รีเซต

ขีปนาวุธ ATACMS คืออะไร มีบทบาทอย่างไรในกลยุทธ์ทางการทหาร

ขีปนาวุธ ATACMS คืออะไร มีบทบาทอย่างไรในกลยุทธ์ทางการทหาร
TNN ช่อง16
20 พฤศจิกายน 2567 ( 14:28 )
13

หลังจากที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกา ประกาศอนุญาตให้ยูเครนใช้ระบบขีปนาวุธซึ่งมีชื่อว่า ATACMS ที่สหรัฐอเมริกาส่งไปให้ เพื่อสนับสนุนการโจมตีของยูเครน ซึ่งเป็นสร้างเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐอเมริกา ในปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน TNN Tech จึงเจาะลึกถึงเทคโนโลยีและบทบาทในเชิงกลยุทธ์ของขีปนาวุธ ATACMS 


สเปกขีปนาวุธ ATACMS ของสหรัฐอเมริกา

ขีปนาวุธ ATACMS อ่านว่า อะแทคคึมส์ (สัทศาสตร์: əˈtækəmz) ซึ่งย่อมาจาก ระบบจรวดเชิงยุทธศาสตร์กองทัพบก (Army TACtical Missile System) รุ่นเอ็มจีเอ็ม วันฟอร์ตี (MGM-140) เป็นขีปนาวุธเชิงกลยุทธ์ความเร็วเหนือเสียง (Supersonic Tactical Ballistic Missile) ที่ออกแบบและพัฒนาโดยลิง เทมโค วอทท์ (Ling-Temco-Vought: LTV) ในปี 1986 และมีล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) บริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ชื่อดังเป็นผู้ดูแลในปัจจุบันจากการเข้าซื้อกิจการ LTV


ขีปนาวุธอะแทคคึมส์ (ATACMS) มีความยาว 4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.1 เมตร ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงแข็ง (solid propellant fuel) ซึ่งให้ระยะทางการยิงสูงสุด 300 กิโลเมตร พร้อมความเร็วในการยิงไม่น้อยกว่า 3 มัค หรือประมาณ 3,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักรวมไม่ต่ำกว่า 1.3 ตัน


เนื่องจากตัวขีปนาวุธมีหลายรุ่นย่อย ทำให้มีน้ำหนักหัวรบระหว่าง 160 - 560 กิโลกรัม แล้วแต่รุ่น มาพร้อมระบบนำวิถีภายใน (Internal Navigation System) อย่างเดียว หรือระบบ INS ที่มีระบบจีพีเอส (GPS) ที่ใช้ดาวเทียมทางการทหารระบุพิกัดช่วยนำทาง แล้วแต่รุ่นย่อย โดยรองรับการยิงด้วยรถสายพานยิงจรวดหลายลำกล้อง (Multiple Launch Rocket System: MLRS) รุ่น M270 และรถยิงจรวด - ปืนใหญ่แบบเคลื่อนที่เร็ว (High Mobility Artillery Rocket System: HIMARS) รุ่น M142


การใช้งานขีปนาวุธ ATACMS ของสหรัฐอเมริกา

ขีปนาวุธอะแทคคึมส์ (ATACMS) ถูกใช้ในปฏิบัติการทางการทหารภาคพื้นดินของสหรัฐอเมริกาในอดีตหลายครั้ง โดยเฉพาะในสงครามอ่าว (Gulf War) และสงครามอิรัก (Iraq War) โดยมีจุดเด่นที่ถึงแม้จะโดนก่อกวนสัญญาณจากระบบต่อต้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (electronic warfare: EW) เพื่อทำลายการนำทางผ่าน GPS แต่ก็ยังมีระบบนำทางภายในหัวรบนำทางไปยังเป้าหมายได้


ทั้งนี้ นอกจากกองทัพบกของสหรัฐอเมริกาและหน่วยนาวิกโยธิน (USMC) แล้ว ขีปนาวุธอะแทคคึมส์ (ATACMS) ยังมีข่าวการจัดซื้อเข้าประจำการในกองทัพและหน่วยทางการทหารหลายพื้นที่ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เช่น ลิธัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย โปแลนด์ โมร็อกโค รวมถึงยูเครนที่จะได้ระบบ ATACMS จากสหรัฐอเมริกาไปใช้งานเช่นกัน 



ข้อมูล Missle Threat, Defence-Industry, Army Recognition 

ภาพ Wikipedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง