จีนพบนาข้าว อายุกว่า 5,300 ปี สะท้อนระบบเพาะปลูก
(ภาพจากสถาบันวิจัยการจัดการมรดกวัฒนธรรมเทศบาลเมืองหนิงโป : ซากโบราณคดีที่ขุดพบในมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน)
หางโจว, 9 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีของจีนได้ค้นพบแปลงนาเพาะปลูกข้าวยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีอายุราว 5,300-5,500 ปี ในมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน
สถาบันวิจัยการจัดการมรดกวัฒนธรรมเทศบาลเมืองหนิงโป ระบุว่าแปลงนาเพาะปลูกข้าวโบราณนี้ครอบคลุมพื้นที่ราว 1,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่พื้นที่หลักของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ยุคหินใหม่
มีการขุดพบคันนา 3 แถว หลุม 9 หลุม ซากข้าวและวัชพืชส่วนหนึ่ง รวมถึงคูสำหรับทดน้ำและระบายน้ำ คู่กับถนนที่สันนิษฐานว่าเชื่อมต่อกับที่อยู่อาศัยโดยรอบแปลงนาข้าวนี้
คณะนักวิจัยเผยว่าหลุมทั้งเก้าอาจเกิดขึ้นระหว่างการบูรณะซ่อมแซมคันนาและคูน้ำในยุคก่อนประวัติศาสตร์
สถาบันฯ ระบุว่าการค้นพบใหม่นี้ช่วยเผยให้เห็นระบบแปลงนาข้าวอันสมบูรณ์จากยุคสมัยนั้น ถือเป็นหลักฐานการวิจัยที่สำคัญสำหรับศึกษาวิธีทำการเกษตรเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ราบท้องถิ่น
วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ตั้งชื่อตามตำบลเหอหมู่ตู้ของเมืองหนิงโป ซึ่งเป็นจุดที่ค้นพบซากครั้งแรก โดยวัฒนธรรมนี้เป็นของสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำแยงซี และเป็นที่รู้จักจากการเพาะปลูกข้าวและสถาปัตยกรรมไม้ค้ำ