รีเซต

เผยที่มา 'เซียนฮง' ชื่อนี้ที่ถือหุ้นใหญ่ OR อันดับ 2

เผยที่มา 'เซียนฮง' ชื่อนี้ที่ถือหุ้นใหญ่ OR อันดับ 2
TrueID
24 มีนาคม 2564 ( 11:44 )
3K
เผยที่มา 'เซียนฮง' ชื่อนี้ที่ถือหุ้นใหญ่ OR อันดับ 2

"เซียนฮง" หรือนายสถาพร งามเรืองพงศ์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับสองของหุ้น OR  จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก่อนการจ่ายเงินปันผล

 

จากการบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) สร้างปรากฏการณ์ “หุ้นมหาชน” สมคำโฆษณาที่พยายามดึงดูดใจนักลงทุนรายย่อยให้เกิดความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของธุรกิจ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 4.8 แสนราย โค่นแชมป์เก่าอย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงอย่างราบคาบ ขณะที่ราคาหุ้นที่เปิดซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) วันแรก ราคาเปิดทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 26.50 บาท บวก 47.2% จากราคาจองซื้อ 18.00 บาท ปิดตลาดวันแรกราคาพุ่งขึ้นไปที่ 29.25 บาท สูงกว่าราคาจองซื้อ 11.25 บาทหรือ 62.50% ทั้งยังมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 47,343.69 ล้านบาท

 

ระหว่าง OR ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อเตรียมจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่พบว่า อันดับ 2 รองจาก บมจ.ปตท. ได้แก่ นายสถาพร งามเรืองพงศ์ ซึ่งมีหุ้น OR ทั้งหมด 244,298,900 หุ้น หรือร้อยละ 2.04 ซึ่งนับว่ามากกว่า GIC Private กองทุนระดับโลกจากสิงคโปร์ ที่อยู่ในอันดับ 3 รวมถึง กระทรวงการคลัง อันดับ 5 และ สำนักงานประกันสังคม อันดับ 6

 

เป็นที่แน่นอนว่าสถาพรซึ่งถือเป็นนักลงทุนบุคคลธรรมดา ย่อมต้องได้รับการจัดสรรหุ้นจาก OR เต็มที่ไม่เกิน 4,500 หุ้นตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ ดังนั้นหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอีก 244,294,400 หุ้น ย่อมเกิดจากการเข้าไปซื้อเพิ่มในกระดาน โดยจำนวนหุ้นที่สถาพรถืออยู่ ณ ปัจจุบัน ยังเป็นระดับที่สูงกว่าของ GIC Private ซึ่งเป็นกองทุนระดับโลกจากสิงคโปร์ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของ OR ถืออยู่ราวๆ 215 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.79% นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหญิงนามสกุลเดียวกันกับนายสถาพร ถือครองหุ้น OR มากเป็นอันดับ 10

 

 

 

 

ซึ่งหลายๆคนตั้งคำถามว่า สถาพร งามเรืองพงศ์ เป็นใคร ทำไมจึงทุ่มเงินกว่า 7 พันล้านบาท เข้าซื้อหุ้น OR จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 แซงหน้ากองทุนระดับโลกอย่าง GIC Private

 

  • ประวัติความเป็นมาของ 'เซียนฮง'

  1. สถาพร งามเรืองพงศ์ ถือเป็นนักลงทุนรุ่นใหม่สาย VI หรือ Value Investor ที่โด่งดังในแวดวงการลงทุน โดยคนในวงการตลาดทุนจะรู้จักเขาในนามว่า ‘เซียนฮง’  
  2.  เริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นเมื่อช่วงปี 2547 ด้วยเงิน 100,000 บาท ระหว่างยังเป็นนักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  3. โด่งดังในวงการหุ้น จากการเขียนบล็อก บทความ และให้สัมภาษณ์ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ช่วงปี 2554-2555 เจ้าตัวก็หายหน้าหายตาไปเฉย ๆ ต่อมาจึงให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า “ไปเที่ยวรอบโลก” เพื่อออกจากการลงทุนไปใช้ชีวิต “ผมเชื่อว่าหลักการที่เคยให้สัมภาษณ์ไป มันใช้ได้ตลอด และไม่อยากให้คนดูเบื่อ” นายสถาพรกล่าวถึงเหตุผลที่ห่างหายไป และในช่วงนี้ก็ได้ไปฝึกสติและสมาธิมาด้วย
  4. ในช่วงปี 2556 เขาทยอยซื้อหุ้น บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC  จากนั้นในปี 2562 เขาได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ใน KTC ก่อนที่ 1 ปีต่อมา คือปี 2563 จะขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของ KTC ก่อนทยอยขาย
  5. ปัจจุบัน เซียนฮงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน 6 บริษัท ได้แก่ OR, KISS, MICRO, NOBLE, IVL และ SINGER รวมมูลค่า ณ ราคาปิดวันที่ 22 มีนาคม 2564 ที่ 11,508 ล้านบาท

 

  • หลักการเลือกหุ้นโดนๆของ "เซียนฮง"

  1. ช่วงที่พอร์ตยังไม่ใหญ่มาก เขาเลือกใช้ทฤษฎีการลงทุนด้วยการดูปัจจัยพื้นฐาน 70% ส่วนอีก 30% อาศัยปัจจัยทางเทคนิค โดยดูจากกราฟ  ซึ่งเขาบอกว่า การดูกราฟย้อนหลังจะทำให้เห็น ‘ดีมานด์’ และ ‘ซัพพลาย’ ของหุ้นในอดีต และที่สำคัญจะมองเห็นจุดนิวไฮของหุ้นด้วย การเลือกหุ้นที่เพิ่งทำกำไรนิวไฮ พร้อมกับวิเคราะห์อนาคตในไตรมาสที่เหลือของปีนั้นๆ ว่า จะสามารถรักษากำไรในระดับที่ดีได้ต่อเนื่องหรือไม่
  2. สูตรการเข้าสะสมหุ้นในยุคเริ่มต้น เขาเลือกใช้สูตร 30:30:30:10 กล่าวคือ หากซื้อแล้วหุ้นขึ้นต่อ ก็จะเข้าซื้อเพิ่มเป็นสเตปตามสูตรดังกล่าว แต่ถ้าซื้อแล้วหุ้นปรับลดลงเกิน 8% เขาจะตัดขาดทุนทันที 
  3. เมื่อพอร์ตการลงทุนเริ่มใหญ่ขึ้นจนเข้าใกล้หลักหมื่นล้านบาท ทำให้เขาต้องปรับกระบวนยุทธ์การลงทุนใหม่ โดยเน้นปัจจัยพื้นฐานเกือบ 100% 
  4. หุ้นที่เลือกเข้าลงทุนจะเน้นดูว่าหุ้นนั้นมีความสามารถการแข่งขันชัดเจนแค่ไหน ที่สำคัญ ‘เก่งกว่า’ คู่แข่งหรือไม่ โดยมุ่งไปที่อุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว
  5. จะให้ความสำคัญกับผู้บริหารที่ซื่อสัตย์ เก่ง และมีไฟ ซึ่งการจะหาบริษัทที่มีผู้บริหาร ที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อนั้น “ค่อนข้างยาก” แต่หากหาเจอ แล้วได้ในราคาที่ความคาดหวังของคนไม่เยอะ จะถือเป็นการลงทุนที่สร้างกำไรให้มหาศาล
  6. “เรื่องความความซื่อสัตย์ ต้องดูว่าเขาไม่เคยมีประวัติถูก ตลท.หรือ ก.ล.ต.เรียกไปปรับ ไม่มีข่าวเรื่องเอาเปรียบสังคม พูดเกินจริง เมื่อเห็นว่าเขาไม่มีประวัติเสียหาย แล้วค่าใช้จ่ายของบริษัท เมื่อเทียบกับเพื่อนในอุตสาหกรรมต้องต่ำกว่า เพราะคนไม่ซื่อสัตย์ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายเขาจะเยอะผิดปกติ”เซียนฮงกล่าว
  7. ความเก่ง” พิจารณาจากงบการเงิน ซึ่งจะมี ROE (อัตราส่วนระหว่างกำไรสุทธิกับส่วนของผู้ถือหุ้น) ที่สูงกว่า สะท้อนว่าเวลาที่เจอสถานการณ์ไม่ดี เขาสามารถจัดการแล้วทำให้กำไรได้รับผลกระทบน้อย
  8. สุดท้าย “มีไฟ” เซียนฮงบอกว่า เมื่อฟังเขาพูด เราจะสัมผัสได้เองว่า ใครมีไฟหรือไม่มีไฟ “ผมได้ฟังผู้บริหารหลายบริษัท พบว่าเป็นคนมีไฟ ซื่อสัตย์ แต่ไม่ฉลาด เช่น เวลาที่เขาล้มโครงการนี้จะหาโครงการใหม่ แต่กลับเป็นโครงการที่ไม่ก่อกำไรเพิ่ม ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำผิดกฎตลาด แต่ความคิดเขายังไม่คมพอที่จะสร้าง value add ให้บริษัท"

 

ข้อมูลข่าว : ประชาชาติธุรกิจ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง