คมนาคมทุ่ม 4.2 หมื่นล้าน ผุด 3 โปรเจ็กต์รถไฟต่อขยายสีแดงชานเมือง เชื่อมปริมณฑลด้านเหนือกับกทม.
คมนาคมทุ่ม4.2หมื่นล้าน ผุด3โปรเจ็กต์รถไฟต่อขยายสีแดงชานเมือง เชื่อมปริมณฑลด้านเหนือกับกทม.-ตั้งเป้าส่วนต่อขยายถึงธรรมศาสตร์รังสิต
คมนาคมผุด3โปรเจ็กต์ - รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ทำการศึกษาแผนการพัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต ให้ครอบคลุมสามารถเชื่อมต่อการเดินทางจากจังหวัดปริมณฑลด้านทิศเหนือ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร บริเวณพื้นที่ ดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี และอยุธยา
โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนที่จะพัฒนาต่อขยายโครงข่ายรถไฟชานเมือง อีก 3 โครงการ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,2610 ล้านบาท
สำหรับ 3 โครงการรถไฟต่อขยายประกอบด้วย 1. โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วง รังสิต-ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.48 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6,570 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
“คาดว่าจะสามารถจัดหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนได้ในเดือนธ.ค. 2565 เริ่มก่อสร้างใช้เวลา 3 ปี สามารถเปิดให้บริการ ธ.ค.ปี 2568 คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารราว 28,150 คน/วัน และในอนาคตจะมีการสร้างต่อขยายจากสถานีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ไปยังสถานีบ้านภาชี จ.อยุธยาด้วย โดยมีสถานีจำนวน 4 แห่ง คือ สถานีคลอง 1 ม.กรุงเทพ เชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต”
2. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม เชื่อมต่อกับรถไฟทางไกล ซึ่งจะดำเนินการ จำนวน 2 ช่วง คือ 1. ช่วง อยุธยา-บ้านภาชี ระยะทาง 19.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 13,069 ล้านบาท
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับเปลี่ยนแปลง โดยมีจำนวน 4 สถานี คือ บ้านม้า, มาบพระจันทร์, พระแก้ว และบ้านภาชี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ช่วง ต.ค.ปี 2577
และ 2. ช่วง ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อยุธยา ระยะทาง 31.2 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 22,971 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเปลี่ยนแปลง โดยจะมีจำนวน 4 สถานี คือ นวนคร, เชียงรากน้อย, คลองพุทรา, บางปะอิน บ้านโพธิ และอยุธยา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการ ต.ค. 2573