รีเซต

ครบ 3 เดือน! ม็อบเมียนมาเดินขบวนต้านรัฐประหาร ยูเอ็นจี้ยุติความรุนแรงตามแผนการอาเซียน

ครบ 3 เดือน! ม็อบเมียนมาเดินขบวนต้านรัฐประหาร ยูเอ็นจี้ยุติความรุนแรงตามแผนการอาเซียน
มติชน
1 พฤษภาคม 2564 ( 16:49 )
37
ครบ 3 เดือน! ม็อบเมียนมาเดินขบวนต้านรัฐประหาร ยูเอ็นจี้ยุติความรุนแรงตามแผนการอาเซียน

 

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า กลุ่มผู้ประท้วงชาวเมียนมาพากันออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐประหารในหลายเมืองใหญ่ของเมียนมา ในวันครบรอบ 3 เดือนที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(เอ็นแอลดี) ท่ามกลางรายงานว่าเกิดเหตุระเบิดประปรายขึ้นในหลายจุด แต่ยังไม่มีรายงานการสูญเสียเลือดเนื้อเพิ่มเติม

 

ที่นครย่างกุ้ง เมืองใหญ่สุดของเมียนมา มีการรวมตัวชุมนุมกันของกลุ่มผู้ประท้วงใน 2 จุดใหญ่ ที่กลุ่มผู้ประท้วงพากันตะโกนร้องว่า “เพื่อประชาธิปไตยของเรา เพื่อสมาพันธ์สหภาพ จงปล่อยผู้นำที่ถูกจับไป” นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมประท้วงต้านรัฐประหารในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 และที่เมืองทวาย ทางตอนใต้ของประเทศด้วย

 

เสียงตะโกนร้องให้ปล่อยตัวผู้นำของกลุ่มประชาชนผู้ประท้วงมีขึ้นในขณะที่นางซูจี ในวัย 75 ปี และแกนนำพรรคเอ็นแอลดีคนอื่นๆ ถูกรัฐบาลทหารจับกุมคุมขังมานานถึง 3 เดือนเต็มแล้ว ขณะที่ข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง(เอเอพีพี) ระบุว่ามีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาถูกจับกุมตัวไปแล้วมากกว่า 3,400 คน ขณะที่มีผู้ประท้วงถูกกองกำลังฝ่ายความมั่นคงเมียนมาใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปรามจนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 759 ราย นับจากกองทัพก่อเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

เบื้องต้นยังไม่มีรายงานเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในระหว่างที่มีผู้ประท้วงชาวเมียนมาออกมาชุมนุมต้านรัฐประหารล่าสุด อย่างไรก็ดีสื่อท้องถิ่นรายงานด้วยว่า เกิดเหตุระเบิดเล็กๆ ขึ้นหลายครั้งในหลายพื้นที่ รวมถึงในย่างกุ้งด้วยซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางดึกคืนวันที่ 30 เมษายนเข้าสู่วันที่ 1 พฤษภาคม แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต และยังไม่มีการกล่าวอ้างว่าเหตุระเบิดเป็นฝีมือของใคร โดยโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ได้ออกมาให้ความเห็น แต่ที่ผ่านมากองทัพเมียนมามักกล่าวโทษว่าเหตุระเบิดเป็นฝีมือของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

 

ขณะที่มีท่าทีจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน เรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงในเมียนมาตามแผนการของอาเซียนที่ได้มีการบรรลุฉันทามติ 5 ข้อในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยสถานการณ์เมียนมา ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน โดยแถลงการณ์ของยูเอ็นระบุว่า แผนการดังกล่าวของอาเซียนควรนำไปปฏิบัติใช้ในทันที และเรียกร้องให้นางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษยูเอ็นประจำเมียนมา สามารถเดินทางเยือนเมียนมาให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย

 

แถลงการณ์ฉบับล่าสุดนี้ซึ่งนับเป็นฉบับที่ 4 ของยูเอ็นเอสซีที่มีต่อสถานการณ์ในเมียนมานับจากเกิดเหตุรัฐประหาร เผยแพร่ออกมาหลังจากการประชุมแบบปิดของยูเอ็นเอสซีที่ เวียดนาม ในฐานะชาติสมาชิกไม่ถาวรของยูเอ็นเอสซี ได้เรียกให้จัดประชุมขึ้นและได้สรุปผลการหารือของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษที่กรุงจาการ์ตาให้ได้รับทราบ ขณะที่แถลงการณ์ของยูเอ็นเอสซีที่ออกมาครั้งนี้ยังมีขึ้นหลังจากมีการปรับถ้อยคำในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวให้อ่อนลง อันเป็นการประนีประนอมของชาติตะวันตก กับรัสเซียและจีน แบ็กอัพสำคัญของเมียนมา เพื่อผลักดันให้แถลงการณ์ของยูเอ็นเอสซีออกมาให้ได้ ด้วยการตัดถ้อยคำที่ระบุประณามอย่างแข็งกร้าวต่อการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วงอย่างสันติในเมียนมาและการเน้นย้ำข้อเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาอดกลั้นให้ถึงที่สุดออกไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง