รีเซต

'ชาติ กอบจิตติ' จวกรัฐบาล กู้เงิน 4แสนล้าน แต่ยังไม่มีแผนงาน ฟังแล้วอนาถใจดี

'ชาติ กอบจิตติ' จวกรัฐบาล กู้เงิน 4แสนล้าน แต่ยังไม่มีแผนงาน ฟังแล้วอนาถใจดี
มติชน
20 มิถุนายน 2563 ( 09:57 )
520
1

 

ในสถานการณ์ที่ไวร้สโควิด-19 ระบาดไปทั่ว ในเพจ Chart Korbjitti ของนักเขียนชื่อดัง ชาติ กอบจิตติ โพสต์ข้อความระว่าคุยกับโควิด-19 : New Normal (6)

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 มิถุนายน) ภาครัฐผ่อนปรนให้ทำมาค้าขายได้มากขึ้น เช่นว่า ตามร้านอาหาร มีการอนุญาตให้ขายสุราได้ หรือตามสถานที่ออกกำลังกาย ที่เป็นของเอกชน ให้เปิดดำเนินกิจการได้ และกิจการอีก ฯลฯ ซึ่งพวกเราคงทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะฟังคำประกาศมาด้วยกัน

 

เหตุผลง่ายๆ ไม่มีอะไรมาก คือรัฐต้องการให้เงินสะพัด ให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้น และผ่อนคลายความอึดอัดของประชาชน สังเกตดูตามข่าว ว่าเมื่อเปิดให้เดินทางท่องเที่ยวกันได้ เสาร์อาทิตย์ต่อมาโรงแรมตามสถานที่ท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด คนจองกันเต็มหมด หาดที่บางแสน รถติดยาวเหยียด

 

ขณะเขียนต้นฉบับอยู่นี้ มีข่าวว่ารัฐจะนำเงินออกมาแจกให้รอบใหม่อีกแล้ว คนละหนึ่งพันบาท เป็นเวลาสามเดือน สำหรับคนที่ไม่มีสิทธ์ได้รับเงินเยียวยาคนละห้าพันในรอบแรก พูดง่ายๆ คือแจกให้กลุ่มใหม่ ส่วนกลุ่มเก่าที่ตกหล่นไป ก็จะเสริมเติมให้ครบถ้วน ฟังข่าวมาว่าอย่างนั้น แถมออกแคมเปญใหม่มากระตุ้นการท่องเที่ยวอีก รัฐจะช่วยออกค่าที่พักให้ส่วนหนึ่ง เห็นว่าใช้เงินสองสามแสนล้าน ฟังมา

 

มองจากตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่า รัฐแยกคนออกเป็นสองประเภท ประเภทแรก ไม่มีกินไม่มีใช้จริงๆ จึงช่วยเงินไปพอประทังชีวิตไปก่อน ต่อชีวิตให้ ประเภทที่สองมีเงิน แต่ไม่อยากใช้เงิน รัฐจึงเอาเงินมาล่อให้ออกเที่ยว

 

ถ้ามองภาพรวมในตอนนี้ ถือได้ว่า มีการขยับขยายในการทำมาหากินมากขึ้น ถ้าเทียบกับที่ล็อคตายไว้เมื่อสามเดือนก่อน ตอนนี้คนคงพอมีงานทำได้บ้าง แต่ไม่เหมือนเดิมแน่นอน คงต้องใช้เวลาอีกนาน

 

นอกจากนี้เท่าที่ฟัง รัฐยังลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีระยะเวลาปลอดชำระหนี้ ให้ธุรกิจรายย่อยหรือที่เราเรียกกันว่า SME เพื่อเข้าไปประคองไม่ให้ธุรกิจเหล่านั้นต้องปิดตัวลง เป้าหมายตรงๆ ที่รัฐต้องการก็คือ ให้ธุรกิจ SME เหล่านั้นแบกภาระคนทำงานเอาไว้ก่อน ถ้าต้องปิดตัวลง คนก็จะตกงานเพิ่มขึ้นอีก ประกันสังคม ก็ต้องมาจ่ายให้ (ซึ่งตอนนี้ไม่รู้ว่าจะเหลือเงินพอจ่ายหรือเปล่า) รัฐจึงจำเป็นต้องลงมาดูธุรกิจ SME เพราะมีแรงงานอยู่ในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก

 

แวะมาที่ประกันสังคมหน่อย ตอนที่คนตกงานเดือดร้อน เข้าไปทวงเงินของเขา ที่ฝากไว้ทุกเดือนกลับไม่ได้รับ อ้างว่า ระบบคอมพิวเตอร์ที่วางไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อนทำงานตามระบบไม่ทัน เหตุผลนี้ ฟังขึ้นไหม พนักงานในออฟฟิศบ้านนอกอย่างเรา ที่พวกเขาส่งเบี้ยประกันให้ประกันสังคมทุกเดือน ยังหัวเราะเลย น้องเขาว่า มันคงเอาเงินไปหมุนเล่นหุ้นแล้วเอากลับมาไม่ทันมั้ง ก่อนที่จะเอาเงินเขาไปทำอะไร เคยถามเจ้าของเงินบ้างไหม น้องเขาว่า ถึงเวลา เงินของเราแท้ๆ กลับเอาออกมาช่วยไม่ได้ อย่างนี้ก็เลิกไปเลยดีไหม ต่างคนต่างเก็บกันเองดีกว่า น้องเขาฝากมาถามครับ

 

กลับมาที่รัฐแก้ปัฐหาในตอนนี้กันต่อ เราจะเห็นว่าตอนนี้รัฐกำลังแก้ปัญหาหน้างานกันอยู่ คือปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งต้องเรียนกันตรงๆ นะครับว่า เหนื่อย เพราะใช่แค่ปัญหาปากท้องอย่างเดียว ยังมีปัญหาเรื่องโรคระบาดรวมอยู่ด้วย

 

จะขยับมากเปิดให้ทำมาค้าขายกันแบบปรกติก็ไม่ได้ จะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาตามปรกติเหมือนที่ผ่านมาคงยังทำไม่ได้ เพราะการค้าขายทุกวันนี้ยังต้องมีระยะห่าง ระยะเฝ้าระวังอีก ถ้าโรคระบาดกลับมาระลอกสอง ก็จะเละตุ้มเป๊ะไปใหญ่ จะระวังโรคอย่างเดียวเด็ดขาดก็ไม่ได้ คนส่วนใหญ่ก็จะไม่มีกิน เพราะไม่มีงานทำ เงินไม่สะพัด คงต้องลากกันถูลู่ถูกังกันอย่างนี้ไปอีกพักใหญ่ๆ ละครับ

 

ครั้งนี้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ที่ประเทศของเราจะต้องมอง สาเหตุหลัก คือเราพึ่งคนอื่นมากเกินไป ที่ผ่านมาเราอาศัยจมูกคนอื่นเขาหายใจ จนจมูกของเราหายใจเองไม่เป็น

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเข้าโรงพยาบาล ผ่าตัดจมูกของเราให้หายใจเองได้ เพื่อร่างกายและชีวิตของเราเองจะได้แข็งแรง ด้วยตัวของเราเอง

ตอนนี้รัฐกู้เงินมาหนึ่งล้านล้านบาทเรียบร้อยแล้ว เพื่อมาแก้ปัญหานี้ คงจะต้องดูก่อนต่อไปว่า ในเงินที่กู้มานี้ มีเงินค่าผ่าตัดจมูกรวมอยู่ด้วยไหม หรือว่าเราเอามาละลายแม่น้ำเล่น ให้เป็นอาหารของเต่าและปูปลาไป คงต้องเฝ้าดูกันต่อไป

 

ถ้าเปรียบประเทศของเรานั้นเป็นบ้านหลังหนึ่ง ความเสียหายครั้งนี้ที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติ เพราะเกิดขึ้นเอง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนในบ้านนึกสนุกลุกขึ้นมาเผาบ้านเล่นกัน แต่เกิดเพราะมหาพายุใหญ่ ที่มันมาโดยเราไม่รู้ตัว บ้านพังหลังคาปลิว คนในบ้านหิวซ่กเปียกฝนกันเปียกปอน ทั้งนี้เป็นเพราะ บ้านของเราไม่แข็งแรงพอจะต้านพายุได้ หลังคาเปิง

 

เงินหนึ่งล้านล้านบาทที่กู้มาในครั้งนี้ ผมไม่มีความรู้ว่าเขาจะทำอะไรกันบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแปลก คือกู้เงินมาก่อน แล้วค่อยคิดว่าจะทำอะไร ที่ถูกนั้น ควรจะมีแผนงานก่อนแล้วค่อยขอกู้เงินมาทำ อาจจะมากกว่าหนึ่งล้านล้านก็ได้ ผมไม่ว่า ถ้าแผนงานนั้นจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนนั้นจริงๆ แต่นี่ยังไม่ได้ยินเลยว่า เขาจะทำอะไรบ้าง ได้ยินแต่เพียงว่า เงินสี่แสนล้านจะใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และได้ยินต่อมาจากข่าวทางโทรทัศน์ว่า ตอนนี้มีคนรับเขียนโปรเจ็คต์โครงการต่างๆ ให้หน่วยงานรัฐ ถ้าโปรเจ็คท์ผ่านจะแบ่งเปอร์เซ็นให้ แสดงว่าเงินตกมาแล้วสี่แสนล้าน แต่ยังไม่มีแผนงานอะไรเลย ฟังแล้วก็อนาถใจดี

 

สมมุติว่าบ้านเราหลังที่เสียหายนี้ ได้เงินมาหนึ่งล้านล้านบาท ถ้าเราเอาเงินจำนวนนั้นมาซ่อมแซมบ้านให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม วันหนึ่งข้างหน้า เมื่อพายุลูกใหม่มาอีก บ้านเราก็พังอีก เพราะโครงสร้างบ้านของเราไม่แข็งแรง เรารู้อยู่แล้วว่าโครงสร้างบ้านหลังนี้ ป้องกันพายุใหญ่ไม่ได้ ซ่อมแซมออกมาเหมือนเดิมบ้านก็พังอีกอยู่ดี เสียเงินเสียเวลาซ่อมเปล่า ครั้งหน้าก็ต้องซ่อมกันอีก

 

ทางที่ดีที่สุด ในการซ่อมแซมครั้งนี้ เราควรต้องเปลี่ยนโครงสร้างบ้านของเราใหม่ด้วย สิ่งไหนที่ยืนต้านพายุอยู่ เราเก็บเอาไว้ ไอ้ส่วนที่ปลิวตามลมไปอาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ เสริมโครงสร้างให้แข็งแรงขึ้น บ้านอาจจะไม่ต้องสวยงามใหญ่โตเหมือนคนอื่นเขา แต่บ้านของเราจำเป็นต้องแข็งแรง ให้คนในบ้านกินอิ่ม นอนหลับ ด้วยความปลอดภัย ไม่ต้องนอนผวากลัวพายุจะมาอย่างเช่นทุกวันนี้..

 

ก็แล้วแต่นะครับ จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ผมเพียงแต่ฝากไว้ ความคิดของคนคนหนึ่ง มีถูกมีผิด เป็นธรรมดา

ผมคงจบภาพโดยรวมเพียงเท่านี้ครับ คราวหน้าจะมาลงรายละเอียด และพูดถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่มีผลกระทบกับธุรกิจเล็กๆ ของผม และผมมีวิธีจัดการปัญหาอย่างไร ?

 

 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง