข้อมูลอยู่ตลอดเวลาจากการทำเหมือง จะส่งผลให้ SSD พังภายในไม่กี่เดือน (ทั้ง ๆ ที่การใช้งานทั่วไปอยู่ได้นานหลายปี) สุดท้ายก็จะเกิดเป็นขยะอิเล้กทรอนิกส์ต่อไป (อ่านข่าวเพิ่มเติมได้จาก ลิ้งก์นี้)

ที่มาของภาพ Techspot.com

 

ทางออกที่พอเป็นไปได้ คือการเลือกใช้สกุลเงินที่ได้รับผ่านการซื้อขายเท่านั้น (ไม่ต้องทำเหมือง) ก็อาจช่วยลดการใช้พลังงานโดยรวมได้ อย่างไรก็ตาม บางคนมองว่าเหรียญประเภทนี้ขัดต่อหลักการ Decentralization จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก


อีกทางเลือกหนึ่ง คือการคิดค้นสกุลเงินใหม่ที่ทำเหมืองด้วยเครื่องมือที่ใช้พลังงานต่ำ และต้องไม่เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเวลาอันรวดเร็วอย่างกรณีของ Chia ทว่า ในเวลานี้ยังไม่มีเหรียญประเภทนี้เกิดขึ้น หวังว่าในอนาคตอาจมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น และทุกภาคส่วนจะช่วยสนับสนุนเพื่อลดการทำเหมือง Cryptocurrency ที่ใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก AzocleanTech, New YorkerLive Mint

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง