รีเซต

เงินบาทเช้านี้ 9 ก.ค. 2568 เปิดตลาด “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” ที่ระดับ 32.57 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทเช้านี้ 9 ก.ค. 2568 เปิดตลาด “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” ที่ระดับ 32.57 บาท/ดอลลาร์
TNN ช่อง16
9 กรกฎาคม 2568 ( 08:45 )
10

ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.57 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.57 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.54 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.70 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 32.50-32.64 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้าง ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าเข้าใกล้โซน 147 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับ ญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น ขณะเดียวกันบรรดาผู้เล่นในตลาดก็ประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในปีนี้ หากญี่ปุ่นเผชิญภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงถึง 25%


เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับของราคาทองคำ

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากการปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับของราคาทองคำ ทว่า เงินบาทยังคงไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ และการปรับสถานะถือครองของบรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ในช่วงนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็กดดันให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซนแนวรับ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกที่จะทยอยเข้าซื้อทองคำ (Buy on Dip) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้ ที่อาจไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญซึ่งอาจส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูง (ทั้งในฝั่งอ่อนค่าและแข็งค่า)


ปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย

อีกทั้ง มุมมองของผู้เล่นในตลาดล่าสุด ก็เริ่มทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย และสอดคล้องกับมุมมองของเฟดใน Dot Plot ล่าสุด ทำให้การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เว้นแต่ว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าจะออกมาแข็งแกร่ง โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้ง อย่าง แน่นอนในปีนี้ ซึ่งเราประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลง หรือ ทยอยเพิ่มสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging Ratio) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นในหลายสกุลเงิน โดยเฉพาะสกุลเงินฝั่งเอเชีย ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวต้าน 32.65-32.75 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้น

ทั้งนี้ เราจะมั่นใจมากขึ้น ว่าเงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following

เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง