สธ.เตรียมกระจายวัคซีนลงทุกจังหวัด รายสัปดาห์ คาด 50 ล้านเข็มแรก ต้องฉีดใน ก.ย.
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ชี้แจงแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนในเดือน มิ.ย.นี้
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า โดยจัดสรรตามแผนการจัดสรรของ ศบค. โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาการฉีดในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยเน้นที่กลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา รองรับการเปิดภาคการศึกษา แต่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนมาแล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปจะได้รับวัคซีนในใน 76 จังหวัด ไม่รวมกรุงเทพมหานคร(กทม.) มีหลากหลายช่องทาง เริ่มลงทะเบียนวันที่ 14 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป ได้แก่ ไลน์ แอพพลิเคชั่นหมอพร้อม แอพพลิเคชั่นของจังหวัด ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) หรือติดต่อ รพ.ใกล้บ้าน เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะสู่ระบบฐานข้อมูล MOHP IC และหมอพร้อม จะติดตามอาการ นัดหมายฉีดครั้งที่ 2 รวมทั้งออกเอกสารการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการประชุมทางไกลฯ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเรื่องการกระจายวัคซีน และสร้างความมั่นใจให้จังหวัดว่า มิ.ย.ฉีดแน่นอน ซึ่งวันที่นัดหมายคือ 7 มิ.ย. นี้ มีวัคซีนให้ฉีดแน่ จึงให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม และฉีดเข็มแรกให้ได้ 50 ล้านโดสภายในเดือน ก.ย. นี้ ส่วนเรื่องโควตานั้น ศบค.เป็นผู้กำหนด จะดูตาม 1.จำนวนประชากร 2.ดูสถานการณ์การระบาด 3.ดูกลุ่มเป้าหมายจังหวัดที่เป็นนโยบาย เช่น ภูเก็ต ที่มีนโยบายชัดเจนว่าจะฉีดเพื่อเปิดจังหวัดกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ก็ต้องฉีดให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิ.ย. เพื่อให้สามารถเปิดในเดือน ก.ค.
“เบื้องต้นในพื้นที่ กทม.ก็จะให้ทางกทม.เป็นผู้บริหารจัดการ เรื่องตัวเลขจะมีการเคาะอีกครั้ง ส่วนโควตาประกันสังคมก็รอศบค.เคาะอีกทีเช่นกัน” นพ.โอภาส กล่าว
อย่างไรก็ตาม นพ.โอภาส กล่าวว่า การกระจายวัคซีนในต่างจังหวัดนั้นมีการปรับแผนจากการกระจายรายเดือนมาเป็นรายสัปดาห์ เพื่อจะได้ดูว่าวิธีการฉีด ยอดการฉีดเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ถ้าจังหวัดใดฉีดได้ครบ ตรงตามเป้าหมายก็จะส่งให้ตามกำหนด แต่ถ้าฉีดช้าก็ไม่จำเป็นต้องส่งไปเพิ่ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังเน้นย้ำเรื่องของการลงข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อให้ทราบสถานการณ์ว่าการฉีดวัคซีนแต่ละวันนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ และสต๊อกคงเหลือเท่าไหร่
“การฉีดวัคซีนเป็นไปตามที่ ศบค. กำหนด ก็จะใช้สถานการณ์การระบาดประกอบกันจังหวัดที่มีการระบาดมากก็จะส่งวัคซีนเข้าไปเพื่อฉีดให้ชุมชนรอบๆ คือต้องเข้าใจก่อนว่า แต่ละจังหวัดเวลาระบาดนั้นไม่ได้ระบาดทุกอำเภอ ทุกพื้นที่ สมมติจังหวัดหนึ่งมีประชากรอยู่ 1 ล้านคน แต่ถ้าระบาดใน 1 อำเภอ ก็ไม่ใช่ว่าเราจะส่งวัคซีนลงไปจำนวน 1 ล้านโดส จะต้องดูว่าจำเป็นจะต้องฉีดประชากรเท่าไหร่ แล้วก็ส่งลงไปฉีดตรงจุดนั้น แต่โดยหลักการคือจะให้ทุกจังหวัดได้มีการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและเกิดความเป็นธรรม ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ครบทุกจังหวัด” นพ.โอภาส กล่าวและว่า
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า เนื่องจากเรามีวัคซีน 2 ตัว ทั้งซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า การฉีดชนิดใดให้ประชาชนนั้นให้อิงตามหลักการแพทย์และสาธารณสุข อาจจะยืดหยุ่นได้บางกรณี เช่น แพ้วัคซีนซิโนแวคใจเข้มแรก เข็ม 2 ก็ฉีดของแอสตร้าฯ
“วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนั้น สามารถฉีดได้ทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการด้านวิชาการครบถ้วนแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้การเลือกชนิดวัคซีนนั้นให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจในหน้างาน โดยยึดหลักหลักการแพทย์และสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดตามหลักตามใจฉัน” นพ.โอภาส กล่าว