“พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น” ร่วมเรียนรู้เรื่องเงินตราควบคู่ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น

พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น เป็นพิพิธภัณฑ์ 1 ใน 6 แห่งที่กรมธนารักษ์พัฒนาปรับปรุงที่ราชพัสดุให้เป็นพิพิธภัณฑ์ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านเงินตราไทย สะท้อนถึงพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564
อาคารพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น เดิมเป็นอาคารสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2511 จนกระทั่งหมดสัญญาเช่าที่ราชพัสดุในปี พ.ศ. 2560 กรมธนารักษ์จึงได้ปรับปรุงอาคารแห่งนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเงินตราไทย โดยเน้นเรื่องเงินตราท้องถิ่นของภาคอีสานเป็นพิเศษ
การมาชมนิทรรศการที่นี่ จะเปิดให้เข้าชมเป็นรอบๆ และมีผู้นำชมบรรยายในส่วนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ โดยที่นี่จะแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน คือ นิทรรศการธนารักษ์พัฒนา นิทรรศการเงินตราภาคอีสาน และ นิทรรศการเล่าเรื่องเมืองขอนแก่น
ในส่วนแรกคือ “นิทรรศการธนารักษ์พัฒนา” บอกเล่าเกี่ยวกับภาคกิจสำคัญของกรมธนารักษ์ และพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในความดูแลทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 6 แห่ง
ต่อมาคือ “นิทรรศการเงินตราภาคอีสาน” ที่เริ่มต้นตั้งแต่การใช้โลหะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ พาเดินทางย้อนเวลาไปในโลกของเงินตรา ที่เชื่อมโยงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยผ่าน “นาค” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนอีสาน ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาสมบัติมีค่าในทุกยุคทุกสมัย และ ภูมิปัญญางานโลหกรรม อันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของคนอีสานที่สืบทอดกันมายาวนาน
และส่วนสุดท้าย “นิทรรศการเล่าเรื่องเมืองขอนแก่น” บอกเล่าประวัติศาสตร์ ของเมืองขอนแก่นตั้งแต่ยุค 2500 ซึ่งภาครัฐได้กำหนดให้ ขอนแก่นเป็นเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ขอนแก่นมีการพัฒนาโดยภาครัฐเป็นอย่างมาก นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและเป็นรากฐานการพัฒนาของเมืองขอนแก่นมาถึงปัจจุบัน
ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์