รีเซต

8 วิธีตรวจสอบ "ทองคำจริง - ทองคำปลอม" เช็กได้ด้วยตัวเอง

8 วิธีตรวจสอบ "ทองคำจริง - ทองคำปลอม" เช็กได้ด้วยตัวเอง
TNN ช่อง16
25 กันยายน 2567 ( 10:45 )
19

ทองคำเป็นสิ่งมีค่า และผู้คนปรารถนามัน ดังนั้นมันจึงมักถูกนำมาเป็นสิ่งหลอกลวงผู้คนในหลายวิธี เช่น การสร้างทองปลอม ทั้งนี้ เว็บไซต์ฟอร์บส์ (Forbes) ได้เผยวิธีตรวจสอบทองคำแท้กับทองคำปลอมเบื้องต้นด้วย 8 วิธี พร้อมกับระบุว่า ตามมาตรฐานสากล ทองคำที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 10 กะรัตหรือน้อยกว่าร้อยละ 41.7 จะถือว่าเป็นของปลอม 


ที่มา : Reuters

1. มองหาตรา Hallmark

ปกติทองมักจะถูกประทับตราฮอลล์มาร์ก (Hallmark) ซึ่งเป็นตราที่ประทับลงบนทองเพื่อรับรองว่าเป็นทองแท้ โดยมักจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของทองเป็น กะรัต (Karat) หรือ มิลลิซิมอล ไฟเนส (Millesimal Fineness) 


กะรัต (K) เป็นหน่วยวัดที่ใช้ระบุความบริสุทธิ์ของทองคำ โดยทองที่บริสุทธิ์ที่สุดคือ 24 กะรัต ซึ่งหมายความว่า 24 ใน 24 ส่วน เป็นทองคำบริสุทธิ์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าบริสุทธิ์ 99.9% 


ตัวเลขกะรัตที่พบมากที่สุด ได้แก่ 

- 8K หมายถึง มีทอง 8 ส่วนและโลหะผสม 16 ส่วน หรือ มีทองคำบริสุทธิ์ 33.3%

9K หมายถึง มีทอง 9 ส่วนและโลหะผสม 15 ส่วน หรือ มีทองคำบริสุทธิ์ 37.5%

10K หมายถึง มีทอง 10 ส่วนและโลหะผสม 14 ส่วน หรือ มีทองคำบริสุทธิ์ 41.7%

14K หมายถึง มีทอง 14 ส่วนและโลหะผสม 10 ส่วน หรือ มีทองคำบริสุทธิ์ 58.3%

18K หมายถึง มีทอง 18 ส่วนและโลหะผสม 6 ส่วน หรือ มีทองคำบริสุทธิ์ 75%

22K หมายถึง มีทอง 22 ส่วนและโลหะผสม 2 ส่วน หรือ มีทองคำบริสุทธิ์ 91.7%

24K หมายถึง มีทอง 24 ส่วน หรือ ทองคำบริสุทธิ์ 99.9%


ส่วน Millesimal Fineness เป็นระบบทั่วไปที่ใช้ระบุความบริสุทธิ์ของแพลตทินัม ทองคำ และโลหะผสมเงิน ด้วยสัดส่วนโลหะผสมต่อ 1,000 ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นโลหะผสมที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบร้อยละ 75 จะแสดงเลข 750 เป็นต้น


ตัวเลขต่อไปนี้ ถือเป็นตัวเลขค่า Millesimal Fineness แสดงความบริสุทธิ์ที่เป็นมาตรฐานที่ใช้โดยทั่วไป ได้แก่


333, 375, 417, 500, 583.3, 585, 625, 750, 834, 899, 900, 916, 958, 986, 990, 995, 999, 999.9, 999.99, และ 999.999


แต่ต้องบอกว่า ปัจจุบันการปลอมแปลง Hallmark นั้นทำได้ง่าย ดังนั้นหากเห็นตราสัญลักษณ์จึงไม่ได้ยืนยัน 100% ได้ว่าเป็นทองคำแท้ แต่หากตัวเลขแตกต่างจากที่กล่าวข้างต้น ให้พิจารณาไว้ว่า ทองคำดังกล่าวอาจเป็นของปลอมได้


นอกจากนี้ หากเป็นทองที่ไม่มีตราสัญลักษณ์ ก็ไม่ได้แสดงว่าเป็นทองปลอม 100% เนื่องจากอาจเป็นทองคำเก่า จนตราสัญลักษณ์ถูกลบเลือนไป ดังนั้นกรณีนี้อาจให้ช่างอัญมณีตรวจสอบเพิ่มเติม


2. มองหา Letter Markings

ในทองมักจะมีการประทับเครื่องหมายตัวอักษร (Letter Markings) ซึ่งแสดงถึงข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับทองนั้น ๆ ที่พบได้โดยทั่วไปมีดังนี้


GP (Gold Plated หรือ ชุบทอง)

GF (Gold Filled หรือ เติมทอง)

GE (Gold Electroplated หรือ ชุบทองด้วยไฟฟ้า)

GEP (Gold Electroplated หรือ ชุบทองด้วยไฟฟ้า)

RGP (Rolled Gold Plate หรือ แผ่นทองรีด)

HGP (Heavy Gold Plated หรือ ชุบทองหนัก)

HEG (Heavy Gold Electroplated หรือ ชุบทองหนักด้วยไฟฟ้า)


ซึ่งตัวอักษรเหล่านี้ บ่งบอกว่าเครื่องประดับทองชิ้นนั้นอาจจะไม่ได้ทำมาจากทองบริสุทธิ์ทั้งหมด ทั้งนี้ ทองคำ 10K หรือมีทองคำบริสุทธิ์ 41.7% ถือว่าบริสุทธิ์อยู่ แต่หากน้อยกว่านั้น และมีเครื่องหมายบ่งบอกดังกล่าว ก็จะไม่ใช่ทองคำบริสุทธิ์แล้ว แต่ถือเป็นทองชุบ ซึ่งด้านในเป็นโลหะอื่น และมีโลหะทองชุบด้านนอกบางมาก ๆ 


ในที่นี้มีคำว่า Heavy หรือ หนัก ซึ่งหมายถึงมีชั้นทองชุบหนา แต่ถึงอย่างไรก็ยังถือว่าไม่ใช่ทองบริสุทธิ์ ถือว่าเป็นทองคำปลอม


3. ถูทองกับผิวหนัง

ถือเป็นวิธีการง่าย ๆ คือหลังจากถือไว้บนมือสักพัก เหงื่อจะเริ่มออก ให้เริ่มถูทองกับผิวหนัง หากทองเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ น้ำเงิน หรือเขียว แสดงว่าทองชิ้นนั้นเป็นทองปลอม แต่ถ้าทองไม่เปลี่ยนแปลง ถือว่าเป็นทองคำแท้ อย่างไรก็ตาม คำแนะนำเพิ่มเติมคือให้ลบเครื่องสำอางออกจากผิวหนังส่วนที่จะถูทองก่อน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ


4. ทดสอบกับน้ำ

เตรียมภาชนะบรรจุน้ำ แล้วหย่อนทองลงไปในน้ำ ทั้งนี้ทองถือว่าเป็นวัสดุที่มีความหนาแน่นสูง หากทองจมน้ำ เป็นไปได้ที่จะเป็นทองแท้ แต่หากทองลอยเหนือผิวน้ำ หรืออยู่ตรงกลางภาชนะ แสดงว่าทองนั้นเป็นทองปลอม


5. การทดสอบด้วยแม่เหล็ก

ให้นำแม่เหล็กแรงสูงมาติดกับทองคำ ทั้งนี้ทองคำถือเป็นวัสดุที่ไม่มีส่วนประกอบของแม่เหล็ก ดังนั้นหากแม่เหล็กดูดติดทองชิ้นนั้น แสดงว่าเป็นทองปลอม แต่หากไม่เกิดปฏิกริยาใด ๆ อาจจะเป็นทองคำแท้ได้


ทั้งนี้ โลหะที่เคลือบทอง แม่เหล็กก็อาจจะดูดไม่ติดเช่นกัน ดังนั้นวิธีนี้จึงไม่สามารถยืนยันทองแท้หรือทองปลอมได้ 


6. ทดสอบกับน้ำส้มสายชู

ให้หยดน้ำส้มสายไม่กี่หยดลงบนทองคำ หากทองไม่มีการเปลี่ยนสี แสดงว่าเป็นทองคำจริง แต่หากมีการเปลี่ยนสี แสดงว่าเป็นทองปลอม


7. ทดสอบกับกระเบื้องเซรามิก

เพียงแค่นำทองไปถูกับกระเบื้องเซรามิกที่ไม่ได้เคลือบผิว หากทิ้งรอยขูดสีทองเอาไว้ แสดงว่าเป็นทองคำจริง หากเป็นโลหะอื่น ๆ จะทิ้งรอยสีดำ หรือสีเข้มอื่น ๆ ไว้


8. เปรียบเทียบขนาดและน้ำหนักกับทองจริง

การทดสอบนี้จำเป็นต้องมีทองที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นทองคำจริง จากนั้นนำมาเปรียบเทียบขนาดกับน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับทองที่ต้องการทดสอบ หากทองที่ต้องการทดสอบมีน้ำหนักเบาเกินไป ทั้ง ๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ดังนั้นทองที่ต้องการทดสอบอาจจะเป็นทองปลอมได้


ที่มาข้อมูล Forbes

ที่มารูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง