รีเซต

บัวแก้วจับมือสภาธุรกิจไทย-ลาตินอเมริกา ชี้ช่องโอกาสประกอบธุรกิจ ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน

บัวแก้วจับมือสภาธุรกิจไทย-ลาตินอเมริกา ชี้ช่องโอกาสประกอบธุรกิจ ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน
มติชน
19 เมษายน 2564 ( 06:15 )
59
บัวแก้วจับมือสภาธุรกิจไทย-ลาตินอเมริกา ชี้ช่องโอกาสประกอบธุรกิจ ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน

ความร่วมมือภาคเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่า “ความห่างไกลไม่ใช่อุปสรรค” เลยแม้แต่น้อย ขณะนี้ภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนกลายเป็นตลาดการลงทุนแหล่งใหญ่ที่มีความน่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง เนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของแหล่งทรัพยากร ตลาดประชากรที่มีจำนวนมากกว่า 650 ล้านคน พร้อมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่นักลงทุนชาวไทยจะหันมาสนใจและแสวงหาโอกาสในการประกอบธุรกิจในภูมิภาคดังกล่าว

 

เมื่อไม่นานมานี้กระทรวงการต่างประเทศโดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ร่วมกับสภาธุรกิจไทย-ลาตินอเมริกา จัดงานสัมมนาเกี่ยวกับ โอกาสทางเศรษฐกิจและการประกอบธุรกิจในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายตลาดใหม่และตอบรับนโยบายกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังภาวะโรคระบาดโควิด-19 ของรัฐบาลไทย ภายใต้บริบทนิว นอร์มอล เพื่อรับทราบข้อมูลตรงจากเอกอัครราชทูตของประเทศลาตินอเมริกาและแคริบเบียนประจำประเทศไทยทั้ง 9 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คิวบา กัวเตมาลา เม็กซิโก ปานามา และเปรู เกี่ยวกับศักยภาพและโอกาสความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังผ่านช่องทางต่างๆ จำนวนมาก

 

ถึงแม้ว่าเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เกิดศรษฐกิจถดถอยและภาวะว่างงานทั่วโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวร้อยละ 3.5 และชี้ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคลาตินอเมริกาและเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 7.4 และร้อยละ 6.6 ตามลำดับ ทั้งนี้แม้ว่ามูลค่าการค้ารวมไทย-ลาตินอเมริกาในปี 2563 จะอยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าลดลงจากปี 2562 เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็มีศักยภาพที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมาก โดย นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่วเปิดงานว่า สิ่งจำเป็นที่พึงกระทำที่สุดคือการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและส่งเสริมความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างกันเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วที่สุด

 

งานสัมมนาครั้งนี้เอกอัครราชทูตของประเทศลาตินอเมริกาและแคริบเบียนประจำประเทศไทยทั้ง 9 ประเทศ (Group of Latin America and the Caribbean – GRULAC) พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญในด้านการประกอบธุรกิจและการลงทุนจากแต่ละประเทศร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้เข้าร่วมงาน โดยเน้นข้อมูลด้าน 3P ประกอบด้วย 1.Product คือข้อมูลเกี่ยวกับประเภทสินค้าและบริการที่มีศักยภาพในการนำเข้าหรือส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับบริบทนิวนอร์มอล 2.Procedure คือข้อมูลด้านขั้นตอน กฎระเบียบ และมาตรการเกี่ยวกับการค้าและการส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ สิ่งจูงใจ และการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ และ 3.Partner คือ คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีติดต่อและแสวงหาหุ้นส่วนทางธุรกิจที่เชื่อถือได้ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (LAC) และความเป็นไปได้ในการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะนี้ที่การเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

 

เอกอัครราชทูตอาร์เจนตินาประจำประเทศไทย ในฐานะประธานของกลุ่มเอกอัครราชทูต GRULAC ย้ำว่าระยะทางที่ห่างไกลระหว่างลาตินอเมริกากับประเทศไทย มิใช่อุปสรรคแต่จะเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายเพิ่มพูนโอกาสทางเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะที่คณะเอกอัครราชทูต GRULAC และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและประกอบธุรกิจจากทั้ง 9 ประเทศ ที่ได้ผลัดกันพูดถึงจุดขาย และข้อดีต่างๆ ในประกอบธุรกิจในประเทศของตน ซึ่งเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนต่างชาติและมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศที่ดีเยี่ยมจากภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีระบบการลงทุนที่คุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ โดยมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทั้งต่อนักลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศดั่งที่เห็นในโคลอมเบีย ชิลี และเปรู

 

นอกจากนี้ การบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา ได้แก่ ชิลี และ เปรู ได้ช่วยส่งเสริมการเพิ่มพูนมูลค่าการค้ารวมของทั้งสองฝ่าย ประเทศในภูมิภาคดังกล่าวยังมีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการค้าของตนไว้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคือกัวเตมาลา เมื่อพิจารณาจากระดับจีดีพีจะพบว่าในปี 2562 จีดีพีของกัวเตมาลามีมูลค่าถึง 77.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาคอเมริกากลาง และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2561-2562 ที่ร้อยละ 3.8 นอกจากนี้ยังมีอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราที่ไม่ผันผวน และระดับหนี้สาธารณะน้อยที่สุดในอนุภูมิภาคดังกล่าวด้วย ทำให้เห็นได้ว่าการลงทุนในกลุ่มประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนจะไม่ใช่เรื่องยากและมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก

 

ขณะเดียวกัน “ความเป็นลาติน” อยู่ใกล้ตัวเรามากขนาดที่เราไม่รู้ตัวเลยทีเดียว โดยเฉพาะในรูปแบบของสินค้าต่างๆ ที่พบได้มากมายในไทย เช่น แซลมอน ซึ่งชิลีเองก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกแซลมอนรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่เนื้อวัวตามร้านสเต็กชื่อดังในกรุงเทพก็เป็นสินค้าขึ้นชื่อของอาร์เจนตินาซึ่งเป็นเนื้อวัวที่มีคุณภาพ รสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากอาร์เจนตินามีทุ่งหญ้าปัมปัส (pampas) อันกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเลี้ยงวัวแบบระบบเปิดจึงทำให้ให้วัวมีความสุขและไม่เครียด นอกจากนี้สินค้าประเภทที่มีโภชนาการสูง (super food) อย่างอะโวคาโด บลูเบอร์รี เมล็ดเจีย และคินัว ล้วนเป็นสินค้าที่ที่เปรูส่งออกมายังไทยอีกด้วย ซึ่งนอกจากการจัดจำหน่ายผ่านทางหน้าร้านแล้ว ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า “Fresh Living”

 

เมื่อคำนึงถึงการที่รัฐบาลไทยได้กำหนดให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2564-2567) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมอันประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) มุ่งเน้นการนำวัสดุหรือของเหลือใช้จากภาคการเกษตรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น การนำมาต่อยอดเป็นพลังงาน และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน เช่น การพัฒนาเรื่อง smart city/ smart living

 

ไทยกับประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนยังสามารถเรียนรู้และเริ่มต้นธุรกิจร่วมกันได้อย่างดี เพราะเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Model ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับประเทศในภูมิภาคนี้ บราซิลได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเกี่ยวกับพลังงานสะอาดมาระยะหนึ่ง โดยมากกว่าร้อยละ 75 ของพลังงานไฟฟ้าในประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ มีการผลักดันการใช้เอทานอลเป็นพลังงานทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นของประเทศ โดยบราซิลได้ส่งเสริมความร่วมมือเรื่อง Ethanol Program กับไทยเช่นกัน เนื่องจากเอทานอลสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึงร้อยละ 90 ช่วยลดมลพิษทางอากาศ เช่น PM 2.5 และลดการนำเข้าน้ำมันได้ นอกจากนี้บราซิลมีจุดแข็งด้านการบินและลอจิสติกส์ เช่นเดียวกับปานามาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์แห่งภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน เพราะมีทั้งท่าเรือ รถไฟ และสนามบิน จึงทำให้กลายเป็นศูนย์กลางในการรับและส่งสินค้าจาก 152 ท่าเรือ ใน 54 ประเทศทั่วโลก ด้วยข้อได้เปรียบทางด้านตำแหน่งที่ตั้ง และการมีคลองปานามาที่เป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก จึงทำให้ปานามาเอื้อต่อการค้าและการลงทุนต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง

 

หากพันมาดูเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข คิวบาคือประเทศที่มีความโดดเด่นอย่างมากประเทศหนึ่ง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คิวบาได้ทำการวิจัยและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ให้ผลเป็นที่น่าพอใจในช่วงการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เช่น วัคซีน Sobrerana 02, Abdala เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ผลิตวัคซีนในรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องฉีดเข้าเส้นเลือด แต่เป็นวัคซีนที่ให้ผ่านจมูก (nasal vaccine) ชื่อว่า Mambisa ซึ่งได้รับการจดทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นที่สองของการทดลองในห้องปฏิบัติ และคาดว่าขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนจะสิ้นสุดและพร้อมใช้งานภายในเดือนสิงหาคมนี้ รัฐบาลคิวบามั่นใจว่าจะสามารถเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่ให้วัคซีนกับประชากรทั่วทั้งประเทศได้สำเร็จ เนื่องจากคิวบาได้ใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีน ซึ่งทำให้วัคซีนนั้นสามารถเสริมภูมิคุ้มกันได้ในระยะยาว และให้ประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ คิวบายังให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่หลายประเทศทั่วโลก อาทิ อิตาลี ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และประเทศในภูมิภาคแอฟริกา

 

การสัมมนาดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยให้เห็นภาพรวม โอกาส และศักยภาพในการลงทุนรวมถึงการประกอบธุรกิจในลาตินอเมริกาและแคริเบียนที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังทำให้เห็นถึงความสำคัญที่ภูมิภาคแห่งนี้มีต่อไทย ซึ่งเน้นย้ำถึงความจริงที่ว่า “ระยะทางระหว่างเราไม่ใช่อุปสรรค” แม้แต่น้อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง