รีเซต

อนุทิน โต้ปมฉีดวัคซีนโควิด-19 ช้า ลั่น! เลอะเทอะ อย่ากวนน้ำให้ขุ่น ปรับแผนทั่วไทยเริ่ม 1 เม.ย.นี้

อนุทิน โต้ปมฉีดวัคซีนโควิด-19 ช้า ลั่น! เลอะเทอะ อย่ากวนน้ำให้ขุ่น ปรับแผนทั่วไทยเริ่ม 1 เม.ย.นี้
มติชน
30 มีนาคม 2564 ( 16:49 )
79

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เสียงทักท้วงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของ สธ.ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีวัคซีนค้างสต๊อกอยู่กว่า 1 ล้านโดส ว่า เลอะเทอะ ขณะนี้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เข้ามาในประเทศไทยมี 1 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค และ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งในเดือนเมษายนนี้ จะมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีก 1 ล้านโดส หลังจากนั้นเดือนมิถุนายน วัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตภายในประเทศ โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ก็จะเริ่มทยอยนำฉีดให้กับประชาชน

 

 

“ขณะนี้มีวัคซีนเข้ามาแล้ว ควรจะพูดแต่เรื่องดีๆ เรื่องที่เป็นมงคล ไม่ใช่มองหาความผิด ความบกพร่อง ซึ่งทุกวันนี้ สธ.ก็ได้เร่งฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้เร็วที่สุด เพราะยังมีล็อตใหญ่จะทยอยมาอีก 10 ล้านโดสต่อเดือน เนื่องจากวัคซีนมีอายุการใช้งาน เก็บนานไม่ได้ ส่วนการฉีดวัคซีนในประเทศ อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานว่าสามารถฉีดได้ตามเป้าหมาย เราก็มีการปรับแผนกระจายวัคซีนไปในเมืองท่องเที่ยว และจังหวัดแนวชายแดน เช่น จ.ภูเก็ต อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดูแลเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง บุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ปฏิบัติงาน วันนี้มีวัคซีนเข้ามาแล้ว มีแต่เรื่องดีๆ ต้องให้กำลังใจอย่างเดียว อย่ากวนน้ำให้ขุ่น ต้องใช้กำลังกาย กำลังใจส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน คิดแต่เรื่องดีๆ สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น” นายอนุทิน กล่าว

 

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงแผนการเจรจาซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 5 ล้านโดส มีความคืบหน้าอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เปิดเป็นกรณีเสริมไว้

 

 

“ผู้ผลิตเองก็เน้นจัดส่งวัคซีนที่เราได้สั่งซื้อแล้วจำนวน 1 ล้านโดส ในเดือนเมษายนนี้ให้ทันก่อน ขณะนี้คิดว่าวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตในประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งมีแนวโน้มการผลิต การจัดส่งที่ดีมาก เป็นไปตามความคาดหมาย เป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย ดังนั้น หากดูจากไทม์ไลน์ที่วัคซีนแอสตร้าฯ จะทยอยฉีดได้ในเดือนมิถุนายน ก็สามารถประหยัดงบประมาณในการจัดหาวัคซีนสำรองได้ นอกจากนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ก็ได้ระบุในสัญญาว่าจะคืนค่าสนับสนุนพัฒนาศักยภาพโรงงานผลิตกลับมาในรูปแบบของวัคซีน ซึ่งก็อยู่ที่ประมาณ 4-5 ล้านโดส สำหรับฉีดให้ประชากรกว่า 3 ล้านคน” รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าว

 

 

เมื่อถามต่อว่า แผนวัคซีนของไทยไม่ได้รับผลกระทบกรณีที่มีบางประเทศชะลอส่งออก นายอนุทิน กล่าวว่า ไทยไม่ได้รับผลกระทบ เพราะพึ่งพาตัวเองได้ ยืนได้ด้วยขาตัวเอง โดยแผนทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายตั้งแต่แรก หากวันนี้ ไม่มีโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศ ก็อาจนอนไม่หลับ ดังนั้น การมีโรงงานผลิตในประเทศ ก็จะลดปัญหาการถูกตัดคิวส่งวัคซีนได้

 

 

เมื่อถามว่า มีการหารือกับประเทศที่พร้อมจับคู่แทรเวล บับเบิ้ล (Travel Bubble) หรือยัง นายอนุทิน กล่าวว่า ได้หารือไว้บ้างแล้ว แต่จะต้องดูในหลักการ คือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย ทำให้ผู้ที่ได้รับมีภูมิคุ้มกัน มีความปลอดภัย เราก็สามารถให้เขาเดินทางเข้าประเทศไทยได้

 

 

“ใครก็ตามที่ได้รับวัคซีน มีความปลอดภัยแล้ว ก็สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ มาทำธุรกรรมได้ตามปกติ เราไม่ต้องคิดถึงเรื่องประเทศบับเบิ้ล เราไม่ต้องไปรอว่าคนอื่นจะรับเราหรือเปล่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องศักดิ์ศรี แต่เป็นเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อไรเราพร้อม ก็สามารถดำเนินการได้ อย่ากลัว อย่ากังวลเพราะหลักฐานวิชาการยืนยันแล้วว่า ผู้ที่รับวัคซีนแล้ว แม้จะติดเชื้ออาการก็จะไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ เราก็ต้องเชื่อในผลการศึกษาวิจัย” นายอนุทิน กล่าว

 

 

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้การฉีดวัคซีนไม่มีปัญหา และเป็นไปตามแผน ล่าสุดฉีดวัคซีนแล้วไปกว่า 1 แสนโดส และมีผู้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้วจำนวนมาก การฉีดที่ผ่านมา ไม่มีผู้ได้รับผลข้างเคียงรุนแรง ล่าสุด วันนี้มีการปรับแผนการฉีดวัคซีนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากมีวัคซีนเข้ามา 8 แสนโดส เดิมจะกระจายใน 22 จังหวัด ก็ปรับใหม่โดยให้วัคซีนทุกจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 1 เมษายนนี้ ดังนี้

 

 

1.จังหวัดเป้าหมายเดิม 22 จังหวัด เพื่อควบคุมป้องกันโรค 6 จังหวัด 3.5 แสนโดส เพื่อการท่องเที่ยว 8 จังหวัด 2.4 แสนโดส และพื้นที่ชายแดน 8 จังหวัด 5 หมื่นโดส

และ 2.จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ 1.6 แสนโดส เพื่อเป็นการซักซ้อมระบบการฉีดวัคซีนก่อนที่จะมีวัคซีนล็อตใหญ่ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะกระจายให้จังหวัดขนาดเล็กประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน จังหวัดละ 800 โดส จังหวัดขนาดใหญ่ ประชากรมากกว่า 1 ล้านคน จังหวัดละ 1,000 โดส และจังหวัดขนาดใหญ่พิเศษ ประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน จังหวัดละ 1,200 โดส โดยฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุข และจะมีวัคซีนเพิ่มสำหรับ อสม.จังหวัดละ 1,000 โดส ดังนั้น จังหวัดเล็กจะได้ 1,800 โดส จังหวัดใหญ่ 2 พันโดส และจังหวัดใหญ่พิเศษ 2,200 โดส

 

“สำหรับการฉีดวัคซีนขอให้คำนึงถึงพื้นที่ โดยเน้นพื้นที่หรืออำเภอมีความเสี่ยง มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า เจ้าหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงก่อน จากนั้นค่อยลดหลั่นในอำเภออื่นๆ ลงไป ส่วนสถานที่ฉีดวัคซีนนอกจากสถานพยาบาลแล้ว ก่อนหน้านี้เรามีการฉีดที่ตลาดบางแค หรือ รพ.สนาม ใน จ.สมุทรสาคร โดยมีรถพยาบาลกู้ชีพชั้นสูงและบุคลากรทางการแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด สามารถฉีดได้วันละประมาณ 1,200 คน ก็จะถอดบทเรียนและอาจจะปรับแผนการฉีดวัคซีนนอกพื้นที่ เช่น รพ.สนาม, รพ.สต., ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ซึ่งขณะนี้มีบิ๊กซี และเซ็นทรัล ที่ตอบรับว่าสามารถใช้พื้นที่ หรือวัด ก็จะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง