ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค. ดิ่งสุดรอบ 275 เดือน เหตุวัคซีนล่าช้า-เสถียรภาพการเมืองลดลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,242 คน เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2564 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 275 เดือนหรือ 22 ปี 11 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เนื่องจากประชาชนส่วนใหญามีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในระลอกที่ 4 และการที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัดโดยออกมาตรการมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าเศรษกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นมา
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่ 4 แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลกว่าจะส่งผละกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ การแพร่กระจายของโควิดระลอกที่ 4 ว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และรัฐบาลจะมีการประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์เพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวดีขึ้นจากระดับที่คาดการณ์ไว้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาที่ระดับ 0 ถึง ลบ2% ปรับตัวดีขึ้นอยู่ในระดับ 0 ถึง 2%
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 33.8 36.3 และ 48.6 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกรกฎาคม ที่อยู่ในระดับ 35.3 38.0 และ 49.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด