ขึ้นค่าจ้าง 400 บาท/วัน ความหวังแรงงานไทย ย้อนดู 10 ปีก่อน ได้เท่าไหร่กันบ้าง?
ขึ้นค่าจ้าง 400 บาท/วัน ความหวังแรงงานไทย ย้อนดู 10 ปีก่อน ได้เท่าไหร่กันบ้าง?
ความคืบหน้ากรณีปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง แรงงาน กล่าวว่า จะมีการประกาศ “ปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
แต่ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี แต่ในหลักการเห็นตรงกันว่าน่าจะมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยคาดว่าภายในเดือน พ.ย.66 จะรู้รายละเอียดทั้งหมด
"ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 คงจะรู้รายละเอียดทั้งหมด จะประกาศให้เป็นของขวัญปีใหม่ ยังไงก็มากกว่าเงินเฟ้อบวกๆ แต่ไม่อยากพูดอะไรไปก่อน ไม่เช่นนั้นราคาสินค้าจะขยับขึ้นไปก่อน" นายพิพัฒน์ กล่าว
ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 328-354 บาท ซึ่งอยู่กับแต่ละพื้นที่ หากมีการปรับขึ้นไปเป็นวันละ 400 บาทตามที่มีข่าวก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะแรงงานที่ไม่มีทักษะต้องใช้เวลาฝึกราว 6 เดือนถึง 1 ปี ขณะที่แรงงานที่มีทักษะในปัจจุบันได้รับค่าแรงสูงกว่าวันละ 400 บาทอยู่แล้ว และในบางสาขาได้ค่าแรงวันละ 800 บาทก็ยังขาดแคลน
"อยากหารือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เพราะขณะนี้ทุกภาคส่วนมีความกังวล โดยจะนำข้อเสนอที่ได้รับในวันนี้ไปหารือต่อเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยไม่กระทบต่อนายจ้างและลูกจ้างสามารถยอมรับได้" นายพิพัฒน์ กล่าว
หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างแล้ว ตนจะไปขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย โดยจะประกาศค่าจ้างขั้นต่ำไๆด้ในช่วงใกล้ปีใหม่ เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากที่สุด
ขึ้นค่าแรง อย่าแซงต้นทุน สำคัญที่สุด อุตสาหกรรมอยู่รอด
โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ทำการวิเคราะห์และพบว่าการจะทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ
1.เปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิต เป็นผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัท และผู้ผลิตภายใต้รูปแบบและตราสินค้าของตนเอง
2.เปลี่ยนจากใช้แรงงานเป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องจักร และระบบออโตเมชั่น
3.เปลี่ยนจากผลิตเพื่อกำไร เป็นการผลิตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม
4.เปลี่ยนจากแรงงานไม่มีฝีมือ เป็นแรงงานที่มีฝีมือขั้นสูง
ผลักดัน 8 ประเด็นหลัก ข้อเสนอด้านแรงงาน
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสายงานแรงงาน ได้กล่าวถึงข้อเสนอด้านแรงงานที่ต้องการให้กระทรวงแรงงานช่วยผลักดัน มี 8 ประเด็นหลัก คือ
1. เพิ่มผลิตภาพแรงงาน
2. ส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในการนำระบบ Automation มาปรับใช้
3. จัดทำฐานข้อมูล (Big Data)
4. กระชับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ในการผลิตบุคลากรตามความต้องการของตลาดแรงงาน
5. แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว
6. แก้ไขปัญหาประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย
7. เพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน สนับสนุน ส่งเสริมให้จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน
8. ออกนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
ค่าแรง ค่าจ้าง ความหมายคืออะไร ?
ค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นค่าตอบแทนต่ำสุดซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นรายชั่วโมง รายวันหรือรายเดือนตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีความหมายเหมือนกับค่าแรงต่ำสุดซึ่งลูกจ้างจะขายแรงงานของตน แม้ว่ากฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลใช้บังคับในหลายรัฐ ก็ยังมีความเห็นต่างในผลดีและผลเสียของค่าจ้างขั้นต่ำ
กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ ในประเทศไทย
ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง กำหนดในอัตราต่อวัน กำหนดขึ้นครั้งแรกตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง กระทรวงแรงงาน เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565
ตารางค่าจ้างขั้นต่ำ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง (ฉบับที่ 11) บังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
354 ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง
353 กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
345 ฉะเชิงเทรา
343 พระนครศรีอยุธยา
340 กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
338 กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม
335 กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์
332 กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ
328 นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี
400 บาท/วัน ความหวังแรงงานไทย
สำหรับการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน เพื่อเป็นของขวัญให้กับคนไทยนั้น แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน ได้เปิดเผยกับทีมข่าวระบุว่า อีกด้านก็รู้สึกดีใจ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แต่อีกด้านยังมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาล ควบคุมราคาสินค้า บริการ ต่างๆ ให้มีความเหมาะสม สมดุล กับค่าจ้างที่ได้รับ
นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่ม 400 บาทต่อวันนั้น ส่วนตัวมองว่า เป็นตัวเลขที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่ได้รับคือ 330 - 350 บาท แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อเรามีรัฐบาลแล้ว กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ก็เท่ากับมีความหวังเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แรงงานกลุ่มนี้ ยังมีความกังวลอีกด้าน คือ นายจ้าง หรือ เจ้าของบริษัท จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะต้นทุนที่สูงมากขึ้น และจะตัดสินใจปิดกิจการ นั่นอาจหมายถึง พวกเขาอาจจะถูกเลิกจ้าง
ย้อนหลังค่าแรง 10 ปี แต่ละปีได้กี่บาท
ทีมข่าวได้รวบรวม ค่าแรงขั้นต่พ / ค่าจ้างขั้นต่ำ ย้อนหลังกว่า 10 ปี ซึ่งดูข้อมูลได้จาก กระทรวงแรงงาน พบว่า เมื่อปี 2553 ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 206 บาท / วัน โดยขณะนั้นข้าวกระเพรา ขายอยู่ที่จานละ 20-25 บาท และล่าสุดปี 2566 ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 330-350 บาท ส่วนราคาข้าวกระเพราเฉลี่ยอยู่จานละ 40-60 บาท
ปี 2551 148-203 บาท / วัน
ปี 2553 151-206 บาท / วัน
ปี 2554 159-221 บาท / วัน
ปี 2555 222-300 บาท / วัน
ปี 2556 300 บาท/วัน
ปี 2560 300 – 310 บาท/วัน
ปี 2561 308 – 330 บาท/วัน
ปี 2563 313 – 336 บาท/วัน
ปี 2565 328 – 354 บาท/วัน
ปี 2566 330 - 350 บาท / วัน
แน่นอนว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ พี่น้องแรงงานไทยต่างมีความคาดหวังกับรัฐบาล โดยเสียงเรียกร้องที่แรงงานไทยต้องการ คือ ให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทให้เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย : ยศไกร รัตนบรรเทิง
ภาพ : TNNOnline