รีเซต

สนข. ลุยทำแผนเพิ่มเส้นทางเดินเรือ เชื่อมรถไฟฟ้า พื้นที่ กทม. และปริมณฑล เพิ่มทางเลือกประชาชน

สนข. ลุยทำแผนเพิ่มเส้นทางเดินเรือ เชื่อมรถไฟฟ้า พื้นที่ กทม. และปริมณฑล เพิ่มทางเลือกประชาชน
ข่าวสด
22 กุมภาพันธ์ 2564 ( 11:15 )
82

นายปัญญา ชูพานิช ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเปิดว่าสนข.อยู่ระเผยถึงโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่นว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพิ่มบริการการขนส่งในแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน

 

ทั้งนี้ สนข. ได้จัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น (W-MAP) ในลักษณะ ล้อ-ราง-เรือ เพื่อเป็นการยกระดับการเดินทางทางน้ำ โดยวันที่ 22 ก.พ. ได้เปิดรับความคิดเป็นจากหน่วยที่เกี่ยวข้องและประชาชน เพื่อนำข้อเสนอไปประกอบการศึกษาวิเคราะห์จัดทำแผนต่อไป

 

ทั้งนี้ปัจจุบันมีเรือโดยสารสาธารณะให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 เส้นทาง มีระยะทางรวม 77 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1) เส้นทางของเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือไฟฟ้าให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา 2) เส้นทางในคลองแสนแสบ 3) เส้นทางในคลองผดุงกรุงเกษม

 

4) เส้นทางในคลองภาษีเจริญ และ 5) เส้นทางในคลองประเวศบุรีรมย์ (คลองพระโขนง) ซึ่งพบว่า มีท่าเรือที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันในรัศมี 500 เมตร

 

ประกอบด้วยท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีอโศก สถานีหัวลำโพง สถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า สถานีเพชรเกษม 48 สถานีภาษีเจริญ สถานีสะพานพระนั่งเกล้า สถานีบางโพ สถานีสนามไชย และสะพานตากสิน

 

ท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสีเขียว) จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีราชเทวี และสถานีบางหว้า และท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) จำนวน 2 สถานี ได้แก่สถานีมักกะสัน สถานีรามคำแหง

 

อย่างไรก็ตาม การให้บริการเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำและคลอง ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านกายภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ เช่น การรุกล้ำลำคลอง ปัญหาของประตูระบายน้ำ หรือสะพานกีดขวางการเดินเรือ

 

ปัญหาด้านการให้บริการเดินเรือโดยสาร เช่น เรือวิ่งเสียงดัง เรือปล่อยควันดำ หรือปัญหาด้านความปลอดภัยกรณีมีผู้โดยสารหนาแน่นในช่วงเวลาเร่งด่วน รวมทั้ง ปัญหาด้านท่าเรือโดยสาร เช่น ท่าเรือชำรุด ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ท่าเรือ

 

ตลอดจนปัญหาด้านการเข้าถึงท่าเรือและเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น เช่น ทางเดินเข้าออกท่าเรือมีสิ่งกีดขวางแสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่ปลอดภัย ไม่มีป้ายบอกเส้นทางเข้าออกท่าเรือ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นห่างไกลจากท่าเรือ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง