รีเซต

อุณหภูมิโลกพุ่งทุบสถิติ ปี 67 คาดอากาศโลกปั่นป่วนหนัก

อุณหภูมิโลกพุ่งทุบสถิติ ปี 67 คาดอากาศโลกปั่นป่วนหนัก
TNN ช่อง16
5 ธันวาคม 2566 ( 15:53 )
98

“ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่ง ถ้าฝนตก ก็จะตกหนัก เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถ้าร้อนก็จะร้อนจัด  หากหิมะตกก็จะตกหนัก หลายชาติในยุโรป เช่น เยอรมนี เจอหิมะตกหนักสุดในรอบเกือบ 100 ปี ขณะที่ในแอฟริกาตะวันออก ทั้งเคนยา โซมาเลีย เอธิโอเปีย และแทนซาเนีย เจอฝนตกน้ำท่วมหนัก 

ส่วนเอเชียใต้ อินเดีย เจอพายุไซเคลนรุนแรง เกิดน้ำท่วมหนัก สภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้วมาจาก ภาวะโลกร้อน หรือการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก”



องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO เปิดเผยข้อมูลว่าในเดือนธันวาคม ปีนี้ (2566)จะเข้าสู่ภาวะโลกร้อนที่สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1.4 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ทำลายสถิติเดิม โดยรายงานสถานะสภาพภูมิอากาศโลกชั่วคราวของ WMO ยืนยันว่าปี 2566 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ กว่าสถิติเดิมในปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกมีอุณหภูมิร้อนกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนที่บรรดาผู้นำโลกต้องเผชิญ ท่ามกลางความพยายามอย่างหนักในการต่อสู้กับการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล



รายงานระบุด้วยว่า ในปีนี้ น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติก ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ น้อยกว่าสถิติก่อนหน้านี้ ประมาณ 1 ล้านตารางกิโลเมตร โดยธารน้ำแข็งของสวิตเซอร์แลนด์สูญหายไปประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณที่เหลืออยู่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และไฟป่าก็เผาผลาญรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในแคนาดา คิดเป็นพื้นที่ป่าของประเทศประมาณร้อยละ 5 



การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถูกขับเคลื่อนจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ประจวบกับการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ได้ผลักดันให้โลกเข้าสู่ภาวะโลกร้อนรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้นักวิทยาศาสตร์ คาดการณ์ว่า ปีหน้า อาจเลวร้ายลง เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโย มีแนวโน้มที่จะถึงจุดสูงสุดในฤดูหนาวนี้ และจะส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นปีในปี 2567



จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้การประชุมสุดยอดกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม 2566 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ต้องร่วมมือกันในการควบคุมอุณหภูมิพื้นผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม


 

สิ่งหนึ่งของความสำเร็จจากที่ประชุม COP28 ที่มีรัฐบาลประเทศต่างๆเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม คือการอนุมัติจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติสภาพภูมิอากาศ (climate disaster fund) อย่างเป็นทางการ เพื่อนำเงินช่วยไปสนับสนุนประเทศที่อ่อนไหวต่อผลกระทบปัญหาสภาพภูมิอากาศ ให้สามารถต่อสู้รับมือกับความเสียหาย จากภัยพิบัติที่เป็นผลมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อน ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากในการรับมือปัญหา ตั้งแต่ภัยแล้ง น้ำท่วม ไปจนถึงระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่ง กลุ่มประเทศยากจนได้ต่อสู้เรียกร้องในเรื่องเงินทุนสนับสนุนช่วยเหลือการต่อสู้กับผลกระทบปัญหาโลกร้อนนี้ มานานถึง 30 ปี



นอกจากนี้ 134 ประเทศได้ลงนามข้อตกลงความมั่นคงทางอาหาร โดยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรืออียู บราซิล และจีน ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ด้วย ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จะรวมเอาเรื่องอาหารและการเกษตร เข้าไปอยู่ในแผนการภูมิอากาศแห่งชาติโดยจะเร่งบูรณาการระบบอาหาร เข้าสู่แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติของแต่ละประเทศ เนื่องจากระบบอาหารถูกประเมินว่า ต้องรับผิดชอบถึง 1 ใน 3 ของการแพร่ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ 



นอกการนี้ยังมีตัวแทนจาก 110 ประเทศ สนับสนุนให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2030 และให้คำมั่นจะเริ่มโครงการใหม่ ๆ สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด 


ส่วน สหรัฐฯและจีน 2 ประเทศที่ปล่อยก๊าซโลกร้อนมากที่สุดในโลก ประกาศร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงนับเป็นสัญญาณที่ดี ที่จะกดอุณหภูมิโลก ลดความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต



เรียบเรียงโดยมัชรี ศรีหาวงศ์

ข้อมูล : สำนักข่าวรอยเตอร์  , TNNช่อง 16


ข่าวที่เกี่ยวข้อง