เปิดวงจร "ขอทาน" ธุรกิจบาปข้ามแดน เงินดีกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 3 เท่า
ขอทานต่างด้าว กลายเป็นวงจรปัญหาที่ไม่เคยจบสิ้นสำหรับประเทศไทย แม้จะมีการปราบปราม กวาดล้าง มาแล้วหลายรอบก็ตาม โดยกรุงเทพมหานคร ถือเป็นพื้นที่เป้าหมายของขอทานข้ามชาติ ที่มุ่งหน้าเข้ามาหากินในเมืองหลวง เมืองเศรษฐกิจที่ไม่เคยไร้คนใจบุญ
จากข้อมูลของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่านอกจากกรุงเทพมหานครจะเป็นศูนย์กลางของขอทานต่างด้าวเหล่านี้ ยังพบว่าแต่ละจุดที่พบการกระจุกตัวของขอทานล้วนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมือง โดย 5 อันดับสูงสุด คือ อันดับ 1 เขตวัฒนา พบขอทานจำนวน 55 ราย อันดับ 2 เขตปทุมวัน 20 ราย อันดับ 3 คลองเตย 19 ราย อันดับ 4 ป้อมปราบศัตรูพ่าย 12 ราย และ อันดับ 5 สัมพันธวงศ์ 11 ราย
ขอทานวันเดียวรายได้ดีกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 3 - 5 เท่า
นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา หรือ เอก กระจกเงา ผู้ที่ติดตามปัญหาขอทานต่างด้าวมาอย่างยาวนานให้ข้อมูลว่าพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมืองหลวง โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าเป็นพื้นที่เป้าหมายของขอทานต่างด้าว ก็เพราะนอกจากจะมีผู้คนหนาแน่นแล้ว บางจุดยังมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ด้วย ทำให้เงินหมุนเวียนของรายได้จากเศษเงินนของคนใจบุญค่อนข้างสูงทีเดียว
“ผมเคยให้ทีมงานเฝ้าติดตามสังเกตพฤติกรรม และ สถิติการทำทานให้กับกลุ่มขอทานต่างด้าวใจกลางเมืองเหล่านี้ ซึ่งพบว่าแต่ละวันขอทานเหล่านี้มีรายได้ไม่เคยต่ำกว่าพันบาท ลองนึกภาพตามดูว่างานที่ไม่ซับซ้อน แค่นั่งเฉย ๆ ก็มีคนใจบุญให้เงิน แม้คนทำบุญจะไม่คิดเยอะ เพราะมองว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากมายอะไร แต่เมื่อเศษเหรียญถูกรวมเข้าเป็นก้อนก็พบว่าในแต่ละวันการขอทานสามารถทำเงินได้มากกว่าอาชีพบางอาชีพเลยทีเดียว ”
ไม่น่าเชื่อว่า “ขอทาน” ที่ดูน่าสงสาร กลับมีรายได้สูงกว่าผู้ใจบุญบางคนเสียอีก ข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงา สอดคล้องกับข้อมูลจากสถิติการจับกุมผู้ทำการขอทานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พบว่าเงินที่ได้จากการขอทาน ขึ้นอยู่กับสถานที่ หากเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของ กรุงเทพมหานคร จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1,000 – 2,000 บาทต่อวัน ขณะที่บางรายมีอาจมีรายได้สูงถึง 6,000 – 7,000 บาทต่อวัน
นั่นหมายความว่ารายได้ต่อเดือนของขอทานพวกนี้อาจสูงถึง 1 -2 แสนบาทสูงกว่าคนไทยที่จบปริญญาตรีเสียอีก จึงเป็นเหตุผลให้ขอทานจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจของไทย และ ไม่คิดที่จะไปทำมาหากินอย่างอื่น เพราะมีอาชีพที่ไม่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ไม่ลำบากแต่ได้เงินง่าย แถมใช้เวลาน้อย
"วงจรขอทาน" กวาดล้างเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ?
รายได้งาม ๆ ไม่เพียงดึงดูดใจเหล่าขอทานข้ามชาติเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นทุนรอน และ ใบเบิกทางให้กับขอทานเหล่านี้ย้อนกลับมาเข้าทำงานที่ริมฟุตบาทกรุงเทพครั้งแล้วครั้งเล่า คุณเอก กระจกเงา เล่าว่าเดิมทีขอทานต่างด้าวถูกนำตัวเข้ามา โดยขบวนการหรือแก๊งขอทาน แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ขอทานแต่ละรายเริ่มพบช่องทาง และ เข้าใจถึงรูปแบบ และ กลไกการเข้าสู่อาชีพขอทานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางมาด้วยตนเอง และ ยังชักชวนคนในครอบครัวเข้ามาเสริมทัพอีกด้วย ที่สำคัญแก๊งขอทานต่างด้าวรู้วิธีที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไม่ให้อยู่กับตัวทั้งหมด เพราะเมื่อถูกจับกุมก็มีความเสี่ยงที่ขอทานจะถูกยึดทรัพย์ หรือ ริบเงิน ที่ได้มาอย่างไม่สุจริต
คุณเอก กระจกเงา มองว่าขั้นตอนการจัดการกลุ่มขอทาน คือ การจับ ปรับ และ ผลักดันกลับประเทศต้นทาง เพราะมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน และ ใช้งบประมาณไม่มาก แต่การส่งตัวกลับเพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาได้ เพราะสุดท้ายขอทานเหล่านี้ก็จะกลับเข้ามาอีก
“วงจรการขอทานมีผู้เล่นอยู่ 3 กลุ่ม คือ ตัวขอทาน เจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย และ คนให้ทาน ซึ่งส่วนตัวมองว่ากลุ่มที่สำคัญที่สุด คือ กลุ่มคนให้ทาน เพราะถือเป็นแหล่งรายได้หลักของขอทานเหล่านี้ เข้าใจว่าคนไทยเป็นคนใจบุญ แต่ถ้าหากยังมีค่านิยมที่คิดว่าการให้เงินขอทานเท่ากับการทำบุญ ก็คงไม่มีวันที่จะตัดวงจรขอทานต่างด้าวออกไปจากสังคมไทยได้สำเร็จ ”
จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่าการให้เงิน “ขอทาน” ที่เคยถูกมองว่าเป็นการทำบุญ แท้จริงแล้วคือการส่งเสริมธุรกิจบาปเสียมากกว่า ซึ่งการให้เงินขอทานไม่เพียงส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้ไม่คิดทำอาชีพสุจริตเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นการส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้ดึงเด็ก และ เยาวชน เข้าสู่วงจรขอทาน เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความสงสารให้กับผู้ใจบุญ
เศษเงินในมือคุณที่หวังต่อชีวิตให้กับเด็กขอทาน แท้จริงแล้ว "ไม่ได้" ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับเป็นการทำลายอนาคตเด็กโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว
Exclusive Conyent By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNN ONLINE