รีเซต

ฉลามวาฬมีลูกตาหุ้มเกราะ คล้ายฟันซี่เล็กนับร้อยทำหน้าที่แทนเปลือกตา

ฉลามวาฬมีลูกตาหุ้มเกราะ คล้ายฟันซี่เล็กนับร้อยทำหน้าที่แทนเปลือกตา
บีบีซี ไทย
5 กรกฎาคม 2563 ( 12:32 )
505

Getty Images
ฉลามวาฬอ้าปากกว้างเพื่อกรองกินแพลงก์ตอน จะสังเกตเห็นดวงตาขนาดเล็กได้ที่ด้านข้างของส่วนหัว

 

ฉลามวาฬหรือยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล นอกจากจะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังมีอวัยวะบางชิ้นที่แปลกประหลาด อย่างเช่นเกราะแข็งภายในลูกตาซึ่งนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบเป็นครั้งแรก ทั้งยังได้ทราบว่าอวัยวะที่ทำหน้าที่แทนเปลือกตาดังกล่าว ประกอบด้วยโครงสร้างคล้ายฟันซี่เล็ก ๆ หลายร้อยซี่อีกด้วย

 

ทีมนักชีววิทยาจากศูนย์วิจัยโอกินาวะชูระชิมะ (OCRC)ของญี่ปุ่น เผยถึงการค้นพบข้างต้นในวารสาร PLOS ONE หลังจากใช้เครื่องซีทีสแกนตรวจดูลูกตาของฉลามวาฬที่ดองเก็บรักษาไว้ รวมทั้งทำการอัลตราซาวด์ดวงตาของฉลามวาฬสองตัวที่ยังมีชีวิตและอาศัยอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโอกินาวะชูระอุมิของญี่ปุ่นด้วย

 

 

ทีมผู้วิจัยได้พบโครงสร้างแข็งที่ไม่เคยมีผู้พบเห็นมาก่อนในลูกตาของฉลามวาฬ โดยโครงสร้างดังกล่าวเป็นเกล็ดที่มีลักษณะคล้ายฟันซี่เล็กงอกจากผิวหนัง (dermal denticle) ซึ่งฟันขนาดเล็กหลายร้อยซี่นี้เรียงตัวเป็นวงล้อมรอบส่วนสำคัญของลูกตาอยู่

 

เกล็ดแข็งชนิดพิเศษที่ไม่เหมือนเกล็ดปลาทั่วไปนี้ คือเกราะป้องกันตามธรรมชาติที่พบได้บนผิวหนังของฉลามหลายชนิด ทำให้ทีมผู้วิจัยคาดว่าโครงสร้างเกล็ดแข็งในลูกตาของฉลามวาฬ อาจทำหน้าที่ปกป้องดวงตาของมันจากอันตรายต่าง ๆ คล้ายกับเปลือกตานั่นเอง ซึ่งเกล็ดแข็งในลูกตานี้ถือว่าเป็นกลไกการปกป้องดวงตาแบบใหม่ที่พบในสัตว์มีกระดูกสันหลัง

 

ก่อนหน้านี้นักชีววิทยาเคยเชื่อกันว่า การมองเห็นไม่สู้สำคัญกับฉลามวาฬมากนัก เพราะการที่มันกรองกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารหลัก ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้สายตาในการล่าเหยื่อเหมือนฉลามทั่วไป นอกจากนี้ดวงตาของฉลามวาฬยังเล็กมากเมื่อเทียบกับร่างกายที่ใหญ่โต ทั้งยังไม่มีสมองส่วนกลางที่ช่วยในการรับรู้ของประสาทตาอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การค้นพบอวัยวะชิ้นใหม่นี้ได้เปลี่ยนแนวคิดที่เคยมีมาอย่างสิ้นเชิง เพราะกลไกปกป้องดวงตาที่มีอยู่ย่อมแสดงถึงความสำคัญของการมองเห็นในการดำรงชีวิตของฉลามวาฬ ซึ่งนักชีววิทยาจะได้ศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นนี้กันต่อไป

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง